เตรียมพบกันงานสุดยิ่งใหญ่ครั้งแรกของกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ทั้งศิลปะ ภูมิปัญญา ธรรมชาติ พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด ฯลฯ ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 “Pakk Taii Design Week” ระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคมนี้ ในย่านเมืองเก่าสงขลา ตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดตรัง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เตรียมจัดงานสุดยิ่งใหญ่ครั้งแรกของภาคใต้ “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้" เพื่อชูศักยภาพของพี่น้องชาวใต้ ค้นหาโอกาสใหม่ของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่รู้จบ โดยเป็นเทศกาลสร้างสรรค์ประจำปีเพื่อตั้งเป้าต่อยอดสินทรัพย์ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และศักยภาพของคนท้องถิ่น ด้วยการเชื่อมโยงนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จากหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
สำหรับพื้นที่จัดงานหลัก ได้แก่
1.ย่านเมืองเก่าสงขลา
2.ท่าเรือแหลมสนชุมชนหัวเขา
3.ตัวเมืองหาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ ได้แก่
1.ย่านทับเที่ยง จังหวัดตรัง
2.ย่าน อา-รมย์-ดี จังหวัดปัตตานี
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ทางเพจทางการของงาน Pakk Taii Design Week ได้โพสต์อธิบายเพื่อปักหมุดความหมายใหม่ ของคำว่า “ปักษ์ใต้” เอาไว้ โดยระบุว่า
ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ หรือ Pakk Taii Design Week 2023 ในครั้งนี้ เราอยากพาทุกคนมาร่วมค้นหาความหมายใหม่ของความเป็นปักษ์ใต้ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้ธีม “The Next Spring หลบเริน แล้วผลิบาน” หรือการชวนคนปักษ์ใต้ทั่วประเทศมา “หลบเริน” (กลับบ้าน) เที่ยวบ้าน เปิดบ้าน เพื่อปล่อยของ บอกต่อ สืบทอด ต้อนรับ และแสดงศักยภาพหลากหลายที่ซ่อนอยู่ของภาคใต้
ร่วมกันเพื่อสร้างฤดูกาลแห่งความหวังครั้งใหม่ด้วยการมองย้อนกลับไปยังสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีคุณค่า และช่วยกันมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่ในคำว่า “ปักษ์ใต้” คำเดิม ในวันที่ความคิดสร้างสรรค์ผลิบาน เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความหมายใหม่ ที่จะทำให้ “ปักษ์ใต้บ้านเรา” ไม่ใช่แค่ "ท่อนฮิต" ในบทเพลงดัง แต่หมายถึงบ้านเกิดในแบบที่เราอยากกลับไปอยู่อาศัย โดยไม่ต้องคอยตั้งคำถามกับตัวเองอีกต่อไปว่าการกลับบ้านในครั้งนี้จะไปรอดหรือไม่
ก่อนจะไปตามหาความหมายใหม่ร่วมกันในงาน Pakk Taii Design Week 2023 วันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 วันนี้เราอยากชวนทุกคนไปพบกับสารตั้งต้นและศักยภาพใหม่ๆ ที่เป็นตัวจุดประกายให้งานนี้เกิดขึ้นได้ ผ่านทั้ง 4 แง่มุม ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์ทางธรรมชาติ นักสร้างสรรค์ นักพัฒนาย่าน และผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่มีความเคลื่อนไหวและการปรับตัวสู่อนาคตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาไปด้วยกัน ได้แก่
สินทรัพย์ทางธรรมชาติ
นอกจากดินแดนปักษ์ใต้จะโด่งดังไปทั่วโลกในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม จากภูมิประเทศที่พรั่งพร้อมไปด้วยทั้งภูเขาและทะเลจนทำให้นักท่องเที่ยวมากมายติดใจมาแล้ว ปัจจุบันภาคใต้กลายมาเป็นหนึ่งในโลเคชั่นสำคัญที่กองถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลกมากมายตัดสินใจเลือกใช้เป็นเบื้องหลังในการถ่ายทอดเรื่องราว
ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ล่าสุดอย่าง ภาพยนตร์ระดับยักษ์ใหญ่ Fast & Furious 9: The Fast Saga (2021) ซึ่งมีการถ่ายทำทั้งที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี หรือ The Riches (2023) ซีรีส์ฟอร์มยักษ์จากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงสาวและชายหนุ่มที่เดินทางมาตามหาความฝันในการเป็นนางแบบและนักมวยไทยในประเทศไทย ซึ่งเพิ่งจะปิดการถ่ายทำ ณ จังหวัดสงขลา ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หรือภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้านี้อีกนับไม่ถ้วน เช่น The Beach (2000), Around the World in 80 Days (2004), Bridget Jones: The Edge of Reason (2004), Star Wars: Episode III Revenge of the Sith (2005) ฯลฯ รวมไปถึงภาพยนตร์ระดับตำนานเรื่องแรกๆ ที่มีการถ่ายทำในภาคใต้ของไทยอย่าง James Bond: The Man with the Golden Gun (1974)
ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
ภาคใต้คือดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย และเบื้องหลังความสำเร็จของผลงานเหล่านั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเหล่านักสร้างสรรค์ทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ ซึ่งร่วมกันต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมให้มีความเคลื่อนไหว มีสีสัน และเติบโตไปพร้อมการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ไม่ว่าจะเป็นหัวหอกนักสร้างสรรค์ชาวใต้ที่มีศักยภาพระดับสากล อย่างศิลปินและทีมงานที่ส่งศิลปะการแสดงโนรา ไปจัดแสดงนิทรรศการ “มรดก โนรา : Spirit of NORA” ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลีในปี 2022,กลุ่มนักออกแบบผ้า ดีไชน์เนอร์ จากจังหวัดยะลาที่ผลักดันโครงการแฟชั่น “ปากายัน มลายู” ไปเฉิดฉายบนเวที London Fashion Week ในปี 2023 ฯลฯ หรือกลุ่มคนดนตรีรุ่นใหม่ที่ต่อยอดวัฒนธรรมให้เป็นเสียงดนตรี อย่าง วง RROP Crew แร็ปเปอร์จากสามจังหวัด ชายแดนใต้ ที่ทำเพลงฮิปฮอปด้วยดนตรีนายู และวง Yala Jazz สองพี่น้องนักดนตรีรุ่นใหม่ในจังหวัดยะลาที่หลอมรวมเพลงแจ๊สเข้ากับดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ
พื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างสรรค์
ใครล่ะจะเข้าใจปัญหาและพัฒนาบ้านเราได้ดีเท่ากับเจ้าของพื้นที่?
อีกหนึ่งผู้ร่วมสร้างฤดูกาลใหม่ให้กับดินแดนปักษ์ใต้ คือเหล่านักพัฒนาที่มารวมตัวกันเพื่อลงมือทำอะไรบางอย่างให้กับเมืองและย่านที่พวกเขารัก ผ่านความสามารถและวิธีการที่หลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็น การบอกเล่าเรื่องราวของย่านทั้งเชิงประวัติศาสตร์และในรูปแบบร่วมสมัย, การก่อร่างสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้เกิดเป็น creative cluster แห่งการแลกเปลี่ยนไอเดีย การนำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตในประเด็นต่างๆ การจัดกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เมืองมีชีวิตชีวาและการหมุนเวียนของรายได้ในท้องถิ่น ฯลฯ เช่น กลุ่ม Melayu Living, Hatyai Connext, Yala Icon, a.e.y.space, lorem ipsum space, Patani Artspace, Songkhla Art Center, Creative Nakhon รวมไปถึงกลุ่มนักออกแบบหรือสถาปนิก อย่าง กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน ที่เพิ่งร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ งานสถาปนิกทักษิณ’66 จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
กิจการใหม่จากสินทรัพย์ท้องถิ่น
“กลับบ้านไปแล้วจะทำอะไรดี ?” ตัวอย่างที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คือบุคคลเหล่านี้ที่ลงมือเปลี่ยนต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นให้กลายมาเป็นกิจการและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเข้ากับยุคสมัยด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนหลายๆ กิจการกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดที่ใครหลายคนติดใจ
ไม่ว่าจะเป็น บ้านไร่ไออรุณ ฟาร์มสเตย์สุดน่ารักจากจังหวัดระนองที่เกิดขึ้นจากการกลับมาดูแลบ้านและครอบครัวของสถาปนิกหนุ่มไฟแรง Cherpin ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อส่วนหนังตะลุงให้กลายเป็นสิ่งที่หยิบจับได้สะดวกมือจากนักออกแบบสาวชาวหาดใหญ่ Natipong แบรนด์เครื่องประดับและของแต่งบ้านที่นำลูกปัดมโนราห์มาผสมผสานเข้ากับสไตล์โบฮีเมียน dot.b ร้านหนังสืออิสระในตึกเก่าอายุ 80 ปี หรือ SAN ร้านเครื่องหอมที่บอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติ ผู้คน และสถานที่ในสงขลาผ่านการเดินทางของกลิ่น
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline