xs
xsm
sm
md
lg

สวธ.ชี้แจง “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” คัดจากเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย หากินได้ยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวธ. เคลียร์!! ดราม่า 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น หลังคนท้องถิ่นไม่รู้จักออกมาแสดงความเห็นกันหลากหลาย โดยย้ำว่า เมนูที่ได้รับเลือกไม่ใช่การคัดจากอาหารประจำถิ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี แต่เป็นการค้นหา “รสชาติที่หายไป”


แกงส้มญวน (ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี)
หลังจากทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) "รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste" พร้อมทั้งเปิด 77 เมนูอาหารอร่อย ทั่วไทย จนกลายเป็นกระแสดราม่า "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ซึ่งอาหารบางชนิด บางจังหวัด ประชาชนในท้องถิ่นเองอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่เคยพบเห็นหรือสัมผัสมาก่อน

แกงมัสมั่นกล้วยไข่ (ภาพ: ประชาสัมพันธ์จังหวัดกำแพงเพชร)
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ชี้แจงถึงประเด็นดราม่าอาหารประจำถิ่น ว่า เพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้อยู่คู่กับอาหารไทย และคู่บ้านคู่เมืองของไทย โดยรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก มายกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์เป็นอาหารประจำจังหวัด

อีกทั้งจัดทำเป็นสำรับอาหารประจำภาคทั้ง 4 ภาค เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้ และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารถิ่น ทั้งคาวและหวาน ซึ่งมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ สมุนไพร ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับและประวัติความเป็นมา เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหาร โดยต่อยอดจากวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรชุมชน ซึ่งการประกาศเมนูอาหารทั้ง 77 รายการ และอาหารบางชนิดคนในท้องถิ่นอาจไม่รู้จัก

อาจาดหู (ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพังงา)
แต่ถึงกระนั้น นี่คือสิ่งที่ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การค้นหาเมนู “รสชาติ…ที่หายไป” อยากฟื้นกลับมา เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ถือเป็นการปลุกกระแสทำให้คนในท้องถิ่นหันมาสนใจ และสร้างความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดนั้น ๆ

สวธ. ย้ำ การหยิบยกเมนูที่คนท้องถิ่นหรือคนในพื้นที่นั้น ๆ ไม่รู้จักขึ้นมา เป็นวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการทำให้คนรุ่นใหม่ได้พบกับ “รสชาติที่หายไป” หมายความว่า เมนูประจำถิ่นของแต่ละจังหวัดอาจไม่ได้มีชื่อเสียงในปัจจุบัน แต่เป็นการขุดคุ้ยเมนูที่เคยมีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ในอดีต ให้กลับมาเป็นเมนูเชิดชูถิ่นได้ในปัจจุบันนั่นเอง

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น