xs
xsm
sm
md
lg

“วัดพุทไธศวรรย์” พระอารามเก่าแก่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ยลจิตรกรรมล้ำค่าแห่งอยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เยือนวัดเก่าแก่ริมแม่น้ำที่รอดพ้นจากภัยสงคราม นอกจากความงามของโบราณสถานศิลปะแบบขอมที่ยังสมบูรณ์แล้ว ความอันซีนที่ไม่ควรพลาด คือ งานจิตรกรรมในพระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ที่ทรงคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย


ปรางค์ประธานองค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม
พระอารามหลวงสมัยพระเจ้าอู่ทอง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา “วัดพุทไธศวรรย์” เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวง ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว 3 ปี โดยเลือกภูมิสถานบริเวณที่เรียกกันว่า “ตำบลเวียงเหล็ก”

โดยเรื่องราวของการสร้างวัด ยังปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า “ศักราช ๗๑๕ ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. ๑๘๙๖) วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เพลา ๒ นาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์”

พระพุทธรูปรอบๆปรางค์ประธาน
วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ ฝั่งตรงข้ามกับเกาะเมืองในบริเวณตําหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเรียกว่าตําหนักเวียงเหล็ก หรือเวียงเล็ก เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระราชวังใหม่ที่ตําบลหนองโสน (บึงพระราม) และสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใน พ.ศ. 1893 วัดริมแม่น้ำในตำบลเวียงเหล็กนั้น ก็ได้รับการสถาปนาเป็นวัดพุทไธศวรรย์

โบราณสถาน ภายในวัด
ความสำคัญช่วงปลายอยุธยา
ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารระบุว่า บริเวณวัดพุทไธศวรรย์ ยังได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุที่สำคัญ 2 ครั้ง ได้แก่ กรมหลวงโยธาทิพทิวงคต กับ สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ

นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2293 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมีพระบรมราชโองการให้นำคณะฑูตชาวสิงหลไปนมัสการและประกอบศาสนกิจที่วัด ซึ่งในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” ของสมเด็จพรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่คณะราชทูตลังกา ได้เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โดยระบุว่าในจดหมายเหตุราชทูตลังกา มีการเขียนบันทึกพรรณนาถึงสภาพของวัดพุทไธศวรรย์ไว้อย่างละเอียด นับเป็นข้อมูลสำคัญแสดงให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างภายในวัดพุทไธศวรรย์ ในช่วงอยุธยาตอนปลาย

โบราณสถาน ภายในวัด
ทั้งนี้วัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดอีกหนึ่งแห่งที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในช่วงการเสียกรุงครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่นอกเมือง จึงทำให้ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุมีความสมบูรณ์หลงเหลือให้เห็น แม้ว่ามีบางส่วนพังทลายลงไปบ้างตามกาลเวลา

พระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
บันทึกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่มีหลักฐานทางด้านเอกสารใดกล่าวถึงวัดพุทไธศวรรย์อีก จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ซึ่งบัญชาการกรมพระคชบาล เสด็จออกไปชมเพนียดที่พระนครศรีอยุธยา ทรงพบว่าที่ด้านมุขของปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ มีพระรูปพระเจ้าอู่ทองตั้งอยู่ จึงโปรดให้อัญเชิญเทวรูปนั้นลงมากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2327แล้วโปรดให้หล่อดัดแปลงใหม่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง หุ้มเงินทั้งองค์ และโปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระเทพบิดรภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน

นอกจากนี้ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ วัดพุทไธศวรรย์ เป็นหนึ่งในวัดของกรุงศรีอยุธยาที่พระองค์เสด็จมาพระราชทานพระกฐิน โดยกระบวนพระยุหยาตราทางชลมารค

พระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ศิลปะล้ำค่าที่วัดพุทไธศวรรย์
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรางค์ประธานองค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม อยู่กึ่งกลางของอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที มีลักษณะย่อเหลี่ยม มีบันไดขึ้น 2 ทาง ทางทิศตะวันออกกับทางทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือกับทิศใต้ มีมณฑป 2 หลัง ภายในมณฑปมีพระประธาน

จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย
ส่วนงานศิลป์หาชมยากที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “อันซีนอยุธยา” อยู่ภายในพระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พระเถระชั้นผู้ใหญ่ สมัยกรุงศรีอยุธยา) ผนังของตําหนักแห่งนี้ มีจิตรกรรมล้ำค่าจากสมัยอยุธยาตอนปลาย คาดว่าตรงกับสมัยสมเด็จพระเพทราชา ราวปี พ.ศ. 2231-2245 ซึ่งนับว่าหลงเหลือให้เห็นชัดเจนที่สุดแล้ว

จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย
จิตรกรรมมีความหลากหลายน่าตื่นตื่นใจ เช่น ไตรภูมิ ทศชาติชาดก พุทธประวัติตอนมารผจญ สระอโนดาด (ปากช้าง ม้า สิงห์ โค) สัตว์หิมพานต์ บานประตูเป็นภาพสตรีชาวมอญ พระพุทธโฆษาจารย์บนเรือสำเภาล่องไปลังกา ภาพฝรั่งสวมหมวกแต่งกายในสมัยอยุธยา ภาพพญามารยักษ์ถือปืนใหญ่ที่หาชมได้ยากมาก ภาพวสวัตตีมาร (มารชั้นสูงสุด) เป็นต้น

งานศิลป์ทั้งหมดนับว่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะมาก มีศิลปินแห่งชาติ ครูอาจารย์ด้านศิลปะ เดินทางไปคัดลอกลายเอาไว้เพื่อเก็บเป็นหลักฐานมิให้สูญหาย

ภาพพญามารยักษ์ถือปืนใหญ่ที่หาชมได้ยากมาก
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพุทไธศวรรย์เป็นโบราณสถาน ไว้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยปัจจุบันวัดได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี

#######################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น