xs
xsm
sm
md
lg

ชวนเธอไปสู่จักรวาลที่ “Space Inspirium” กับ 10 ไฮไลต์ห้ามพลาดสำหรับคนรักอวกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Space Inspirium
ไปเที่ยว “Space Inspirium” พิพิธภัณฑ์ด้านอวกาศแห่งแรกของไทย ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สนุกกับความรู้ด้านอวกาศ ทดลองเดินในสภาวะไร้น้ำหนัก หรือจะลองฝึกเป็นนักบินอวกาศก็ได้

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ในโลกของเราจะมีโครงการต่างๆ มากมายที่มุ่งออกไปสู่อวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสำรวจต่างๆ การทำภาระกิจอื่นๆ หรือแม้แต่ทริปเที่ยวออกไปแตะขอบฟ้าที่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งถ้าหากจะให้ชวนเพื่อนออกไปเที่ยวนอกโลกกันตอนนี้ก็ยังคงจะเป็นเรื่องยากอยู่

Space Inspirium
แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการซ้อมออกไปสู่อวกาศ ไปซึมซับห้วงอวกาศแบบที่ตัวยังอยู่บนโลก ตอนนี้ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่มาที่ “Space Inspirium” แหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

“Space Inspirium” อยู่ภายใต้การดูแลของ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ที่ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ด้านอวกาศแห่งนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวสนุกๆ และเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศ การสำรวจอวกาศ รวมไปถึงการนำข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศมาใช้ประโยชน์

Space Inspirium

Space Inspirium
และที่บอกว่าที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ก็ใช่ว่าจะน่าเบื่อ นอกจากความรู้ด้านอวกาศที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจในหลายๆ จุดแล้ว ก็ยังมีเครื่องเล่นให้ทดลอง และมีกิจกรรมพิเศษให้ได้ร่วมสนุกกันอยู่ตลอด

เมื่อเข้ามาด้านใน Space Inspirium ก็จะแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ 25 โซน ที่เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักกับจุดกำเนิดของโลก วิวัฒนาการของอวกาศ เทคโนโลยีสำรวจโลกและอวกาศ การออกไปสู่อวกาศ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ การระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม ไปจนถึงโมดูลห้องทดลองอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น

ชวนมาชม 10 ไฮไลต์ห้ามพลาดสำหรับคนรักอวกาศกันบ้าง

เทคโนโลยีสำรวจโลกและอวกาศ

เทคโนโลยีสำรวจโลกและอวกาศ
เทคโนโลยีสำรวจโลกและอวกาศ
จากความรู้ด้านดาราศาสตร์ตั้งแต่สมัยโบราณ ที่เกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า และมีผลต่อลมฟ้าอากาศ มาสู่ยุคของนักปรัชญาชาวกรีก ที่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และทฤษฎีโลกแบน หลังจากยุคนี้จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก มีการค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ และเริ่มต้นการเดินทางออกไปนอกโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการออกไปสำรวจอวกาศให้ก้าวหน้ามาจนถึงยุคปัจจุบัน

มุ่งสู่อวกาศ

มุ่งสู่อวกาศ
มุ่งสู่อวกาศ
การเตรียมความพร้อมออกไปสู่อวกาศจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง เมื่อออกไปนอกโลกแล้วเราจะได้เจอกับอะไร ร่างกายจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เช่น ร่างกายกับแรงโน้มถ่วง สภาวะไร้น้ำหนัก และถ้ามนุษย์อย่างเราต้องออกไปสู่อวกาศ ก็ต้องอาศัยชุดอวกาศ ที่จะช่วยให้เราสามารถออกไปสำรวจนอกโลกได้ โดยมีการจำลองชุดที่นักบินอวกาศของนาซาใช้บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งภายในชุดนั้นประกอบไปด้วยถังออกซิเจน ระบบเตือนภัย กล่องควบคุมสารปนเปื้อน อุปกรณ์สื่อสาร หลอดไฟ เครื่องกลั่นน้ำ เป็นต้น

การใช้ชีวิตในอวกาศ
การใช้ชีวิตในอวกาศ
มาทำความรู้จักกับสถานีอวกาศ ที่เป็นห้องทดลองลอยฟ้า สำหรับการค้นคว้าวิจัยที่มีความจำเป็นต้องทำการทดลองในสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งปัจจุบันมีสถานีอวกาศนานาชาติเป็นสถานที่ปฏิบัติการอยู่

