เป็นกระแสที่ได้รับความนิยมชนิดขายดีหมดตู้ สำหรับ “ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯ” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สำหรับเมืองจีน ไอศกรีมที่เป็นรูปร่างของสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังนั้น นิยมกันมาตั้งแต่ราว 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งถือเป็นไอเดียในการปลุกกระแสและสร้างสีสันการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมได้อย่างดี
สำหรับเมืองไทย ไอศกรีมรูปร่างสัญลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยวดัง เพิ่งเป็นกระแสจาก ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯ ไปเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งสร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยวได้สนุกยิ่งขึ้น ทั้งยังดึงดูดให้ผู้คนต่างเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ เพื่อเช็กอิน ถ่ายภาพคู่กับไอศกรีม
แต่ย้อนกลับไปราว 2 ปีที่ผ่านมา ไอศกรีมรูปแแบบดังกล่าว เป็นกระแสนิยมเกิดขึ้นที่ประเทศจีน โดยไอศกรีมที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นมองแวบเดียวก็รู้ได้ในทันทีว่าอยู่ที่ไหน เป็นสิ่งที่ชาวจีนนิยมมาก โดยการ “เช็กอิน”ไอศกรีมคู่แหล่งท่องเที่ยว กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวในแดนมังกรมาพักใหญ่
กระแสดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2021 หลังจากพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุยเปิดตัวไอศกรีม “หน้ากากสัมฤทธิ์” ที่มีต้นแบบจากหน้ากากสัมฤทธิ์ 2 ชิ้นที่ขุดพบในหลุมบูชายัญซานซิงตุย และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในโลกอินเทอร์เน็ต
หลังจากนั้น จุดชมวิวหลายแห่งในจีนก็ทยอยเปิดตัวไอศกรีมที่มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ จนการเฟ้นหาไอศกรีมประจำสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสร้างสรรค์เป็นเลิศ กลายมาเป็นหัวข้อยอดฮิตในสื่อสังคมออนไลน์
ในเมืองเย่ว์หยาง มณฑลหูหนานนั้น ไอศกรีมรูปหอเย่ว์หยางและโลมาหัวบาตรหลังเรียบได้รับความนิยมสูงสุด ส่วนมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ก็มีไอศกรีมรูปแพนด้าที่มัดใจชาวเน็ตได้อยู่หมัด มณฑลหูเป่ยก็ไม่น้อยหน้า ชูไอศกรีมหอนกกระเรียนเหลือง มูสกระบี่โกวเจี้ยน (เจ้าผู้ครองแคว้นเย่ว์) และระฆังช็อกโกแลต
ส่วนมณฑลเจียงซีมีไอศกรีมทรงหอเถิงหวังเก๋อ ที่ยังคงเก็บรายละเอียดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไว้ได้อย่างดี เช่นชั้นลอยที่ซ่อนอยู่ระหว่างชั้นต่างๆ แถมยังมีชื่อสถานที่ประดับอยู่ด้านล่างด้วย หรือ หมู่ถ้ำหินโม่เกาของมณฑลกานซู่ ก็มีไอศกรีมรูปหอ 9 ชั้น ที่หลังรับประทานเสร็จแล้วยังสามารถนำไม้ไอศกรีมไปใช้เป็นที่คั่นหนังสือได้
“ความคลั่งไคล้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์” ที่เพิ่มขึ้น ได้ช่วยคืนชีพให้โบราณวัตถุและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์บางรายการได้ความนิยมจน “ฉุดไม่อยู่” บ่อยครั้ง ทั้งยังช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์สินค้าที่แปลกใหม่และน่ารัก แถมช่วยให้สาธารณชนได้สัมผัสกับวัตถุทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในจีนได้ผสานศาสตร์สาขาต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นถึงพลังที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมนี้” โจวอวิ้นชิง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นกล่าว
สำหรับเมืองไทย แบรนด์ Pop Icon ผู้เป็นเจ้าของไอศกรีม 3 มิติ ก็มีแผนที่จะทำไอศกรีมแลนด์มาร์กดัง หรือโปรเจกต์สนุกๆแบบนี้มาอีกในอนาคต และไม่แน่ว่า สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในเมืองไทย ก็อาจจะต่อยอดไอเดียไอศกรีมรูปแบบนี้ไปทำกัน ปลุกสีสันการท่องเที่ยวให้คึกคักยิ่งกว่าเดิม
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว, แฟนเพจลุยจีน (www.facebook.com/shoot2china/) , เว็บไซต์ campus.sg
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline