หนึ่งในงานบุญใหญ่ของชาวพุทธที่มีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 คือ “ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง” งานบุญประเพณีของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือชาวไทย - รามัญ ซึ่งมีเอกลักษณ์ของงานด้วยการถวาย “น้ำผึ้งบริสุทธิ์” แด่พระภิกษุสงฆ์
จุดเริ่มต้นนั้นจากตำนานเล่าขานมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลว่า ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาแล้ว พระพลานามัยยังไม่ฟื้นคืนดังเดิม วันหนึ่ง นางสุชาดานำข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้ง) มาถวาย ก็ปรากฏว่าพระวรกายฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว มีพระปรีชาญาณจนตรัสรู้ได้ในที่สุด
ครั้งหนึ่งพระภิกษุเกิดอาพาธเป็นไข้อาเจียน ทำให้ร่างกายซูบผอม พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตสิ่งที่เป็นทั้งยา และอาหารให้พระภิกษุฉันได้ในยามวิกาล เพื่อบำรุงร่างกายให้ดำรงอยู่ต่อไป มีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย ส่วนประเพณีของชาวไทยนิยมถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ จึงเกิดเป็นประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง และถือเป็นการถวายเภสัชทาน
นอกจากนี้ ประเพณีเก่าแก่ยังมีความเชื่อในเรื่อง “โชคลาภกับความสมหวัง” โดยมีจุดเริ่มต้นซึ่งเชื่อมโยงจากพุทธประวัติ ว่าด้วย “พระสีวลี” พุทธสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็น “ภิกษุที่เลิศทางมีลาภ”
โดยในอดีตชาติหนึ่งนั้น พระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา ชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จึงจำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้น จึงแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้สอดส่องสังเกตหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ติดตัวมาบ้าง
พระสีวลีในภพชาตินั้น กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งระหว่างทาง ได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมือง คนดูต้นทางไม่รอช้า เข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา 1 กหาปณะ (4 บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่ เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อย ๆ จนสูงถึง 1,000 กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศในลาภยศในอนาคตด้วย
การถวายน้ำผึ้งของชาวมอญจึงเป็นความเชื่อที่มีผลพวงมาจากการที่ชาวมอญนั้นมีความเคารพ ศรัทธาในพระสีวลี จึงมีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งสืบทอดต่อกันมา การที่ชาวมอญได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น
ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ที่ถวายจะมีโชคมีลาภ เหมือนกับพระสีวลี หากไม่สมหวังในชาตินี้ ในชาติหน้านั้นก็คงจะได้อย่างแน่นอน
สำหรับการตักบาตรน้ำผึ้งในปัจจุบัน ก็เป็นการทำบุญในวันพระทั่วๆไป โดยชาวไทยเชื้อสายมอญจะนำเอาอาหารต่างๆมาถวายพระ แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้คือ “น้ำผึ้งบริสุทธิ์” โดยน้ำผึ้งที่นำมาตักบาตรจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค ตามความเชื่อที่ว่าการถวายน้ำผึ้งแด่พระสงฆ์นั้นจะได้อานิสงส์มาก โดยจะมีการตักบาตรถวายข้าวต้มมัดเป็นเครื่องเคียงด้วย
“ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง” มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคกลางที่มีชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ เช่น สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นนทบุรี เป็นต้น
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline