xs
xsm
sm
md
lg

อาลัย “น้องตุลา” พลังงานความสุขของคนไทย ที่ลาลับกลับดาวช้าง กับเรื่องราวแห่งความทรงจำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ทุกเรื่องราวของ “ตุลา” จะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ถึงตุลา...

หนึ่งชีวิตที่จากไปไกลแสนไกล แต่ความทรงจำจะทำให้เราอยู่ใกล้กันตลอดไป ด้วยหัวใจที่ผูกพัน ขอบคุณทีมเจ้าหน้าที่ และคนที่รักตุลา ที่ทำให้รู้ว่าชีวิตของสัตว์ป่า มีคุณค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติ “เพราะเขามีชีวิตและจิตใจ”


นี่คือคำกล่าวอาลัยที่ทางผู้เกี่ยวข้อง โพสต์ลงใน Tik Tok และ เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อการจากไปของช้างน้อย “ตุลา” หรือ “พลายตุลา” ที่ได้เดินทางกลับสู่ดาวช้างไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของบ้านเรา

ตุลา ลาลับกลับดาวช้าง


R.I.P. น้องตุลา ลาลับกลับดาวช้าง (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ทั้งนี้หลังน้องตุลาเสียชีวิต ทางเพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยสาเหตุการตายเบื้องต้นของช้างน้อยตุลา โดยระบุว่า

14 สิงหาคม 2566 นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 เปิดเผยจากรายงานการดูแลช้างป่าตุลาว่า นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒน์ ระบุว่า วานนี้ (13 สิงหาคม 2566 ) เวลา 04.00 น.สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เข้าช่วยเหลือลูกช้างป่าในการพยุงตัวลุกยืน โดยก่อนหน้านี้สัตวแพทย์ตรวจพบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) มีอาการป่วยด้วยภาวะโรคกระดูกบาง (metabolic bone disease) จากนั้นสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาโรคกระดูกบางรวมถึงเฝ้าระวังและติดตามอาการการใช้ขาของลูกช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง

ส่งน้องตุลากลับคืนสู่ดาวช้าง (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ต่อมาพบว่า ลูกช้างป่า (ตุลา) ไม่สามารถลุกยืนได้หลังจากการนอนของคืนวันที่ 13 ส.ค. เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยการใช้เครนยกตัวเข้าช่วยพยุงตัวให้ยืนขึ้น จากนั้นสัตวแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายพบว่า ขาหน้าทั้ง 2 ข้างมีอาการอ่อนแรง บวม ข้อเท้าขาหน้าทั้งสองมีการงอ ไม่ขยับเดิน จึงได้ทำการให้ยาลดปวด ลดอักเสบ และพันขาลดการปวดการอักเสบ โดยตลอดทั้งวัน พบว่าลูกช้างป่า ไม่สามารถใช้ขาช่วยพยุงตัวให้ยืนขึ้นได้ จึงได้ทำการให้นอนพัก และให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

กระทั่งเวลา 18.00 น.ของวันเดียวกัน พบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) เริ่มมีอาการหายใจช้าลง ลิ้นเริ่มมีสีซีด และมีภาวะหัวใจหยุดเต้น สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน ด้วยการทำ CPR เพื่อกระตุ้นการหาย แต่พบลูกช้างป่า ไม่มีการตอบสนอง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา


ฟิล์ม เอกซเรย์อาการบาดเจ็บขาหน้าของน้องตุลา (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นเกิดการภาวะบาดเจ็บรุนแรงของกระดูกต้นขาหน้าทั้ง 2 ขา หัก (Humerus fracture) ทำให้เกิดการช็อกตามมา (Pain shock) โดยหลังจากนี้สัตวแพทย์จะทำการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางปฏิบัติการเพื่อยืนยันถึงสาเหตุการเสียชีวิต

รำลึกตุลาด้วยอาลัยรัก


วันนี้แม้น้องตุลาจะลาลับกลับดาวช้างไป แต่เรื่องราวความน่ารักแสนวนของช้างน้อยตัวนี้ยังคงอยู่ในใจของใครหลาย ๆ ดังนั้นเราจึงขอรำลึกถึง ซุปตาร์ช้างน้อยแห่งเขาสอยดาวตัวนี้กันอีกครั้งหนึ่ง

อาการบาดเจ็บที่ขาหน้าของน้องตุลา (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
“ตุลา” หรือ “น้องตุลา” หรือ “พลายตุลา” (ตั้งชื่อตามเดือนที่ได้พบน้อง) เป็นลูกช้างป่าเพศผู้ ซึ่งเมื่อครั้งที่หลงเข้ามาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 9 ต.ค พ.ศ. 2565 ซึ่งคาดว่ามีอายุเพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น

อย่างไรก็ดีการพลัดหลงโขลงของลูกช้างตุลานั้น เจ้าหน้าที่สันนิษฐานกันว่า ลูกช้างตัวนี้น่าจะไม่ได้หลงออกจากโขลงเอง เพราะหากหลงมาจริง แม่ช้างจะต้องร้องตามหาอย่างแน่นอน แต่น้องตุลาน่าจะมีความผิดปกติทางร่างกายหรือเป็นโรค จึงทำให้โขลงต้องทิ้งน้อง เพื่อไม่ให้เกิดโรคติดต่อระบาดลามสู่ช้างตัวอื่น ๆ ภายในโขลง

พี่เลี้ยงเฝ้าดูแลอาการบาดเจ็บของน้องตุลาอย่างใกล้ชิด (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
สำหรับครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ได้พบน้องตุลานั้น บริเวณเท้าด้านหน้าข้างซ้าย เล็บที่ 2 เป็นแผล มีอาการอ่อนแรง มีแก๊ซในกระเพาะเยอะ และส่งเสียงร้องด้วยความหิว เนื่องจากยังเป็นช้างเด็ก เจ้าหน้าที่จึงป้อนนมแพะสเตอริไลล์และทำคอกให้อยู่ รอให้หน่วยแพทย์มาประเมินต่อไป

ต่อมาข่าวการพบเจอของน้องตุลารู้ไปถึงนายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช เขาจึงได้รีบประสานงานให้ที่ปางช้างสวนนงนุช รีดนมแม่ช้างที่เพิ่งตกลูก นำไปให้น้องตุลาได้ดื่มกินเติมพลังเร่งด่วน

ความน่ารักของช้างน้อยตุลาตอนยังชีวิต (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
จากนั้นในช่วงวันที่ 10 ต.ค. 65 ผลการตรวจตัวอย่างเลือดของน้องตุลาจากห้องปฏิบัติการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ให้ผลสงสัยต่อเชื้อโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส (EEHV type 1) ทางสัตวแพทย์จึงได้ให้ยาเพื่อใช้ต้านเฮอร์ปีส์ไวรัส รวมทั้งให้ยาเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยลดความเครียดให้น้องตุลาด้วย

สำหรับบาดแผลตามตัว ทางสัตวแพทย์ได้ใช้เครื่องเลเซอร์รักษาสัตว์ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บ การอักเสบ และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ หลังจากได้รับการรักษาผ่านไป 1 สัปดาห์ น้องตุลาเริ่มร่างกายแข็งแรงขึ้น ไม่มีอาการซึม บาดแผลตามร่างกายแห้งสนิทดี และเริ่มมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทน รวมทั้งมีการพาน้องตุลาเดินออกกำลังกายในตอนเช้าเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และน้องตุลาก็เริ่มเรียนรู้การใช้งวงหยิบจับสิ่งของ

ลีลานักเตะของน้องตุลา (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
พอสุขภาพเริ่มกลับมาดีขึ้น น้องตุลาก็เริ่มฉายแววความน่ารักออกมา โดยน้องมีนิสัยซุกซน ขี้เล่น และเริ่มมีพฤติกรรมชอบปีนคอกเพื่อขอนมกิน ทางเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุจึงได้มีการปรับปรุงคอก เพื่อเสริมความแข็งแรงให้เหมาะกับลูกช้างวัยซน

นอกจากนั้นน้องตุลายังชอบการได้ออกมาวิ่งเล่น แต่ในบางวันที่ฝนตกหนัก เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ได้พาน้องออกมา ทำให้น้องตุลายืนรออยู่ในคอก จนหลับไปในท่ายืนเรียกรอยยิ้มให้กับผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก

ท่ายืนหลับที่เรียกรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็น (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
กระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 66 ตุลาเริ่มมีอาการระแวงพี่เลี้ยง และมีอาการเจ็บป่วยอีกครั้ง จนทำให้ขาหน้าบวมทั้ง 2 ข้าง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่างก็เฝ้าดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

แต่สุดท้ายน้องตุลาก็จากไปอย่างสงบในวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของผู้ดูแล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง FC คนรักตุลา คนรักช้าง และผู้ที่รู้จักช้างน้อยตัวนี้กันเป็นจำนวนมาก

ตุลากับชุดสวยของน้อง (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ทั้งนี้หลังจากน้องตุลาเสียชีวิต ทางผู้เกี่ยวข้อง นอกจากจะโพสต์อาลัยตุลาลงใน Tik Tok และ เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น (หัวเรื่อง) แล้ว ยังได้โพสต์ขอบคุณตุลา ที่เป็นดังพลังงานแห่งความสุขของคนไทย ว่า

...ขอบคุณที่เป็นพลังงานความสุข ให้คนไทยตลอดมา “ตุลา” หนูจะอยู่ในใจพวกเราตลอดไป...

...ทุกเรื่องราวของ “ตุลา” จะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป ขอบคุณช้างตัวน้อย ๆ หนึ่งชีวิต ที่เป็นความสุขให้คนไทยอีกหลายพัน หลายหมื่นคนได้มีรอยยิ้ม ขอบคุณทีมเจ้าหน้าที่ และคนที่รักตุลา ขอบคุณที่เห็นคุณค่าชีวิตของสัตว์ป่า ขอบคุณที่รู้ว่าสัตว์ป่าก็มีชีวิตและจิตใจ





กำลังโหลดความคิดเห็น