ดาวเทียมธีออส (จำลอง)
ดาวเทียม
มารู้จักกับดาวเทียม และวงโคจรของดาวเทียมชนิดต่างๆ และที่พิเศษสุดคือ การจำลอง “ดาวเทียมธีออส” ในอัตราส่วนเท่าขนาดจริงมาให้ได้ชม โดย ดาวเทียมธีออส (THEOS) หรือ ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศ เมื่อปี 2008 และมีสถานีควบคุมดาวเทียมอยู่ในพื้นที่เดียวกับพิพิธภัณฑ์อวกาศแห่งนี้เอง

ยูริ กาการิน
ยูริ กาการิน
ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวโซเวียตคนแรกของโลก ที่นี่จะมีรูปปั้นของยูริ กาการิน ในชุดอวกาศ จากความร่วมมือของGISTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ และเรื่องราวการบินของนักบินอวกาศคนแรกของโลกทั้งภาษาไทย อังกฤษ และรัสเซีย

เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
คือการศึกษาเกี่ยวกับโลกของเราผ่านข้อมูลที่ได้มาโดยใช้เทคโนโลยี 3S คือ Remote Sensing (RS) การรับรู้จากระยะไกลเพื่อศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยการเลือกใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Global Navigation Satellite System (GNSS) ระบบดาวเทียมนำร่องโลก โดยใช้กลุ่มดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งต่างๆ บนพื้นโลก Geographic Information System (GIS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่ใช้ข้อมูลจาก RS และ GNSS เพื่อแสดงความสัมพันธ์กันบนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อประกอบการวางแผน

การประยุต์ใช้เทคโนโลยี 3S
การประยุต์ใช้เทคโนโลยี 3S
เป็นการใช้งานในด้านต่างๆ เช่น ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตรกรรม ด้านการวางผังเมืองและป้องกันภัย เพิ่มความสนุกสนานในโซนนี้กับการทดลองเล่นเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามสัตว์ป่าหายาก การปรับพื้นที่สูงต่ำได้เองโดยขุดทรายเป็นแม่น้ำ หรือก่อเป็นภูเขาสูง ซึ่งแผนที่แสดงชั้นความสูงจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

โมดูลห้องทดลองอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น

โมดูลห้องทดลองอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น
โมดูลห้องทดลองอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น
เป็นแบบจำลองส่วนหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติที่สร้างโดยประเทศญี่ปุ่น โดยบนสถานีอวกาศนานาชาติจะมีลักษณะเป็นโมดูลสำเร็จรูปหลายห้องเชื่อมต่อกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อทดลองและสังเกตการณ์ทางอวกาศ ภายในโมดูลจำลองแห่งนี้ ทำให้ได้บรรยากาศของการขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศจริงๆ และใครที่สงสัยว่าห้องน้ำบนสถานีอวกาศเป็นอย่างไร ที่นี่ก็มีให้ได้ชม

เครื่องเล่น Gyroscop

เครื่องเล่น Mars Walk

เครื่องเล่น VR Shpere
เครื่องเล่น
มาถึงพิพิธภัณฑ์อวกาศทั้งทีก็ต้องทดลองเครื่องเล่นต่างๆ ให้ได้รู้สึกเหมือนกับการออกไปสู่อวกาศ เช่น เครื่องเล่น Gyroscop จำลองการฝึกขั้นต้นของนักบินอวกาศ เครื่องเล่น Mars Walk จำลองการเดินในสภาวะไร้น้ำหนัก ทดลองไปเดินสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ เครื่องเล่น VR Shpere จำลองเมืองแห่งอนาคต

Cosmo Cafeto

เครื่องดื่มที่ Cosmo Cafeto

Cosmo Cafeto

Cosmo Cafeto
Cosmo Cafe'to
คาเฟ่ธีมอวกาศที่อยู่ด้านในพิพิธภัณฑ์ ให้บริการกาแฟ Specialty Coffee เครื่องดื่มอื่นๆ และขนมหวานแบบโฮมเมด นั่งจิบกาแฟมองโลกใบใหญ่ หรือจะเข้าไปด้านในร้าน นั่งชิลๆ ชมวิวด้านนอก

ใครที่สนใจเรื่องอวกาศ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ มาเที่ยวที่นี่ไม่ว่าจะวัยไหนก็ได้ทั้งความรู้แบะความสนุกกลับบ้านอย่างแน่นอน

Space Inspirium
* * * * * * * * * * * * * *

“Space Inspirium” อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-3300-5835 Facebook : Space Inspirium และ www.spaceinspirium.gistda.or.th

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น