xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง “ตำมะลัง” คนบ้าพาเที่ยว ชมพระอาทิตย์ตก 2 ประเทศ ตื่นตาฝูงเหยี่ยว+อินทรี นับร้อยบินว่อนอวดโฉม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


อะเมซิ่งตำมะลัง ตื่นตาฝูงเหยี่ยว+อินทรี บินอวดโฉมนับร้อยตัว
พูดถึงการท่องเที่ยวในจังหวัด “สตูล” ใครหลายๆ คน มักจะมองข้ามบนแผ่นดินใหญ่พุ่งเป้าไปยัง “ทะเลสตูล” ที่นำโดยเกาะหลีเป๊ะ และหมู่เกาะตะรุเตา

อย่างไรก็ดีหากใครลองเปิดใจหรือลองเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวบนฝั่งแผ่นดินใหญ่ในจังหวัดสตูล ก็จะพบว่า “เมืองกระท้อน”**แห่งนี้มีดีอยู่หลากหลาย โดยเฉพาะดีกรีการเป็น “อุทยานธรณีโลก” แห่งแรกของเมืองไทยที่บอกเลยว่า “ไม่ธรรมดา!”

จุดถ่ายรูปอินทรี นกที่มีวิถีผูกพันกับชุมชนตำมะลัง
นอกจากนี้สตูลยังมีแหล่งท่องเที่ยวชวนว้าวอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นก็คือ “ชุมชนตำมะลัง” ที่จะพาเราตื่นตะลึงไปกับไฮไลท์ของเหล่าบรรดา “อินทรีผงาดฟ้า” และ ฝูง “เหยี่ยวถลาลม” จำนวนมาก ชนิดที่บางวันพวกมันพร้อมใจบินมาอวดโฉมกันนับร้อยตัวเลยทีเดียว

ตำมะลังชื่อนี้ได้แต่ใดมา


ตำมะลัง” ชื่อนี้มาจากภาษามลายู แปลว่า “ผูกอินทรี” ที่มีตำนานเล่าขานว่า ในอดีตบริเวณอ่าวทางตอนใต้สุดของทะเลไทยฝั่งอันดามัน (ปัจจุบันคืออ่าวตำมะลัง) เป็นที่ตั้งของกลุ่มบ้านเล็ก ๆ อยู่กันไม่กี่หลัง

แสงสุดท้ายเหนืออ่าวตำมะลัง
ต่อมาเมื่อมีการแลกเปลี่ยนค้าขาย ชาวอินโดนีเซียที่เดินทางมาค้าขาย-พักแรมบนเกาะแห่งหนึ่งในแถบนี้ ได้พบเห็น “นกอินทรี” ถูกผูกติดกับต้นไม้บนเกาะ จึงเรียกขานอ่าวบริเวณนี้ว่า “อ่าวตำมะลัง” ตามที่เห็นนกอินทรีถูกผูกไว้ (อ้างอิงจากหนังสือ “ร้อยเรื่องราว...อ่าวตำมะลัง : วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น” ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

หลังจากนั้นเมื่อมีผู้คนมาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น จึงตั้งเป็นชุมชน พร้อมใช้ชื่อตำมะลังเรียกขานทั้งชุมชน หมู่บ้าน ตำบล คลอง เกาะ และ “อ่าวตำมะลัง” ที่ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุม 4 ตำบลในเขตอำเภอเมืองสตูล ได้แก่ ตำบลพิมาน ตำบลคลองขุด ตำบลตำมะลัง และตำบลปูยู

ท่าเรือตำมะลัง ประตูเชื่อมสตูล-ลังกาวี
อ่าวตำมะลังนอกจากจะมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของชุมชนในบริเวณนี้แล้ว ยังมี “ท่าเรือตำมะลัง” เป็นอีกหนึ่งประตูสู่มาเลเซียในเส้นทางสตูล-ลังกาวี แต่ว่านักท่องเที่ยวมักจะเลยผ่านไป-ผ่านมา ไม่ได้แวะกระจายรายได้ อาจจะมีบ้างที่แวะซื้อของหรือแวะ “เข้าห้องน้ำ” กับค่าบริการไม่กี่บาท

คนบ้าพาเที่ยว


นาย “สุรินทร์ หลงกูนัน” หรือ “บังรองนกอินทรี” ประธานท่องเที่ยวชุมชนตำมะลัง เล่าว่า ตำมะลังเป็นชุมชนหน้าด่านจากสตูลไปลังกาวี มีจุดเด่นคือ ป่าชายเลน มีนก เหยี่ยว อินทรี มีอาหารทะเลสด ๆ เลยคิดว่าทำอย่างไรจะให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย ที่ผ่านไป-ผ่านมา แวะเที่ยวชุมชนตำมะลังบ้าง เพื่อกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน นั่นจึงทำให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนตำมะลังขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว

