xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลกแห่งใหม่ เมืองเก่าทรงคุณค่าแห่งเพชรบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมืองโบราณศรีเทพ
เฮดังๆ กับมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย “เมืองโบราณศรีเทพ” ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แห่งที่ 7 ของไทย ชวนไปสำรวจเมืองเก่าแก่ทรงคุณค่าแห่ง จ.เพชรบูรณ์

เป็นกระแสฮือฮากันมาพักใหญ่ในเมืองไทย กับการลุ้นให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

ซึ่งในตอนนี้ คนไทยก็ได้เฮดังๆ กันแล้ว เนื่องจาก “เมืองโบราณศรีเทพ” ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

เมืองโบราณศรีเทพ

เมืองโบราณศรีเทพ
หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จัก “ศรีเทพ” หรืออาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อนี้จากข่าวการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ด้วยโอกาสนี้ เลยขอชวนไปสำรวจเมืองเก่าทรงคุณค่าแห่งนี้กัน

“ศรีเทพ” เมืองเก่าทรงคุณค่า
“ศรีเทพ” เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จากหลักฐานทางโบราณคดี และงานศิลปกรรมที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการรับอารยรรมจากภายนอก ทั้งจากอินเดีย เขมร และวัฒนธรรมทวารวดีแหล่งอื่นๆ จนเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เมืองโบราณศรีเทพ

โครงกระดูกที่ขุดพบ
ความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพคือ ผังเมืองมีลักษณะเป็นเมืองแฝด โดยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย – สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 9-12) เมืองในมีลักษณะเป็นรูปเกือบวงกลม มีการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่เมืองใน พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและพิธีกรรมการฝังศพในพื้นที่มาตั้งแต่ประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว โดยหลักฐานสำคัญที่พบได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูสุนัขเต็มโครงฝังร่วมกับกระดูกมนุษย์ ลูกปัดหินกึ่งมีค่า กำไลและแหวนสำริด เป็นต้น

ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรือในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี มีการขยายเมืองไปทางทิศตะวันออกอีกชั้นหนึ่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน (เมืองนอก) มีการพบประติมากรรมรูปแบบเฉพาะของ สกุลช่างศรีเทพ นอกจากนี้ยังมีการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ด้านทิศเหนือ คือ เขาคลังนอก ที่ไดรับอิทธิพลแนวคิดเรื่องมณฑลจักรวาลจากวัฒนธรรมอินเดีย รวมถึงมีการแกะสลักประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ ที่ถ้ำเขาถมอรัตน์

งานศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมร

งานศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมร
ต่อมาในสมัยวัฒนธรรมเขมร (พุทธศตวรรษที่ 16-18) เริ่มมีอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรเข้ามาในแถบภาคกลางของไทย ซึ่งที่เมืองโบราณศรีเทพก็พบงานศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมร เช่น ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง รวมถึงโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ชิ้นส่วนของโคนนทิ และทับหลังรูปอุมามเหศวร

ส่วนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา (สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน) เมืองโบราณศรีเทพได้หมดความสำคัญลงหลังการเกิดขึ้นของอาณาจักรสุโขทัย จากการศึกษานั้นไม่พบศิลปะหรือสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา รวมถึงพบว่าชั้นดินของเมืองโบราณศรีเทพถูกใช้งานในสมัยวัฒนธรรมเขมรเป็นชั้นสุดท้าย จึงแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้ถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18

โบราณสถานเขาคลังใน
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2447 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ และทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ และทรงสันนิษฐานว่าเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะชื่อว่า “เมืองศรีเทพ” ที่ปรากฏในเอกสารสมุดไทยดำสมัยรัชกาลที่ ๒ ว่าเป้นเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองชัยบาดาลกับเมืองเพชรบูรณ์

ในปี พ.ศ.2527 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการเพื่อจัดตั้งเมืองโบราณศรีเทพขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ จนกระทั่งได้รับการเสนอเพื่อขึ้นทะเบียน “รายชื่อบัญชีมรดกโลกเบื้องต้น” จากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2562 ก่อนที่จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ล่าสุดของไทย ในวันที่ 19 ก.ย. 2566

โบราณสถานเขาคลังใน

พลแบกที่เขาคลังใน

พลแบกเศียรรูปสัตว์
“เมืองโบราณศรีเทพ”
อยู่ทางตะวันออกของลำน้ำเหียง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำป่าสัก ห่างออกมาประมาณ 1.5 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาพังเหย ห่างออกมาประมาณ 3 กิโลเมตร

ภายในประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ “โบราณสถานเขาคลังใน” เป็นตัวอย่างของศาสนาสถานในพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ในวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 มีขนาดกว้าง 44 เมตร ยาว 88 เมตร สูง 12 เมตร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า และเป็นบันไดทางขึ้นไปที่ชั้นบน

