“คุกมีไว้ขังคนจน”
วาจาอมตะประโยคนี้ฮอตฮิตขึ้นมาบนโลกโซเชียลอีกครั้งหนึ่ง จากกรณีของนักโทษ VVIP หรือ “นักโทษเทวดา” นายหนึ่งที่วันนี้กำลังเป็นประเด็นให้คนก่นด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง
อย่างไรก็ดีสำหรับ “คุก” เมืองไทย นั้นมีอะไรมากกว่าการเอาไว้ขังคนจน ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าไปเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของคุกได้ที่ “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” บริเวณริมแม่น้าเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นนทบุรีซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้พัฒนามาจากการจัดแสดงครั้งแรกดั้งเดิม ในปี พ.ศ.2482 ที่ “เรือนจำกลางบางขวาง” จ.นนทบุรี ซึ่งนายพันตำรวจโท “ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร)” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ในยุคนั้น) ได้ริเริ่มรวบรวมวัตถุที่เกี่ยวกับการลงโทษและโบราณวัตถุทรงคุณค่าหายากจากเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว มาเก็บรวมรวมไว้ที่เรือนจำกลางบางขวาง (ครั้งแรกมีโบราณวัตถุ 41 ชิ้น) แล้วจัดแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของด้านการราชทัณฑ์ของไทย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2514 กรมราชทัณฑ์ได้ทำการขนย้ายวัตถุสิ่งของจากเรือนจำกลางบางขวางมาจัดแสดงในนาม “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” ณ ที่ทำการชั้นล่างของศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ (อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์ในปัจจุบัน) พร้อมเปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมในปี พ.ศ. 2515
ภายในพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ (เดิม) มีโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่รวบรวม (เพิ่มเติม) จำนวน 334 รายการ อาทิ อุปกรณ์การประหารชีวิตด้วยดาบ การประหารชีวิตด้วยปืนเครื่องมือจารีตนครบาล ภาพวาดสีน้ำมันเกี่ยวกับโทษทวะดึงษ์กรรมกรณ์ (การลงโทษ 32 ประการ) หุ่นรูปปั้น อาวุธปืนโบราณ ภาพถ่ายการประหารชีวิต สิ่งของต้องห้าม และเครื่องมือในการกระทำผิด หรือสิ่งของที่ผู้ต้องขังลักลอบนำเข้าเรือนจำ เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจัดแสดงภายในสวนรมณีนาถ ด้านถนนมหาไชย เขตพระนคร ซึ่งเคยเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเดิม หรือ คุกใหม่ ก่อนจะปิดตัวลงเมื่อปี พ.ศ. 2558 เนื่องจากมีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดให้บริการ “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ได้เคลื่อนย้ายวัตถุจัดแสดงมายังกรมราชทัณฑ์ และทำการปรับปรุงอาคารใหม่ 3 หลัง บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นนทบุรี อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ (แห่งใหม่)
พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวร่วมสมัย ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด “การลงทัณฑ์...กับกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน” ซึ่งจะถ่ายทอดบอกเล่าวิวัฒนาการของการราชทัณฑ์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สะท้อนแนวคิดมุมมองต่อปรัชญาการลงโทษที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของยุคสมัย
พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ มีส่วนจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 อาคาร ได้แก่
-อาคาร 1 ชั้น 1 บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของทุกเรื่องราว เป็นห้องแห่งคำถาม “คุก...มีไว้ทำไม” ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ภายใต้แนวคิด “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ...พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้”
นอกจากนี้ในส่วนยังได้แสดงเรื่องราวด้านการราชทัณฑ์ของจังหวัดนนทบุรี โดยเฉพาะบทบาทของกรมราชทัณฑ์และผู้ต้องขังในการก่อสร้างถนนสายสำคัญของจังหวัด
-อาคาร 2 ชั้น 1 จัดแสดงการลงทัณฑ์สมัยโบราณ ที่มุ่งเน้นการลงโทษด้วยเครื่องลงทัณฑ์ด้วยวิธีการรุนแรงให้เข็ดหลาบ หวาดกลัว รวมถึงการลงทัณฑ์แบบจารีต อาทิ เครื่องพันธนาการแบบโบราณ อุปกรณ์เครื่องมือลงทัณฑ์จองจำ การประหารชีวิตด้วยดาบ การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า และการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ เป็นต้น
ส่วน อาคาร 2 ชั้น 2 จัดแสดงพระหัตถเลขา ในหมายปล่อยตัวนักโทษ ในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖, จำลองการใช้ชีวิตประจำวัน,โรงครัว, โรงเลี้ยง, โรงฝึกวิชาชีพ, ห้องทำงานพะทำมะรง, ห้องนอน, ห้องขังและห้องพยาบาล เป็นต้น รวมถึงมีการจัดแสดง เครื่องหมาย-เครื่องแบบข้าราชการราชทัณฑ์ในยุคต่าง ๆ และโครงการในพระราชดำริฯ ยุคปัจจุบัน อาทิ โครงการราชทัณฑ์ ปันสุข,โครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์, โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญาและโครงการกาลังใจ เป็นต้น
-อาคาร 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีการจัดแสดงการราชทัณฑ์ในยุคปัจจุบัน ที่เปลี่ยนจากการลงทัณฑ์ด้วยเครื่องลงโทษต่าง ๆ ในอดีตที่ดูทารุณ สู่การแก้ไขพัฒนาและการให้โอกาสกลับคืนสู่สังคม
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขังในศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ “หับเผย ...ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” นิทรรศการเรือนจำท่องเที่ยว, นิทรรศการด้านอาหารและเครื่องดื่มจากฝีมือผู้ต้องขัง การแสดงความสามารถและทักษะพิเศษของผู้ต้องขังด้านนาฎศิลป์ ดนตรี ศิลปะ รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์ ตลอดจนการจัดนิทรรศการหมุนเวียนตามเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น
และนี่ก็คือเรื่องราวน่าสนใจของคุก-เรือนจำ และการราชทัณฑ์ไทยนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายคน ๆ เมื่อมีโอกาสได้มาท่องเที่ยวเรียนรู้ ที่ “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” จ.นนทบุรี ก็จะคลายความสงสัยว่า “คุก...มีไว้ทำไม?” แล้วคุกบ้านเราก็ไม่ได้มีไว้ขัง (เฉพาะ) คนจน อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดแต่อย่างใด???
แต่สำหรับใครบางคนที่ทำผิดปรากฏหลักฐานชัดเจนแต่ยังรอดพ้นจากการโทษทัณฑ์การจองจำ งานนี้ยังไงก็หนีไม่พ้นการการลงทัณฑ์จากฎแห่งกรรมอยู่ดี
######################
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” สามารถเข้าชมได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.00--17.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2967-2222 หรือเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์