นายสุรินทร์ หลงกูนัน หรือ “บังรองนกอินทรี” ประธานท่องเที่ยวชุมชนตำมะลัง
“ช่วงที่เริ่มทำท่องเที่ยวใหม่ ๆ ถูกคนว่า ‘เป็นคนบ้า สติไม่ดี’ ใครจะมาดูมาเที่ยว เพราะชาวบ้านแถวนี้เห็นวิถีที่นี่เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เป็นกำลังใจชั้นดีคือเสียงชื่นชมและเสียงตอบรับในความประทับใจจากนักท่องเที่ยว ทำให้ทางกลุ่มมีแรงฮึดที่จะท่องเที่ยวชุมชนต่อมาจนถึงปัจจุบัน” บังรองฯ เล่า

ปัจจุบันการท่องเที่ยวชุมชนตำมะลังหรือชุมชนบ้านสุไหงตำมะลัง มีไฮไลท์คือกิจกรรม “ล่องเรือชมนกอินทรี กินซีฟู้ด” ที่ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” ได้เข้ามาร่วมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น

อินทรีผงาดฟ้า-เหยี่ยวถลาลม
สำหรับจุดลงเรือเที่ยวนั้นอยู่บริเวณ ท่าเรือข้ามฟากข้ามคลองตำมะลัง (จากฝั่งแผ่นดินใหญ่ไปเกาะตำมะลัง) ที่มีรูปนกอินทรีตั้งประดับอยู่ริมคลองให้ได้ถ่ายรูปเช็คอินกัน ซึ่งทริปนี้คณะเราได้บังรองนกอินทรี ชายที่ถูกปรามาสว่า “เป็นคนบ้า สติไม่ดี” เป็นไกด์นำเที่ยวแบบออกรสออกชาติ

อินทรีผงาดฟ้า-เหยี่ยวถลาลม


บังรองฯ ให้ข้อมูลว่า นกสายพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนตำมะลัง มี 4 ชนิด คือ เหยี่ยวแดง เหยี่ยวดำ อินทรีภูเขา และอินทรีทะเลหรือนกออกหรือนกผี ที่บังรองยกให้เป็นกำนันนกอินทรี (ไม่ใช่กำนันนก) ซึ่งถือเป็นผู้นำของบรรดานกทั้ง 4 ชนิด

เหยี่ยวแดงถลาลม
“สมัยก่อนคนที่นี่จะเลี้ยงนกอินทรีไว้ช่วยหาปลา โดยจะนำนกอินทรีออกหาปลาไปด้วยกัน เมื่อเรือออกสู่ทะเล จะปล่อยนกอินทรีให้บินขึ้นฟ้า นกอินทรีจะมองเห็นว่าบริเวณไหนมีปลา แล้วพวกมันจะบินโฉบลงมาจับปลากิน ทำให้ชาวประมงรู้ว่าบริเวณนั้นมีปลาชุม ก็จะนำเรือเข้าไปจับปลาบริเวณนั้น”

บังรองเล่าถึงภูมิปัญญาในการจับปลาของชาวบ้านที่นี่ที่ผูกพันกับนกอินทรีอันนำมาสู่ชื่อตำมะลังตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งวันนี้การเลี้ยงนกอินทรีเพื่อใช้หาปลาของคนที่นี่ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะมันถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการหาแหล่งปลาอันทันสมัย ที่สามารถออกหาปลาได้ทั้งกลางวันกลางคืน ส่วนกลางนำนกอินทรีออกหาปลาจะใช้ได้เฉพาะในช่วงกลางวันตามแสงแดดจากธรรมชาติเท่านั้น

นักท่องเที่ยวเซลฟี่กับเหยี่ยว-อินทรีที่บินว่อนนับร้อย
นกต่าง ๆ ที่ตำมะลังจะอาศัยอยู่บนต้นไม้และในป่าชายเลน เมื่อเรือล่องมาถึงจุดที่เหมาะสม บังรองจะเป่านกหวีด ปรี๊ดดดดดด...ยาว ๆ (หลายปรี๊ด) เป็นสัญญาณเรียกนกให้มากินอาหารที่เตรียมไว้ สักพักไม่นาน จะเริ่มมีเหยี่ยว-อินทรี มาบินวนใกล้ ๆ เรือ เริ่มจากไม่กี่ตัวค่อยเพิ่มเป็นหลายสิบตัว และบางวันมากันเป็นร้อยตัวเลยทีเดียว

จากนั้นจะเป็นมหกรรมโชว์ อินทรีผงาดฟ้า-เหยี่ยวถลาลม นับร้อยที่พร้อมใจกันบินว่อนอวดโฉม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหยี่ยวส่วนนกอินทรีจะมีบินร่วมผสมอยู่ไม่กี่คู่ ท่ามกลางฉากหลังเป็นวิวทิวทัศน์ของ 2 ประเทศ คือไทยและมาเลเซีย สร้างความน่าทึ่งให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก

สะพานแห่งการรอคอย

แนวเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวเหนือทะเลอ่าวตำมะลัง
จากจุดลงเรือ (ท่าเรือข้ามฟาก) เรือจะล่องจากคลองตำมะลังไปออกปากอ่าวตำมะลังแล้วล่องกลับ พร้อมกับการรับประท่านอาหารทะเลสด ๆ ใหม่ ๆ บนเรือที่จัดเต็มทั้ง กุ้ง กั้ง ปู ปลา

