สำนักงานเขตบางรัก โพสต์ภาพรำลึกความหลังเทียบกับภาพปัจจุบัน สำหรับ “ถนนสุรวงศ์” โลเคชั่นสุดเหงาสไตล์ "หว่อง กาไว” ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังระดับมาสเตอร์พีชเรื่อง In the Mood for Love
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานเขตบางรัก โพสต์ภาพและเรื่องราวของสถานที่ที่เคยใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ดังของผู้กำกับ “หว่อง กาไว” ซึ่งปัจจุบันยังคงกลิ่นอายความคลาสสิกย้อนยุคไว้ได้เป็นอย่างดี และยังคงเป็นย่านที่เหล่านักท่องเที่ยวถ่ายภาพแนวสตรีท นิยมไปเก็บภาพกันอยู่เสมอ
สำหรับ “กระทำความหว่อง” เป็นวลีที่สื่อถึงนัยของลายเซ็นผู้กำกับคนดัง ที่นำเสนอภาพชีวิตกลางคืนใต้แสงไฟโทนสีแดง ส้ม เหลือง มู้ดโดยรวมของภาพที่สื่อสารออกมานั้น มีทั้งความรู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย ผสมผสานไปด้วยความจัดจ้านในเชิงสีสันของศิลปะ และการจัดองค์ประกอบภาพที่พิถีพิถัน
โดย สำนักงานเขตบางรัก ระบุว่า
ปลายถนนสุรวงศ์ ก่อนจะตัดเข้าถนนเจริญกรุง เป็นหนึ่งในโลเคชั่นที่ หว่อง กาไว ใช้ในภาพยนตร์ In the Mood for Love ที่ เจ๊าโม๋หวัน (เหลียงเฉาเหว่ย) และ คุณนายเฉิน (จางม่านอวี้) พากันแชร์เรื่องราวสุดคับใจระหว่างเดินทางกลับที่พัก ท่ามกลางแสงไฟสลัวที่แสนจะเปลี่ยวเหงาและเจ็บปวด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่ขยับเข้ามาชิดใกล้กันจนกลายเป็นความรัก 'ผิดที่ผิดเวลา'
ภาพยนตร์เรื่อง “In the Mood for Love” ผลงานกำกับโดย “หว่อง กาไว” ยกกองกันมาถ่ายทำถึงย่านเจริญกรุง เพื่อถ่ายทอดบรรยากาศฮ่องกงในยุค '60 ว่าด้วยเรื่องของ เจ๊าโม๋หวัน (เหลียงเฉาเหว่ย) และ คุณนายเฉิน (จางม่านอวี้) ทั้งสองย้ายมาอยู่ห้องเช่าติดกันในวันเดียวกัน เดินสวนกันตามบันไดและร้านบะหมี่เจ้าประจำ และต่างรับรู้ได้ถึงความไม่ชอบมาพากลของคู่รักตัวเอง
นำพาทั้งคู่ได้แชร์เรื่องราวสุดคับใจเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งเขาและเธอขยับเข้ามาชิดใกล้กันมากขึ้น จนกลายเป็นความรัก 'ผิดที่ผิดเวลา' กล่าวคือ 'ผิดที่' เนื่องจากฮ่องกงช่วงต้นทศวรรษ 1960 มีค่านิยมและศีลธรรมไม่เอื้อให้รักต้องห้ามต่อสามีภรรยาผู้อื่น และ 'ผิดเวลา' เพราะทั้งสองนั้นต่างมีคู่ครองแล้วด้วยกันทั้งนั้น นับเป็นขวบปีที่ต้องต่อสู้กับแรงปรารถนาและความยับยั้งชั่งใจ และลงเอยด้วยการพรากจากกันถาวร
สำหรับ In the Mood for Love นั้น ได้ใช้โลเคชั่นถ่ายทำบริเวณ ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) และแยกสุรวงศ์ (ตัดกับถนนเจริญกรุง) ในฉากที่ทั้งสองคนเดินคู่กันเพื่อแชร์เรื่องราวซึ่งกันละกัน โดยที่ปัจจุบัน ศุลกสถาน นั้นอยู่ในระหว่างบูรณะอาคารไม่สามารถเข้าไปถ่ายรูปได้แล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับ อาคาร “ศุลกสถาน” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อไว้เป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม” จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรงภาษีร้อยชักสาม” เป็นจุดตั้งด่านเก็บภาษีที่ซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราเรือสินค้าจากประเทศต่างๆ ตัวอาคารจึงตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น โดยสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรม นีโอ-ปัลลาเดียน ศิลปะโรมันบวกกับคลาสสิก ซึ่งมีอายุกว่าร้อยปี
ต่อมา เคยเป็นที่ตั้งของสถานีดับเพลิงบางรัก ก่อนจะปิดทำการ และรีโนเวทครั้งใหญ่ โดยบริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน ที่จะปรับปรุงให้อาคารเก่าเป็นโรงแรม Custom House Hotel ภายใต้แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารให้คงอยู่กับพื้นที่
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline