xs
xsm
sm
md
lg

“เยรูซาเลม” เมืองแห่งศรัทธา นครศักดิ์สิทธิ์ 3 ศาสนา บนพื้นที่ความขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นครศักดิ์สิทธิ์ “เยรูซาเลม” (ภาพโดย 696188 จาก Pixabay)
รู้จัก “เยรูซาเลม” นครศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนา ได้แก่ อิสลาม คริสต์ และยูดาห์ เมืองโบราณอายุกว่า 4,000 ปี ที่ผ่านทั้งการอยู่อาศัย การยึดครอง การทำลายล้าง และสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง และปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่กลางพื้นที่ของความขัดแย้ง

เมื่อการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้อีกครั้ง และเป็นการต่อสู้อีกครั้งที่มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสถานการณ์ในปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง

ข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี และนับแต่ยุคโบราณ ในพื้นที่แห่งนี้ผ่านการยึดครอง ความขัดแย้ง และสงครามมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังมีพื้นที่เล็กๆ อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางความขัดแย้ง เป็นเมืองสำคัญที่เต็มไปด้วยแรงศรัทธาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ “เยรูซาเลม”

(ภาพโดย IrinaUzv จาก Pixabay)
“เยรูซาเลม” เป็นมาอย่างไร
“เยรูซาเลม” ตั้งอยู่บนที่ราบสูงทางตอนใต้ของเทือกเขาจูเดียน ทางด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดกับทะเลเดดซี ด้านตะวันตกติดกับที่ราบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่อดีตกาลเมืองนี้เป็นที่กล่าวขานว่าเป็นเมืองที่พระเจ้าเลือกสรรไว้ และยังเป็นเมืองที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ต่อศาสนาคริสต์ อิสลาม และยิว

เมื่อราว 2,00 ปีก่อนคริสตกาล ชาวคานาอันซึ่งเป็นชาวอาหรับโบราณที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธ์หลักของชาวเซมิติกได้อพยพออกจากใจกลางคาบสมุทรอาหรับเข้ามาตั้งถิ่นฐานและสร้างชุมชนเมืองในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นเมืองเก่าของกรุงเยรูซาเลม

(ภาพจาก whc.unesco.org)
หลังจากนั้น เยรูซาเลมก็กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรอิสราเอลโบราณ ผ่านการปกครองโดยชาวยิว ก่อนจะถูกทำลายเมื่อชาวโรมันเข้ายึดครอง จากนั้นถูกเปลี่ยนให้เป็นเมืองของชาวคริสต์ในยุคไบเซนไทน์ ต่อมาเมืองนี้ก็ถูกชาวเปอร์เซียเข้ายึดครอง และสุดท้ายก็ตกไปอยู่ในการครอบครองของชาวอาหรับในที่สุด

มาถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เยรูซาเลมและพื้นที่โดยรอบตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี) โดยถูกตั้งชื่อใหม่ว่า “ปาเลสไตน์” และชาวอาหรับที่อยู่ในพื้นที่นั้นก็ถูกเรียกว่าเป็นชาวปาเลสไตน์ไปด้วย ส่วนชาวยิวที่เคยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ ก็อพยพย้ายถิ่น กระจัดกระจายไปทั้งในยุโรปและพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก

ชาวยิวที่อพยพไปอยู่ที่อื่นก็ตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และชาวยุโรป (โดยเฉพาะชาวคริสต์) นั้นไม่ต้อนรับ ชาวยิวบางกลุ่มจึงอยากเดินทางกลับมาอยู่ในดินแดนดั้งเดิมของตนเอง

กระทั่งถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษสัญญากับชาวยิวว่าหากช่วยรบจนชนะ จะยกดินแดนปาเลสไตน์ให้ ในขณะเดียวกัน อังกฤษก็ไปทำสัญญากับชาวปาเลสไตน์ (ชาวอาหรับ) ว่าหากช่วยรบ ก็จะคืนอิสระภาพให้ปาเลสไตน์ (เนื่องจากอาณาจักรออตโตมันในตะวันออกกลางอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ดินแดนปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษไปโดยปริยาย)

(ภาพโดย Nick115 จาก Pixabay)
และภายหลังจากอังกฤษเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวยิวจึงเริ่มอพยพกลับเข้าไปในพื้นที่ปาเลสไตน์ และเกิดความขัดแย้งกับชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่เดิม ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและปาเลสไตน์ยืดเยื้อยาวนานจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติจึงมีมติให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ดินแดนของชาวยิว ที่ต่อมาประกาศเอกราชและตั้งชื่อประเทศว่า “อิสราเอล” และอีกฝั่ง เป็นดินแดนของชาวปาเลสไตน์ (อาหรับ) โดยมีประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามคอยหนุนหลัง โดยมีนครเยรูซาเลมตั้งอยู่ตรงกลาง ให้ทั้งสองฝั่งครอบครองร่วมกัน

จากนั้น อิสราเอลและปาเลสไตน์มีการทำสงครามกันอีกหลายครั้ง อิสราเอลได้รับชัยชนะจนขยายพื้นที่ครอบครองดินแดนของปาเลสไตน์ไปอีกหลายส่วน จนปัจจุบัน ดินแดนปาเลสไตน์เหลือเพียงฉนวนกาซา เขตเวสต์แบงค์ และเยรูซาเลม ที่ยังเป็นข้อขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยต่างฝ่ายต่างยึดว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของตน

กำแพงร้องไห้ (ภาพโดย MaciejJaszczolt จาก Pixabay)
“เยรูซาเลม” เมืองแห่งศรัทธา นครศักดิ์สิทธิ์ 3 ศาสนา
เยรูซาเลมได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความเป็นมาอย่างยาวนาน และมีความเกี่ยวข้องกับ 3 ศาสนา ได้แก่ ยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม ซึ่งในพื้นที่เมืองเก่าเยรูซาเลม ขนาดไม่ถึง 1 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนทั้ง 3 ศาสนา

สำหรับ ชาวยิว นครเยรูซาเลมคือที่ตั้งของ “The Temple Mount” หรือ พระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวยิว ชาวยิวเชื่อว่า ตรงนี้คือที่ที่พระเจ้าทรงปรากฏพระองค์บ่อยครั้งยิ่งกว่าสถานที่ใด บางคนก็เชื่อว่า ตรงนี้คือที่ที่พระเจ้าใช้สร้างโลก คือเป็นจุดแรกที่กำเนิดโลก แล้วโลกค่อยๆ แผ่ขยายออกไป รวมทั้งเป็นที่ที่พระเจ้ารวบรวมดินมาสร้างเป็นมนุษย์คนแรก นั่นคือ อดัม อีกด้วย

นอกจากนี้ บริเวณนี้ยังเป็นสถานที่ที่อับราฮัมมาบูชายัญอิซอัค รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในพระคัมภีร์อีกหลายเหตุการณ์ ต่างก็เกิดขึ้นที่จุดนี้จุดเดียวทั้งนั้น ในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ กษัตริย์โซโลมอน คือผู้สร้างวิหารแรกขึ้นที่นี่ ต่อมาก็ถูกทำลายลงโดยพวกบาบิโลน จากนั้นจึงมีการสร้างวิหารที่ 2 ขึ้น แต่สุดท้ายก็ถูกทำลายลง เหลือเพียงซากกำแพงเก่า และเป็นที่มาของ “กำแพงร้องไห้” ที่อยู่ทางตะวันตก

มัสยิดอัลอักซอ (ภาพโดย Konevi จาก Pixabay)
ส่วน ศาสนาอิสลาม ในสมัยที่นบีมูฮัมหมัดยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เยรูซาเล็มคือเมืองแรกที่เป็นชุมทิศ (ทิศที่ชาวมุสลิมจะหันหน้าเข้าหาระหว่างการทำละหมาด) ในการทำละหมาดของชาวมุสลิมยุคนั้น ก่อนที่ในภายหลังจะเปลี่ยนมาเป็นเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

นอกจากนี้ ในพระคัมภีร์อัลกุรอาน เล่าถึงการเดินทางของนบีมุฮัมหมัดไปยัง The Farthest Mosque หรือมัสยิดที่อยู่ไกลที่สุด ซึ่งเชื่อกันว่าคือพื้นที่ที่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ใจกลางกรุงเยรูซาเลม หรือ Temple Mount ที่นี่ นบีมูฮัมหมัดได้เสด็จฯ ขึ้นสวรรค์ มีการสร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลามขึ้นที่บริเวณนี้ คือ Dome of the Rock ซึ่งสร้างขึ้นบนจุดที่เป็นวิหารที่สองของชาวยิวพอดี รวมถึงมัสยิดสำคัญ คือ มัสยิดอัลอักซอ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่สามของชาวมุสลิม รองจากเมืองเมกกะและเมืองเมดินา ในซาอุดิอาระเบีย

โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (ภาพโดย refaatnaiem จาก Pixabay)
ทางด้าน ศาสนาคริสต์ มีความเกี่ยวพันกับเยรูซาเลม เริ่มตั้งแต่ พระเยซู ในช่วงอายุ 12 ปี มาสนทนากับบรรดาอาจารย์ชาวยิวในพระวิหาร (คาดว่าเป็น Temple Mount) และหลังไปเผชิญการล่อลวงโดยปีศาจในทะเลทรายมาแล้ว พระเยซูก็เสด็จฯ เข้าเมืองเยรูซาเล็มอย่างยิ่งใหญ่ รวมถึงเป็นที่ที่ไปสวดภาวนาบนเนินมะกอก ถูกจับ ถูกพิพากษา แบกกางเขน และถูกตรึงกางเขนด้วย โดยจุดที่ชาวคริสต์ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ก็คือถนน Via Dolorosa ที่ทรงแบกกางเขน และ โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นบริเวณที่ถูกตรึงกางเขนและเป็นหลุมศพของพระเยซู

และในเขตเมืองเก่าเยรูซาเลมนี้ ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ปะปนกันใน 4 ย่าน ประกอบด้วย ย่านชาวอาร์เมเนีย (Armenian Quarter) ย่านชุมชนชาวยิว (Jewish Quarter) ย่านชาวคริสต์ (Christian Quarter) และ ย่านชาวมุสลิม (Muslim Quarter) ด้วยความที่เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง เมืองเก่าของเยรูซาเลมจึงถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี ค.ศ.1981 และยังเป็นหนึ่งในมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย จากการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ นั่นเอง

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น