ขณะที่ระหว่างทางนอกจากไฮไลท์โชว์นกนับร้อยที่ไม่นกแล้ว เราจะได้พบกับสภาพธรรมชาติและวิถีเก่า-ใหม่ ของชุมชนชาวตำมะลัง ไม่ว่าจะเป็น ป่าชายเลนผืนใหญ่ แนว “เทือกเขาสันกาลาคีรี” ที่ทอดตัวตระหง่านเป็นพรมแดนไทย-มาเลเซียยาวจากสตูลไปจนถึงนราธิวาส บ้านเรือนชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน กับเรือพื้นบ้านที่จอดเรียงราย มัสยิดโบราณอายุนับร้อยปีที่สรางจากไม้ทั้งหลัง ประติมากรรมปูก้ามดาบที่ท่าเรือตำมะลัง เป็นต้น

สะพานข้ามคลองตำมะลังที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
นอกจากนี้ก็ยังมี “สะพานข้ามคลองตำมะลัง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “สะพานแห่งการรอคอย” เพราะคนที่นี่รอคอยมายาวนานจนเสียชีวิตไป 2-3 รุ่นแล้ว กระทั่งเมื่อฟ้ามาโปรดจึงมีการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นมา

สะพานข้ามคลองตำมะลัง เป็นโครงการที่ได้รับพระราชทานพระราชานุมัติจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่วันนี้ (ก.ย. 66) อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2567

ชุมชนริมคลองตำมะลัง
โครงการสะพานข้ามคลองตำมะลังเมื่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนเกาะตำมะลังและประชาชนทั่วไป ให้สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างเกาะตำมะลังและแผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัย สามารถประหยัดเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาลเมื่อมีผู้ป่วย มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีการอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงในพื้นที่ รวมถึงเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลอีกด้วย

พระอาทิตย์ตก 2 ประเทศ

พระอาทิตย์ตกทะเล 2 ประเทศไทย-มาเลเซีย
สำหรับใครที่มาล่องเรือเที่ยวชุมชนตำมะลังในช่วงเย็น ยังมีโอกาสได้สัมผัสกับอีกหนึ่งไฮไลท์ของที่นี่ นั่นก็คือ บรรยากาศพระอาทิตย์ตก 2 ประเทศไทย-มาเลเซีย

โดยเมื่อเรือล่องมาถึงที่ปากอ่าวตำมะลัง เราสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกลงทะเลทั้งในฝั่งประเทศไทยคือเกาะตะรุเตา และฝั่งมาเลเซียคือเกาะลังกาวี ซึ่งมุมมอง ฉาก และทิวทัศน์ต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปตามทิศทางของเรือที่ปรับเปลี่ยนไป

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนตำมะลัง ที่เดิมเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่ถูกมองว่า “บ้า สติไม่ดี” แต่เมื่อพวกเขาไม่ย่นย่อท้อ ต่อสู้กับคำปรามาส ฟันฝ่าอุปสรรคมาจนทำให้ชุมชนตำมะลังมีวันนี้ ที่กรมการท่องเที่ยว คัดสรรให้ติดอันดับ 1 ใน 50 แห่ง มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในระดับดีเยี่ยม ถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายอันโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสตูล ซึ่งหากใครได้มาเจอกับมหกรรม “อินทรีผงาดฟ้า-เหยี่ยวถลาลม” บินว่อนนับร้อยตัวก็จะต้องคารวะในความน่าทึ่งของที่นี่

กิจกรรมล่องเรือชมนกอินทรี กินซีฟู้ด
#####################################

ชุมชนท่องเที่ยวตำมะลัง ตั้งอยู่บริเวณอ่าวตำมะลัง
อ.เมือง จ.สตูล สำหรับทริปท่องเที่ยวชุมชนตำมะลัง ล่องเรือชมนกอินทรี กินซีฟู้ด ใช้เวลาประมาณ 1.30-2 ชั่วโมงครึ่ง แบ่งเป็นรอบเที่ยง เวลาขึ้นเรือช่วง 11.30 น. และรอบเย็น เวลาขึ้นเรือช่วง 16.30- 17.00 น. คิดค่าใช้จ่ายคนละ 600 บาท (อย่างต่ำ 10 คน) ราคานี้จะมีบริการอาหารซีฟู้ด ผลไม้บนเรือ และเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) หรือถ้าไม่รับประทานอาหาร ล่องชมนกอย่างเดียว คิดอัตราค่าบริการคนละ 250 บาท มีขนมพื้นเมืองให้บริการ



ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนสุไหงตำมะลัง โทร.08-0242-6632 และสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลเชื่อมโยงกับชุมชนตำมะลังได้ที่ ททท. สำนักงานสตูล โทร. 06 2595 7748


**คำว่า “สตูล” มาจากคำภาษามาลายูว่า “สโตย” แปลว่ากระท้อน อันเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่เมืองนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น