เมืองท่องเที่ยวอย่าง “เชียงใหม่” นอกจากจะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตต่างๆ แต่ก็ยังมีมุมสงบสำหรับคนที่อยากพักผ่อน โดยเฉพาะสายบุญ ที่อยากตระเวนไหว้พระทำบุญ หาความสงบให้กับจิตใจ ที่เชียงใหม่ก็มีวัดสวยสงบงามมากมาย ที่ไปแล้วจะได้ทั้งความสบายใจและสบายตา
และนี่คือ 5 วัดสวยสงบงามที่ “เชียงใหม่” ที่จะเป็นหนึ่งในลิสต์สำหรับสายบุญ
วัดต้นเกว๋น (อ.หางดง จ.เชียงใหม่)
“วัดต้นเกว๋น” หรือ “วัดอินทราวาส” เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญในอดีตเพราะเป็นที่พักขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทอง จาก อ.จอมทอง มาที่เชียงใหม่ ในอดีตเป็นประเพณีที่เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ มีการสรงน้ำพระธาตุ คือจากวัดพระธาตุจอมทองมาก็เดินทางมาด้วยขบวนช้าง ขบวนม้า แล้วแวะมาที่วัดต้นเกว๋น ให้ประชาชนแถวนี้สรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง หลังจากนั้นก็อัญเชิญไปที่วัดสวนดอก 3 วัน 7 วัน แล้วก็ขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นประจำทุกปี เป็นเรื่องของเจ้านายฝ่ายเหนือในอดีต
ภายในวัดต้นเกว๋น มีสิ่งที่น่าสนใจ มี “วิหารวัดต้นเกว๋น” ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณที่มีความงดงามเป็นยิ่งนัก จนได้รับการนำไปเป็นต้นแบบของหอคำหลวงที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์
ด้านในวิหารมีพระประธานประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง ซึ่งหล่อเป็นองค์ๆ เอาติดฝาผนังเป็นรูปคล้ายซุ้ม พระพิมพ์มี 2 แบบคือ แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยขนาด 2x4 ซม. และแบบนาคปรก ขนาด 3x5 ซม. แล้วยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่วาดด้วยสีน้ำทซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และด้านนอกวิหารยังมีศาลารายในเขตพุทธาวาส
มี “มณฑปจัตุรมุข” เป็นมณฑปจัตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ ลักษณะเป็นศาลามีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนอยู่สองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่เรียกว่ากระเบื้องดินขอ ส่วนช่อฟ้าของหลังคามีความพิเศษตรงที่ช่างโบราณจะออกแบบให้มีความโค้งงอซึ่งนกสามารถมาเกาะได้ และที่กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปเล็กๆ ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า ปราสาทเฟื้อง ลักษณะเดียวกับที่พบในภาคอีสานและลาว
วัดอุโมงค์ (อ.เมือง จ.เชียงใหม่)
“วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)” เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีเอกลักษณ์งดงามไม่เหมือนใคร วัดตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ไม่ไกลจากบริเวณตีนดอยสุเทพ อยู่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอยู่ไม่ห่างจากย่านฮิปของนักท่องเที่ยวอย่างนิมมานเหมินทร์มากนัก
ประวัติของวัดอุโมงค์ เริ่มต้นขึ้นในสมัยของปฐมกษัตริย์ของล้านนา คือ พระเจ้ามังรายมหาราช เมื่อพระองค์ได้สร้างเมืองเชียงใหม่แล้วหลังจากนั้นได้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง รวมถึงวัดใหม่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ โดยขนานนามว่า “วัดเวฬุกัฏฐาราม”
จวบจนมาถึงรัชสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระองค์ได้บูรณะวัดเวฬุกัฏฐารามขึ้นใหม่ และยังได้ทรงสร้างอุโมงค์ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้น เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่และสวยงาม มีทางเข้าออก 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึง ข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ และในเพดานอุโมงค์ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันอีกด้วย