ศิลปกรรมที่สำคัญของเขาคลังใน คือ งานประดับประติมากรรมพลแบกรูปคนแคระรอบฐานเขาคลังใน โดยพลแบกของเมืองศรีเทพมีลักษณะแตกต่างจากที่พบที่อื่น กล่าวคือ พลแบกไม่ได้มีเพียงเศียรคนเพียงอย่างเดียว ยังมีเศียรเป็นรูปสัตว์ เช่น สิงห์ ช้าง ลิง และควาย รวมถึงยังมีการแสดงสีหน้าที่แตกต่างกันออกไปด้วย

โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ

โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ

โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง
“โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ” เป็นโบราณสถานในศิลปะสมัยบาปวน – นครวัด ในวัฒนธรรมเขมร มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านหลังในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้องและทางเดินโบราณ ปรางค์ประธานเป็นปราสาทอิฐขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานไพทีที่ยกสูงจากระดับพื้นดินทั่วไป 1 เมตร ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลา หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สัมพันธ์กับที่ตั้งเขาถมอรัตน์

“โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง” ตั้งอยู่ในแนวแกนเดียวกับปรางค์ศรีเทพ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ ฐานเป็นศิลาแลง ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่กว่าปราสาททางด้านซ้าย ซึ่งที่ปราสาททางด้านซ้ายนั้นมีทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานสมัยทวารวดี ได้แก่ รูปสลักลอยตัวรูปพระสุริยะ 2 องค์ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะที่ได้รับมาจากเปอร์เซียในงานของช่างพื้นเมืองในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี

โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง

ทับหลังจำหลักรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี
“โบราณสถานเขาคลังนอก”
ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพไปทางทิศเหนือ ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่และมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี ตัวฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดขึ้นทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวารประจำทิศ 4 ด้าน ด้านละ 3 ชั้น

แผนผังลักษณะนี้เป็นแผนผังที่ได้รับอิทธิพลทั้งรูปแบบและแนวความคิดในเรื่องของมณฑลจักรวาล โดยมีเจดีย์ประธานเป็นเขาพระสุเมรุ หรือเป็นศูนย์กลางจักรวาล ส่วนเจดีย์บริวารที่ล้อมรอบแต่ละชั้นอาจมีที่มาจากเขาสัตตบริภัณฑ์ คือภูเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ จำนวน 7 ชั้น ซึ่งพบอยู่ในศิลปะอินเดีย ทั้งที่เป็นศาสนฮินดูและมหายาน ตัวอย่างเช่น ศาสนสถานในอินเดียภาใต้ หรือศาสนสถานมหายานในศิลปะชวาภาคกลาง เช่น บุโรพุทโธ

ด้านบนฐานชั้นที่ 2 เป็นลานประทักษิณมีร่องรอยหลุมเสา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหลังคาของระเบียงคดล้อมรอบเจดีย์ที่อยู่ตรงกลาง เจดีย์มีสภาพชำรุดมากจนไม่สามารถศึกษารูปแบบได้ ในตอนหลังมีการปิดบันไดทางขึ้น 3 ด้าน เหลือเพียงทางขึ้นด้านทิศตะวันตกเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญทางด้านทิศตะวันตกของเขาถมอรัตน์ที่อยู่ในแกนทิศเดียวกัน สัมพันธ์กับความเชื่อในแนวคิดของการนับถือภูเขาศักดิ์สิทธิ์

โบราณสถานเขาคลังนอก

โบราณสถานเขาคลังนอก

โบราณสถานเขาคลังนอก
“โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์”
ตั้งอยู่บนเขาถมอรัตน์ อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพ ในตำแหน่งแกนเดียวกันกับเขาคลังนอก ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นศาสนสถานประเภทถ้ำเพียงแห่งเดียวในสมัยทวารวดีที่สะท้อนให้เห็นคติความเชื่อการนับถือพุทธศาสนามหายาน

เขาถมอรัตน์มีลักษณะโดดเด่น เนื่องจากเป็นเขาโดด รายล้อมด้วยที่ราบเชิงเขา และมีศาสนสถานสำคัญอยู่บนยอดเขา คือ ถ้ำเขาถมอรัตน์ และจากการสำรวจพบว่าบริเวณยอดเขาน่าจะมีศาสนสถานตั้งอยู่ด้วย เนื่องจากมีการพบศิลาแลง จากการที่คนนำขึ้นมาก่อสร้าง แต่ปัจจุบันศาสนสถานถูกทำลายจนไม่เหลือสภาพสิ่งปลูกสร้างแล้ว และภายในถ้ำเขาถมอรัตน์ พบการสร้างประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ สถูป ธรรมจักร เป็นต้น

เขาถมอรัตน์

ประติมากรรมนูนต่ำที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ (ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)
นอกจากโบราณสถานสำคัญที่กล่าวไปแล้ว เมืองโบราณศรีเทพ ก็ยังมีโบราณสถานที่ผ่านการสำรวจ บูรณะขุดแต่งแล้วราวๆ 80 แห่ง ส่วนที่ยังไม่ได้ขุดแต่งบูรณะก็ยังมีอีกหลายสิบแห่ง เรียกได้ว่าที่นี่เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี สมกับการเป็นมรดกโลกของคนไทยทุกคน















#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline



กำลังโหลดความคิดเห็น