xs
xsm
sm
md
lg

ชมสถาปัตยกรรมไทย-จีน “วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร” วัดงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร วัดงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา
หากใครมีโอกาสมาเยือนนนทบุรี จะต้องไม่พลาดมายลความงดงามของ “วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร” วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้นก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต โดยเริ่มสร้างในปี พ.ศ.2390 ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมาย ถือเป็นอีกหนึ่งวัดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในจังหวัดนนทบุรี

“วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพื้นที่ซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของพระอัยกา (ตา) พระอัยกี (ยาย) และพระราชมารดาของพระองค์ หรือเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย โดยพระองค์ทรงเห็นว่าควรที่จะสถาปนาสถานที่แห่งนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงสักแห่งหนึ่งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่บุคคลทั้งสามนั้น

บริเวณรอบวัดเฉลิมพระเกียรติฯ
แต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นป้อมปราการเก่ามาก่อน ชื่อว่า “ป้อมทับทิม” ใช้ในการสอดส่องป้องกันข้าศึกที่อาจจะรุกล้ำเข้ามาทางแม่น้ำ และเมื่อพระองค์มีพระราชประสงค์ในการสร้างวัด จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) ตำแหน่งที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองสร้างวัดขึ้น และโปรดให้สร้างป้อมปราการก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมมหาราชวังรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดเฉลิมพระเกียรติ”

ด้านนอกพระอุโบสถ

หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสด
เมื่อพระองค์จะเสด็จสวรรคต วัดเฉลิมพระเกียรตินี้ยังสร้างไม่เสร็จดี เพราะเมื่อในเวลานั้นพระองค์ยังได้ตรัสถึงวัดต่างๆ ที่ยังสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ค้างไว้ และขอให้ผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ได้ช่วยทำนุบำรุงวัดที่ชำรุดและวัดที่ยังสร้างค้างอยู่นั้นให้เสร็จเรียบร้อยด้วย ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติจนเสร็จเรียบร้อยในเวลาต่อมา

ด้านหน้าพระอุโบสถ
ที่วัดแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถ ที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ตามแบบพระราชนิยม หลังคาพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาทำเป็นลอนลูกฟูกแบบจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสดจากประเทศจีน ประดับตกแต่งสีให้เป็นใบและดอกพุดตาน

พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา พระประธานในพระอุโบสถ

ตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ ๓
เมื่อเข้าไปด้านในจะได้พบกับ "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ขุดแร่ทองแดง ที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ทองแดงจำนวนมาก จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานประจำในพระอุโบสถแห่งนี้ นอกจากนี้ บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถยังเขียนลายรดน้ำปิดทอง ตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ ๓ และรูปกระต่ายภายในวงพระจันทร์เต็มดวง

วิหารหลวง

บริเวณรอบวัดเฉลิมพระเกียรติฯ
นอกจากพระอุโบสถแล้ว ก็ยังมีอาคารอีกสองหลังสร้างขนาบข้าง และมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกัน ทั้งหน้าบันที่มีศิลปะแบบไทยผสมจีน ต่างกันแต่เพียงขนาดของอาคาร นั่นก็คือพระวิหาร และการเปรียญหลวง ฉันเลือกเดินเข้าไปภายในพระวิหารก่อน เพื่อมากราบ "พระศิลาขาว" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระวิหาร จึงทำให้นิยมเรียกวิหารหลังนี้ว่าวิหารพระศิลาขาว พระองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในบุษบกไม้สักลงรักปิดทองประดับกระจก มีลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม ช่วยส่งเสริมให้องค์พระดูโดดเด่น ก่อนจะเดินไปยังการเปรียญหลวง ซึ่งภายในประดิษฐาน “พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์” เป็นพระประธาน จิตรกรรมฝาผนังภายในเขียนสีเป็นลายดอกไม้ร่วงสีอ่อนหวานเหมือนกับในพระวิหาร

พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ พระประธานในวิหารหลวง

มองไปภายในวิหาร
ส่วนบริเวณด้านหลังพระอุโบสถนั้น มองไปจะเห็นพระเจดีย์องค์สีขาวดูโดดเด่นอยู่เบื้องหลัง เป็นเจดีย์ทรงลังกา องค์เจดีย์เป็นรูปทรงกลมมีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้น จากฐานถึงยอดมีความสูงประมาณ 45 เมตร ภายในบรรจุพระบรมธาตุ

นอกจากในเขตพุทธาวาสแล้ว ส่วนของเขตสังฆาวาสก็ยังมีความน่าสนใจ เพราะเป็นหมู่กุฏิทรงไทย ซึ่งสร้างและจัดแผนผังอย่างมีระเบียบ เป็นเรือนไทยภาคกลางทรงมะนิลาใต้ถุนสูง มีความสวยงามบ่งบอกถึงความเป็นศิลปะไทยๆ

พระเจดีย์องค์สีขาวดูโดดเด่น
ชมภายในวัดจนทั่วแล้ว ลองเดินออกจากป้อมกำแพงวัดอีกครั้ง แล้วเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาทางซ้ายมือ ก็จะได้พบกับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในท่าประทับยืนหันหน้าออกสู่แม่น้ำ ทางวัดจัดสร้างพระบรมรูปของพระองค์ขึ้นเพราะเป็นผู้ที่โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดเฉลิมพระเกียรตินี้ขึ้น เมื่อฉันกราบสักการะท่านเสร็จแล้วจึงได้เดินไปอ่านคำจารึกด้านหลังพระบรมรูปที่จารึกไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีเชื้อสายฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นชาวเมืองนนทบุรี โดยสมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงเป็นธิดาเจ้าเมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน นนทบุรีนี้คือเมืองคู่พระบารมีแห่งพระองค์...”

ประดับด้วยตุ๊กตาปูนปั้น
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 86 หมู่ 3 ถนนท่าน้ำนนท์ –วัดโบสถ์ดอนพรหม ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น