อุโมงค์แห่งนี้พระเจ้ากือนาทรงสร้างขึ้นเพราะพระองค์ทรงศรัทธาเป็นพิเศษในพระมหาเถระจันทร์ พระสงฆ์ชาวล้านนาผู้แตกฉานในพระไตรปิฏกและมีปฏิภาณโต้ตอบปัญหาธรรมเป็นเยี่ยม พระเจ้ากือนามีพระราชประสงค์จะให้พระเถระจันทร์อยู่เป็นที่ สะดวกต่อการติดต่อและพบปะ จึงโปรดให้สร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นที่ฐานพระเจดีย์ใหญ่ในวัดเวฬุกัฏฐารามเพื่อเป็นที่อยู่ของพระมหาจันทร์ ต่อมาคนจึงเรียกกันว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” มาตั้งแต่บัดนั้น
ปัจจุบัน วัดอุโมงค์กลายเป็นสถานปฏิบัติธรรม สถานที่ที่คนมาแสวงหาความสงบ รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามแปลกตาของเชียงใหม่ เมื่อมาเยือนที่วัดอุโมงค์จะได้พบกับความร่มรื่นและความเงียบสงบภายในวัด บริเวณอุโมงค์เป็นอาคารก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมที่ภายนอกมีมอสปกคลุมเป็นพรมสีเขียวด้วยความชื้น ยิ่งเพิ่มความสงบงามให้แก่สถานที่ เมื่อเข้าไปภายในอุโมงค์จะพบกับความเงียบและความมืดสลัว มีดวงไฟตามทางเป็นระยะๆ บริเวณอุโมงค์ช่วงแรกมีพระพุทธรูปให้เรากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นเป็นทางเดินที่เชื่อมต่อกับอุโมงค์อื่นๆ เป็นระยะๆ
วัดผาลาด (อ.เมือง จ.เชียงใหม่)
“วัดผาลาด” แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ก็คาดว่ามีอายุหลายร้อยปี จากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีอยู่ในวัด โดยช่วงหนึ่งที่นี่เป็นวัดร้าง และถูกบูรณะขึ้นอีกครั้งในราว พ.ศ.2534 ให้มีสถานภาพเป็นวัดและสถานที่ปฏิบัติธรรม
บรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยความเงียบสงบ ให้ความร่มเย็นจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ บางส่วนก็มีการตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อความสวยงาม และยังได้ยินเสียงของสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ ให้ยิ่งรู้สึกได้ถึงความสงบทั้งร่างกายและจิตใจ
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดมีอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะเป็น “เจดีย์” เป็นเจดีย์โบราณที่ถูกปกคลุมด้วยมอสและเฟิร์นสีเขียวดูชุ่มชื้น องค์เจดีย์เป็นศิลปะสมัยครูบาศรีวิชัยแต่สร้างโดยช่างชาวพม่าจึงทำให้ลักษณะของเจดีย์จึงออกมาเป็นศิลปะแบบพม่า สันนิษฐานว่ารูปทรงน่าจะคล้ายกันกับเจดีย์ที่วัดมหาวัน ถนนท่าแพ เชียงใหม่ เจดีย์องค์ที่เห็นอยู่นี้ถูกขุดเจาะนำของสำคัญที่บรรจุอยู่ภายในเจดีย์ออกไปตั้งแต่ช่วงสมัยสงครามโลกแล้ว และทำให้ยอดเจดีย์พังลงมา ต่อมาจึงมีการบูรณะให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากขึ้นแบบในเห็นในปัจจุบัน
“วิหาร” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ โดยเลี่ยงจากฐานวิหารเดิมมาทางทิศใต้ เพื่อไม่ให้ฐานซ้อนที่กัน โดยมีสล่า (ช่าง) เป็นชาวพม่า ซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ของครูบาเทิ้ม วัดแสนฝาง และครูบาสิทธิ วัดท่าสะต๋อย ด้านหน้าบันวิหารแกะสลักเป็นรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพม่า ส่วนด้านหลังแกะเป็นรูปกระต่าย อันเป็นปีเกิดของครูบาเทิ้ม
“บ่อน้ำ” บ้างบอกว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ จากการสังเกตทำให้ทราบว่ามีการสร้างบูรณะขึ้นหลายครั้ง จึงสันนิษฐานว่า ครั้งที่หนึ่งสร้างขึ้นร่วมสมัยการอัญเชิญพระธาตุขึ้นประดิษฐานบนดอยสุเทพของพระเจ้ากือนา เพื่อเอาน้ำไว้กิน อาบ เป็นวิธีการกรองน้ำอย่างหนึ่งของคนโบราณ จะได้ไม่ต้องใช้น้ำจากลำห้วยโดยตรง
นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปบริเวณหน้าผา จุดไหว้พระพุทธรูปอีกหลายจุด ลานกว้างของวัด จุดชมวิว เป็นต้น
วัดหลวงขุนวิน (อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่)
“วัดหลวงขุนวิน” วัดสวยสงบท่ามกลางป่าเขา ที่มีความเก่าแก่อายุยาวนานกว่า 700 ปี โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ ผสมผสานกับความเขียวขจีของป่าไม้ที่อยู่โดยรอบ
มีตำนานกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังบริเวณที่ตั้งของ วัดหลวงขุนวิน แห่งนี้ โดยมีชาวลัวะ 2 คน คือ ขุนสาบและขุนสระเมิง ได้กราบทูลขอพระเกศาธาตุ พระพุทธองค์เลยทรงประทานให้ แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบไว้บนยอดเตี้ยๆ ที่ชื่อว่า พระธาตุม่อนเปี้ยะ ภายหลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเสด็จมาเพื่อประทับรอยพระบาท แต่เนื่องจากหินก้อนเล็กไปเลยมีแค่รอยฝ่าพระบาทเท่านั้น ส่วนส้นและนิ้วพระบาทจะหายไป ซึ่งพระพุทธบาทที่ไม่เต็มรอยเพราะแหว่งไปนั้น ตรงกับภาษาพื้นเมืองที่เรียกว่า หวิดไป เมืองนี้เลยมีชื่อว่า เมืองหวิด และต่อมาได้ชื่อว่า เมืองวิน นั่นเอง
หลังจากที่วัดร้างมาหลายร้อยปี ครูบาอุ่นเรือน สุภทฺโท แห่งวัดควรนิมิตร อ.สันป่าตอง ลูกศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาบูรณะขึ้นใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ปัจจุบันมีหลวงพ่อจรัญ ทกฺขญาโณ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างพระอุโบสถไม้ขึ้นสองหลัง ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ปางจงกรมแก้ว สูง 9 เมตร ฐานกว้าง 2 เมตร เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักจากต้นจำปีป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตายตามคำทำนาย ส่วนอุโบสถอีกหลังหนึ่งประดิษฐานพระนอน ปางปรินิพพาน และพระพุทธรูปไม้แกะสลักอีกหลายองค์ มีการบูรณะกุฏิและศาลาต่าง ๆ รวมทั้งสร้างบันไดพญานาคที่อ่อนช้อยตามแบบศิลปะล้านนา
วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน (อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่)
“วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน” หรือ “วัดบ้านเด่น” ในอดีตวัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดเล็กๆ ในหมู่บ้านเท่านั้น แต่ด้วยความเชื่อและพลังศรัทธาที่ผลักดันให้วัดนี้ขึ้นมาเป็นพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าแห่งล้านนาก็ว่าได้ เมื่อ "ครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล" มาจำพรรษานั้นก็เริ่มมีต้นโพธิ์ปรากฏขึ้น จากที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต้นโพธิ์นั้น ภาษาถิ่นนั้นเรียกว่า “ต้นสะหลี” จึงเป็นที่มาของชื่อวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน ส่วน "เมืองแกน" ก็คือเมืองโบราณที่เคยเจริญรุ่งเรืองกินอาณาเขตพื้นที่ในบริเวณนี้นี่เอง
สถาปัตยกรรมในวัดบ้านเด่น ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ ที่ผสมผสานโดยใช้แนวคิดของครูบาเทืองเป็นหลัก คือคิดจะใส่อะไรจะทำอะไรก็ทำ โดยต้องมีความมั่นคง และเป็นการผสมผสานระหว่างวัดบ้านกับวัดป่า เพราะมีความเชื่อที่ว่าศาสนาอยู่ได้ด้วยการปฏิบัติ การแบ่งแยกจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยยึดหลักการสร้างตามบุญเป็นตั้งมั่น
ภายในวัดมีความน่าสนใจอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะเป็น “วิหารพระเจ้าทันใจ” เป็นวิหารที่อยู่ด้านซ้ายมือสุด ลักษณะเป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่ ซุ้มบันไดเป็นรูปปั้นพญานาคราชศรีสุทโธที่โอบรอบพระวิหารไม้สักไปจนถึงด้านหลัง ด้านในมีองค์พระเจ้าทันใจให้กราบไหว้ขอพร
“วิหารพระเจ้าปันต๋น” หรือในสำเนียงภาษากลางคือ พระเจ้าพันตน ภายในวิหารมีพระพุทธรูปอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่โดดเด่นคือ พระเจ้าเงินทันใจ องค์พระเป็นเนื้อเงินทั้งองค์ ผนังในห้องพระแก้วเงินทันใจ จะมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ เรียงรายอยู่เป็นจำนวนมากน่าจะเป็นที่มาของคำว่าวิหารพระเจ้าพันตน
“รูปหล่อพระครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล” องค์สีทองอร่าม ผู้สร้างวัดบ้านเด่น หรือวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน แห่งนี้ ส่วนด้านหลังมีมณฑปที่ประดิษฐานพระเศรษฐีนวโกฏิ นอกจากนี้ยังมีหอพระธรรม ตั้งอยู่ใกล้ๆ
นอกจากนี้ยังมี พระวิหารมาต๋าม 12 พระธาตุประจำปีเกิด หอไตร หอกลอง วิหารเสาอินทขิล กุฏิไม้สักทองทรงล้านนา ยังมีซุ้มบันไดเป็นรูปพญานาค รวมทั้งสัตว์ในป่าหิมพานต์ ลักษณะการก่อสร้างวิจิตรงดงามไม่แพ้กัน
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline