xs
xsm
sm
md
lg

“คลองปากประ - ทะเลน้อย” ดินแดนชุ่มน้ำงามสะกดใจในพัทลุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรือหางยาวล่องจากท่าออกไปช้าๆสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่ ในเวลาที่ฟากฟ้าเพิ่งเปลี่ยนฉากจากรัตติกาลเป็นแสงทองของอรุณรุ่ง ทัศนียภาพที่ปรากฏในช่วงนาทีสุดพิเศษยามรุ่งสางพัดพาหัวใจของผู้มาเยือนให้ลอยล่องตกลงไปในภวังค์ความงามของ “คลองปากประ”



ภายในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (เขตจังหวัดพัทลุง) มีเพชรเม็ดงามของการท่องเที่ยวธรรมชาติแบบฉบับอันซีนไทยแลนด์ที่ควรค่าแก่การมาเยือน ได้แก่ “คลองปากประ” กับ “ทะเลน้อย” ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อาณาเขตที่ได้รับการประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของไทย

กิจกรรมที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงเมื่อมาเยือนที่นี่ คือ สลัดความขี้เกียจออกไปล่องเรือชมทะเลน้อยตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อได้รับรู้ว่ามีความมหัศจรรย์มากมายรอคอยให้สัมผัส ณ ผืนน้ำอันกว้างใหญ่นับแสนไร่


ยอยักษ์ที่คลองปากประ
สีสันของท้องฟ้าที่สะท้อนลงมาบนผืนน้ำกว้างใหญ่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีส้มทองจากแสงแรกของวัน โดยมีสิ่งที่โดดเด่นที่สุดอย่าง “ยอขนาดยักษ์” เป็นเครื่องประดับฉากเติมเต็มความงามแห่งวิถีประมงพื้นบ้านกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

หากกล่าวว่า “คลองปากประ” เป็นจุดชมวิวกลางผืนน้ำ และเป็นจุดถ่ายภาพวิถีประมงพื้นบ้าน ที่มีความงดงามในลำดับต้นๆของไทยก็ไม่ผิดนัก พื้นที่เปิดโล่งไปไกลสุดสายตา กระจัดกระจายไปด้วยยอขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านลักษณะเป็นก้านไม้ยาวแผ่ออกเป็น 4 แฉกที่ชาวบ้านจะมายกขึ้นสำหรับดักปลาลูกเบร่ ปลาตัวจิ๋วที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค โดยแสงเงาของยอยักษ์เหล่านี้ยามเมื่ออาบแสงตะวันยามเช้า จะกลายเป็นภาพความงามของธรรมชาติกับวิถีชีวิตที่น่าตื่นตาตื่นใจ


แหล่งส่องนก
หากใครเป็นผู้หลงใหลในปักษีวิทยา ต้องตื่นเช้าล่องเรือไปสอดส่องวิถีหากินของเหล่านกนานาชนิดที่ทะเลน้อย หรืออีกชื่อที่บ่งบอกนิยามได้ดี คือ “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” นั่นจึงหมายถึง การเป็นแหล่งอาศัยของนกนับหมื่นนับแสนตัว ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำนับแสนไร่


ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า ทะเลน้อยมีนกไม่ต่ำกว่า 186 สายพันธุ์ โดยเฉพาะถ้าเดินทางไปในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน ที่บรรดานักต่างถิ่นอพยพหนีหนาว อาจมีปริมาณมากกว่าแสนตัว โดยนกน้ำที่น่าสนใจในทะเลน้อย เช่น นกยางไฟหัวดำ, นกยางโทนใหญ่, นกกาบบัว, นกกระสาแดง, นกยางเปีย, นกเป็ดน้ำ, นกแอ่นทุ่ง, นกกาน้ำ, นกตีนเทียน, นกอีโก้ง ฯลฯ เรียกว่าหลากหลายสายพันธุ์จดจำกันไม่หมด


เหล่านักส่องนกที่เดินทางมาล่องเรือ จึงต้องพกพาอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพที่มีเลนส์ซูมระยะไกล หรือกล้องส่องทางไกล ติดไม้ติดมือมาด้วย เพื่อที่จะได้มองเห็นนกสายพันธุ์ต่างๆได้ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม แต่หากใครไม่สันทัดเรื่องนก การได้ล่องเรือชมนกโบยบิน หรือหากินตามสุมทุมพุ่มไม้ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ยังนับเป็นความเพลิดเพลินไม่น้อยไปกว่ากัน


ทะเลดอกบัว
หนึ่งในไฮไลต์ความงามของทะเลสาบแห่งนี้ คือ ดอกบัวตระการตา สีชมพูเข้มรายล้อมรอบตัว ซึ่งทะเลน้อยมีพันธุ์บัวส่วนใหญ่ 4 ชนิด ได้แก่ บัวหลวง บัวเผื่อน บัวบา และบัวสาย หรือที่นิยมเรียกว่า “บัวแดง” และเป็นบัวที่มีมากที่สุดในทะเลน้อย ซึ่งบัวสายที่ทะเลน้อยเบ่งบานสะพรั่งมากที่สุดช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม


จุดชมทะเลบัวแดงนั้น ล่องเรือออกมาจากคลองปากประประมาณ 15 -20 นาที ซึ่งนอกจากความละลานตาของสีสันดอกบัวแล้ว ยังมีแนวเทือกเขาบรรทัดตระหง่านงามอยู่ลิบๆ


ควายน้ำ มรดกโลกทางการเกษตรของไทย
วิถีการเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำของพัทลุง มีความพิเศษอยู่ที่นอกจากเป็นควายบกตามธรรมชาติปกติของควายไทยทั่วไปแล้ว ควายในพื้นที่ชุ่มน้ำอันกว้างใหญ่ได้เกิดปรับตัวหากินในฤดูน้ำหลาก ด้วยการดำผุดดำว่ายลงไปมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย จนได้ฉายาว่า ควายน้ำ

เรื่องที่น่ายินดีอย่างหนึ่ง คือ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ประกาศให้ "ระบบการเลี้ยงควายปลักหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าควายน้ำพื้นที่ทะเลน้อย" เป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” แห่งแรกของไทย โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและอัตลักษณ์ของพื้นที่ รวมถึงวิถีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมของเกษตรกรท้องถิ่นที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลากว่า 250 ปี ของ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง” ตลอดจนต้องการยกระดับการปกป้อง อนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้น การล่องเรือไปในพื้นที่ทะเลน้อย ได้เห็นฝูงควายตัวอ้วนพีทั้งหลายใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข ก็นับเป็นการได้ออกไปสัมผัสมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทยอีกด้วย


สะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
“สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” ซึ่งเป็นสะพานยกระดับอยู่เหนือพื้นที่ทะเลน้อย ระยะทางประมาณ 5.45 กิโลเมตร ครองสถิติสะพานที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย

การล่องเรือไปยามเช้า จะมองเห็นแนวสะพานได้ในมุมมองที่มองขึ้นมาจากผืนน้ำ ล่องเรือลัดเลียบสะพานไปชมวิถีชีวิตประมงท้องถิ่น การเลี้ยงควาย หรือชมธรรมชาติ ส่วนใครอยากขึ้นไปมองทิวทัศน์จากมุมบนสะพาน ก็วางแผนโปรแกรมนั่งรถขึ้นไปชมแล้วถ่ายภาพกลับมายังพื้นที่ชุ่มน้ำได้


แรมซาร์ไซต์ คือ อะไร ?
พื้นที่ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ถูกกำหนดและตั้งชื่อตามชื่อสถานที่จัดให้มีการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 นั่นคือ “เมืองแรมซาร์” ประเทศอิหร่าน

อนุสัญญาดังกล่าวกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ ต่อมาขอบเขตการดำเนินการของอนุสัญญาฯ ได้ขยายครอบคลุมกว้างขึ้นโดยเน้นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดในทุกๆด้าน ตลอดจนเพื่อยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก


ข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติม
ททท.นครศรีธรรมราช-พัทลุง โทร.075- 346 515
หรือ facebook.com/TAT.NST

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น