นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบปูพันธุ์ใหม่ของโลก คือ "ปูแสมบกโต๊ะแดง" ในเขตพื้นที่ป่าพรุ จังหวัดนราธิวาส
เฟซบุ๊กเพจ "princess maha chakri sirindhorn natural history museum" โพสต์เรื่องราวสุดน่ายินดีเมื่อทางทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Lee Kong Chian มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้พบ "ปูแสมบกโต๊ะแดง" ปูชนิดใหม่ของโลก
และได้บรรยายลักษณะและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ปูน้ำจืดชนิดใหม่ว่า 𝘎𝘦𝘰𝘴𝘦𝘴𝘢𝘳𝘮𝘢 𝘵𝘰𝘥𝘢𝘦𝘯𝘨 เพื่อสื่อความหมายถึงสถานที่พบปูชนิดนี้คือ บ้านโต๊ะแดง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ปูสกุลนี้ในประเทศไทยมีรายงาน 2 ชนิด ได้แก่ปูแสมภูเขา G. 𝘬𝘳𝘢𝘵𝘩𝘪𝘯𝘨 แห่ง จ.จันทบุรี และ G. 𝘴𝘦𝘳𝘦𝘯𝘦𝘪 จาก จ.นครศรีธรรมราช
สำหรับ "ปูแสมบกโต๊ะแดง" ถูกค้นพบจากระบบนิเวศป่าพรุ โดยส่วนใหญ่พบตามต้นหลุมพี พรรณไม้ป่าพรุในวงศ์ปาล์ม หากดูแบบผิวเผินจะมีลักษณะคล้ายกับปูแสมภูเขาและสมาชิกอื่นๆ ในสกุลนี้อีกหลายชนิด ที่มีลักษณะกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านบนกระดองครึ่งส่วนหน้าและก้ามมีสีเหลืองหรือส้ม ส่วนครึ่งส่วนหลังและขาเดินมีสีเข้มเป็นสีดำ เทา หรือน้ำตาล ลูกตาสีดำแซมด้วยลายจุดสีเทา
เมื่อจำแนกจากลักษณะภายนอกของปูที่รยางค์ข้างปากที่ไม่มีแส้บนส่วนปลาย ขาเดินเรียวยาว และอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่เรียวยาวและส่วนปลายแบนยาว สามารถจัดเข้าไว้ในกลุ่ม G. 𝘧𝘰𝘹𝘪 species group ซึ่งมีแหล่งอาศัยเป็นพื้นที่สูง ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป จึงนับเป็นการค้นพบสมาชิกใน species group นี้ที่อาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำใกล้ระดับน้ำทะเลเป็นครั้งแรก
ลักษณะของปูแสมบกโต๊ะแดงที่แตกต่างจากชนิดอื่นๆ ใน species group คือ มีกระดองที่โค้งนูนชัดเจนเมื่อมองไปทางด้านหน้าปู ส่วนท้องปล้องที่ 6 เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู และมีรายละเอียดของลักษณะอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้บางส่วนที่ต่างไป
ปูแสมในสกุล 𝘎𝘦𝘰𝘴𝘦𝘴𝘢𝘳𝘮𝘢 นี้เกือบทุกชนิดกลายเป็นปูบกตลอดวงจรชีวิต โดยออกลูกแบบฟักเป็นตัวปูขนาดเล็กภายในส่วนท้องของแม่ปูได้โดยไม่ต้องผ่านการใช้ชีวิตเป็นตัวอ่อนระยะแพลงก์ตอนในน้ำ ทำให้ไข่มีขนาดเม็ดที่ใหญ่ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับที่พบในปูน้ำจืดกลุ่มอื่นๆ อย่างวงศ์ปูป่าและปูน้ำตก และวงศ์ปูนาและปูลำห้วย
ในส่วนที่แตกต่างออกไปคือปูสกุลนี้จะไม่ลอกคราบในน้ำ แต่จะลอกคราบได้บนที่แห้งเท่านั้น ซึ่งปูจะได้น้ำจากอาหารที่มันกินที่ประกอบด้วยสัตว์จำพวกแมลงและส่วนต่าง ๆ ของพืช และยังคงใช้แหล่งน้ำชั่วคราวที่พบได้ในป่าสำหรับการแลกเปลี่ยนน้ำในเหงือกสำหรับการหายใจ ซึ่งเป็นร่องรอยที่ยังคงเหลืออยู่ของการเป็นสัตว์น้ำ
แต่อย่างไรก็ตาม ในปูแสมบกโต๊ะแดง ยังไม่มีการพบตัวเมียมีไข่นอกกระดอง และพฤติกรรมการลอกคราบ ว่าจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกับปูส่วนใหญ่ของสกุลหรือไม่ ยังคงต้องมีการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนั้นในอนาคตยังอาจจะมีการสำรวจพบพื้นที่การกระจายของปูชนิดนี้เพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ และยังเป็นไปได้ที่ปูสกุลเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่นๆ ของภาคใต้ของประเทศไทยที่ยังไม่ถูกรายงาน จะเป็นชนิดที่รอการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อีกหลายชนิด
ข้อควรระวัง ปูสกุล 𝘎𝘦𝘰𝘴𝘦𝘴𝘢𝘳𝘮𝘢 เกือบทั้งหมดไม่พบในพื้นที่มีคูคลองใกล้จะออกสู่ทะเล และป่าชายเลน ซึ่งอาจมีผู้สับสนคิดว่าปูที่มีหน้าตาคล้ายกันในบริเวณนี้เป็นปูสกุลนี้ได้
.
เรียบเรียงเนื้อหาโดย คุณเรืองฤทธิ์ พรหมดำ
.
📝รายงานที่ตีพิมพ์
Ng. P.K.L., P. Yeesin, and R. Promdam. 2023. A new species of vampire crab (Crustacea: Brachyura: Sesarmidae: Geosesarma) from a freshwater swamp forest in Narathiwat Province, Southern Thailand, with a note on 𝘎𝘦𝘰𝘴𝘦𝘴𝘢𝘳𝘮𝘢 𝘴𝘦𝘳𝘦𝘯𝘦𝘪 Ng, 1986. Tropical Natural History, 23(2023): 97–104.
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline