สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของไทยที่กำลังเป็นกระแสกล่าวถึงมากที่สุดช่วงเวลานี้ ต้องยกให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” อาณาจักรเก่าแก่กว่าพันปี ที่ขยับเข้าใกล้สถานะ “มรดกโลก” แห่งใหม่ของไทยมากที่สุด
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยเสนอ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” หรือ เมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ต่อองค์การยูเนสโก เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกต่อไป ซึ่งเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ กำลังจะได้รับการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10 - 25 ก.ย.นี้ ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ที่มา “เมืองโบราณศรีเทพ”
เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)
ที่มาของชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า “เมืองอภัยสาลี” จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ทรงตั้งพระทัยจะสืบค้นหาเมืองศรีเทพที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ และได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกของภูเขาถมอรัตน์ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้นมีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า เมืองศรีเทพ
กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำรวจพบว่าเมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ หรือ ไพศาลี เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 นับจากนั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2527 เมืองโบราณศรีเทพได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์
ลักษณะทางกายภาพ
เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองในและเมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่
เมืองใน ผังเมืองค่อนข้างกลม มีพื้นที่ประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร (1,300 ไร่) ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18) ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง
เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 2.83 ตารางกิโลเมตร (1,589 ไร่) ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมืองสำรวจพบโบราณสถาน จำนวน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก
นอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณยังมีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานปรางค์ฤๅษี กลุ่มโบราณสถานเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ ซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยบริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ ต่อมาในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14
ศูนย์กลางการค้าและวัฒนธรรมในอดีต
เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้งอันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาค ที่มีพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ
ก่อตัวขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักเมื่อ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว อันเป็นความชาญฉลาดของมนุษย์ในการเลือกที่ตั้งของชุมชนขึ้นในพื้นที่ที่สามารถควบคุมเส้นทางธรรมชาติที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างดินแดนด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มภาคกลางกับดินแดนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในเส้นทางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านโลหะกรรมที่สำคัญของประเทศไทยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและพัฒนาขึ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานีและเส้นทางการค้าทางทะเล ทำให้มีบทบาทสำคัญในการรับและส่งผ่านวัฒนธรรมไปยังเมืองโบราณร่วมสมัยเดียวกันในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
เมืองโบราณแห่งนี้ยังเป็นเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่น ในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทย แสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งเทวรูปรุ่นเก่าที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพ ได้แก่ พระนารายณ์หรือพระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก พระกฤษณะโควรรรธนะ เป็นประติมากรรมลอยตัวที่มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย แสดงอาการเคลื่อนไหว จากลักษณะดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถชั้นสูงของช่างฝีมือ มีเอกลักษณ์ความงามและความลงตัว ซึ่งรู้จักกันในนามสกุลช่างศรีเทพ
งานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมของเมืองโบราณศรีเทพทั้งในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีและช่วงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 11-18) ส่งผ่านคติความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในสมัยต่อมา
อาณาจักรที่หายสาบสูญ
เมืองโบราณศรีเทพเจริญรุ่งเรืองอยู่ราว 700 ปี จึงค่อยๆ ลดความสำคัญลงไปเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ในห้วงเวลาเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรเขมร พร้อมกับการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สุโขทัย และในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เมืองโบราณศรีเทพลดบทบาทความสำคัญลง จนกระทั่งถูกทิ้งร้างในที่สุด
ด้วยคุณค่าความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพที่มีการพัฒนาขึ้นมาจากชุมชนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก เมื่อประมาณ 1,700-1,500 ปีมาแล้ว (พุทธศตวรรษที่ 8-10) เมื่อได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกโดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมเขมรโบราณจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18) ลำดับพัฒนาการในแต่ละช่วงสมัยของเมืองโบราณศรีเทพแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในของประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนหรือเมืองโบราณภายใน (Hinterland) ที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม มีการเลือกสรรพื้นที่ตั้งของชุมชนหรือเมืองที่สามารถควบคุมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือเส้นทางการค้าสมัยโบราณระหว่างพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้อาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วยจึงกล่าวได้ว่าชัยภูมิที่ตั้งของเมืองเป็นจุดสำคัญในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการค้าของชุมชนบริเวณใกล้เคียงและภายนอกภูมิภาคมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนและดำรงสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรมศิลปากรตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปี 2562
นอกจากนี้ ททท.ยังจัดงาน “THE MAGICAL SI THEP to World Heritage” มหัศจรรย์แสงสี ณ ศรีเทพ สู่มรดกโลกกระตุ้นเดินทางพร้อมเสริมแรงหนุน “ศรีเทพ” สู่มรดกโลก ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 3 กันยายน 2566 16.00 – 21.00 น. ณ เขาคลังนอก โดยรอบการแสดงไฮไลท์จัดขึ้น 3 รอบ/วัน
ประกอบด้วย กิจกรรม Hi Light เป็นการเล่าขานตำนานศรีเทพจากความเชื่อสู่ความศรัทธาของผู้คนในแถบลุ่มน้ำป่าสัก จนก่อเกิดเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมและศิลปะวัฒนธรรมที่มีคุณค่า โดยนำเสนอผ่านจอ LED ผสมผสานเทคนิคด้วยการใช้ระบบ Synchronize Lighting เชื่อมการแสดงจากจุดฉายภาพ สู่จุดการแสดงแสง จำนวน 7 จุด รวมทั้งมีการแสดงทางวัฒนธรรม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่น
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีมรดกโลกทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม รับรองโดยองค์การยูเนสโก ทั้งสิ้น 6 แห่ง
มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี
มรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ผืนป่าแก่งกระจาน
#######################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline