เผยภาพชีวิตความเป็นอยู่ของ “พลายศรีณรงค์” เพื่อนร่วมรุ่น “พลายศักดิ์สุรินทร์” ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกาตั้งแต่ปี 2544 วันนี้ยังคงอยู่ดีกินดี ขณะที่ ทส. เดินหน้าทำ MOU ไทย-ศรีลังกา เพื่อช่วยเหลือดูแลช้างไทย
ปรากฏการณ์ “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้านเกิดประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา นอกจากจะกลายเป็นกระแสที่คนไทยสนใจกันเป็นจำนวนมากแล้ว ยังส่งผลให้ พ่อพลายศักดิ์สุรินทร์กลายเป็นซุปตาร์สัตว์ตัวใหม่ที่มี FC เฝ้าติดตามกันเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้เรื่องราวของช้างอีก 2 เชือกที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้ศรีลังกา คือพลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ก็ได้กลายเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากเช่นกัน
พลายศรีณรงค์ ยังสบายดี
สำหรับพลายประตูผา เป็นช้างไทยเชือกแรกที่ถูกส่งไปศรีลังกาในปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันมีอายุประมาณ 49 ปี ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากเพจ Voice For Elephants Sri Lanka ระบุว่า พลายประตูผายังมีสภาพดี ไม่ได้มีสภาพย่ำแย่ตามที่ปรากฏเป็นกระแสในโซเชียล
ขณะที่พลายศรีณรงค์นั้น เป็นช้างไทยเชือกที่ 2 ที่ถูกส่งไปให้ศรีลังกาในปี พ.ศ. 2544 ถือเป็นช้างเพื่อนร่วมรุ่นของพลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างเชือกที่ 3 ที่ถูกส่งไปให้ศรีลังกาในปีเดียวกัน
พลายศรีณรงค์ และ พลายศักดิ์สุรินทร์ เดิมอยู่บ้านเดียวกัน มีเจ้าของคนเดียวกัน คือ นาย “สมโรจน์ คูกิจติเกษม” ที่ต่อมาได้น้อมเกล้าฯ ถวายช้างทั้ง 2 เชือกแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพระราชทานแก่ประธานาธิบดีศรีลังกา ก่อนส่งมอบเป็นทูตสันถวไมตรีในนามรัฐบาลไทยกับรัฐบาลศรีลังกา เมื่อปี 2544
ช้างทั้ง 2 เชือก เมื่อถูกส่งไปศรีลังกา ได้เปลี่ยนชื่อเรียกขานใหม่ โดย พลายศรีณรงค์ เปลี่ยนชื่อเป็น “คันธุระ ราชา” ส่วนพลายศักดิ์สุรินทร์ เปลี่ยนชื่อเป็น “มธุราชา”
หลังเรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์โด่งดังจากสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ พ่อพลายบาดเจ็บจนต้องส่งกลับคืนประเทศไทย ทำให้หลาย ๆ คนอยากรู้สภาพความเป็นอยู่ของพลายศรีณรงค์เพื่อนร่วมรุ่นของพลายศักดิ์สุรินทร์ ว่ามีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร ยังสบายดีหรือเปล่า???
สำหรับเรื่องนี้คนรักช้างวางใจไปได้เปลาะหนึ่ง เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของพลายศรีณรงค์วันนี้ยังคงอยู่ดีกินดี ความรักใครดูแลดี เรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่ที่ดูแตกต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์ เพื่อนร่วมรุ่นอย่างสิ้นเชิง
โดย นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ NuNa Silpa-archa รายงานสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบันของพลายศรีณรงค์ในช่วงที่เธอเดินทางไปร่วมรับพลายศักดิ์สุรินทร์กับบ้าน ว่า
วันนี้มาเยี่ยมพลายศรีณรงค์ที่เมือง Kataragama ที่เขามารับงาน…
ฟังคลิปที่อธิบายนะคะ เขาดูสุขภาพดี สง่างาม ควาญรักเขา
เราก็สบายใจ…
ช้างไทยเชื่อง น่ารัก..
สำหรับพลายศรีณรงค์ ตัวเองไม่ห่วง เขาอยู่ดีค่ะ ที่อยู่ประจำของเขาก็มีสระน้ำ มีธารนํ้าให้แช่ตัว…
นอกจากนี้ล่าสุด น.ส. กัญจนา ยังโพสต์ถึงพลายศักดิ์สุรินทร์ และพลายประตูผา หลังจากมีข่าวลือต่าง ๆ นานา โดยส่วนหนึ่งของโพสต์ดังกล่าวระบุว่า
ดิฉันก็ห่วงใย ดิฉันจะไปอีกต้นกันยา และเรียนว่า การไปศรีลังกาทุกครั้ง ดิฉันออกค่าใช้จ่ายของตัวเอง ..
ดิฉันจำต้องชี้แจงเพราะมีเสียงมาเข้าหูว่า ดิฉันใช้เงินหลวง…
ส่วนเรื่องที่ห่วงใยว่าพ่อพลายศักดิ์สุรินทร์ต้องถูกส่งกลับไหม เรื่องนี้หายห่วงกันได้แล้วนะคะ พ่อพลายได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงของเราตามที่ทราบกันแล้ว…
การดูแลพลายประตูผาที่ดีที่สุด คือการสร้างความร่วมมือทางการแพทย์กับศรีลังกาซึ่งมีโรงพยาบาลสัตว์ใหญ่อยู่ในเมืองแคนดี้ที่ประตูผาอยู่ และเขาก็ยินดีร่วมมือ ซึ่งคุณหมอของเราที่ออป.ที่จะร่วมเดินทางไปกับดิฉันต้นกันยานี้ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางโน้น…
คุณหมอเราบอกว่า การเอาเขากลับมาไทยนั้น ด้วยอายุที่มาก จะเป็นอันตรายกับพลายประตูผาค่ะ…
ทส.เดินหน้า MOU ไทย-ศรีลังกา ช่วยเหลือช้างไทย
จากปรากฏการณ์พลายศักดิ์สุรินทร์เจ็บป่วย จนต้องเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากนั้นได้เกิดกระแสเรียกร้อง “ทวงคืน” ช้างอีก 2 เชือกของไทย คือ พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ กลับคืนบ้านเกิดกันเป็นจำนวนมากในโลกโซเชียล ซึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ขณะนี้กลุ่มแฟนคลับพลายศักดิ์สุรินทร์ และบรรดาคนรักช้าง มีความห่วงใย ช้างอีก 2 เชือกของไทย ที่ยังอยู่ที่ประเทศศรีลังกา และมีการสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ต่อความเป็นไปได้ที่จะนำกลับมาประเทศไทยด้วยหรือไม่ ว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะส่งทีมสัตวแพทย์ ไปพร้อมกับ น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในต้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ดูแนวทางความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานของไทย และหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกาเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยง และช้างป่า อยู่เป็นจำนวนมาก
นายวราวุธ กล่าวว่า สอดคล้องกับการที่มีคณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่พลายประตูผาอยู่ ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแล และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ดังนั้น จากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นของพลายประตูผา เป็นเรื่องที่แตกต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะพลายศักดิ์สุรินทร์ อายุเพียง 30 ปี ยังหนุ่ม ขณะที่พลายประตูผา อายุเกือบ 50 ปีแล้ว ซึ่งสัตวแพทย์มีความเห็นว่า การเคลื่อนย้ายพลายประตูผาข้ามประเทศมีความเสี่ยง และเป็นอันตรายกับตัวช้างเอง
นายวราวุธ กล่าวว่า ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ให้ประตูผาได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการทำโครงการความร่วมมือกันระหว่าง ไทยกับศรีลังกา ในการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ซึ่งการทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหา การดูแลช้างในระยะยาว ในประเทศศรีลังกาได้ และเชื่อว่า จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยคลายความห่วงกังวลต่อช้างไทยที่ยังอยู่ในศรีลังกาได้
“โครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าว อาจมีการทำ MOU ขึ้น ซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เป็นผู้ลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศศรีลังกา เพื่อทำความตกลงแลกเปลี่ยน เทคโนโลยี และความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลช้าง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้การดูแลช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องยาวนาน” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับพลายศรีณรงค์ นั้น จากการที่ น.ส. กัญจนา ได้ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเองนั้น ก็ยังเห็นว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดีอยู่ และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ น.ส. กัญจนา ก็จะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการกลับเมืองไทยของพลายศักดิ์สุรินทร์ และ รมว.ทส. ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม นายวราวุธ กล่าวว่า มีการรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นที่ปลื้มปีติของพวกเราชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีมงานทุกคน และปวงชนชาวไทย และต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติ และช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงฯ จนทุกอย่างราบรื่น
นายวราวุธ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ตนได้รายงานนายกฯ ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เช่นนี้ ทำให้ความกังวลเรื่องที่จะต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาหรือไม่นั้น หายไป ส่วนทีมแพทย์ ก็จะรักษาอาการบาดเจ็บ ของพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างเต็มที่
สำหรับเรื่องนี้คนรักช้างคงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด พร้อมพิจารณาตามข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติ และที่สำคัญอย่าหลงเชื่อข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวหลอก ที่ผู้ไม่หวังดีสร้างเฟคนิวส์ปั่นในโลกโซเชียลเด็ดขาด