xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี แหล่งรวบรวมมรดกล้ำค่าของเมืองชัยนาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาคารขนาดเล็กสองชั้นสีเหลืองอ่อนภายนอกดูเรียบง่ายคล้ายกับสถานที่ราชการทั่วไป ป้ายด้านหน้าระบุให้เห็นว่าเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี” ซึ่งนับได้ว่าเป็นสถานที่ที่อย่ามองแค่ภายนอก เพราะภายในอาคารแห่งนี้ รวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่าไว้มากมาย ควรแก่การปักหมุดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ควรพลาดสำหรับเมืองชัยนาท



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระบรมธาตุวรวิหาร วัดสำคัญคู่เมืองชัยนาท พิพิธภัณฑ์ สังกัดสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานอีกแห่งในพื้นที่ภาคกลางที่รวบรวมเก็บรักษา อนุรักษ์ จัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่หาชมได้ยาก โดยเฉพาะศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น

พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งขึ้นโดยพระชัยนาทมุนี (นวม สุทตฺโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งได้รวบรวมโบราณศิลปวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียง มาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานของวัดเป็นจำนวนมาก ต่อมาพระคุณเจ้าได้มอบโบราณศิลปวัตถุดังกล่าวให้เป็นสมบัติของชาติในปี พ.ศ. 2509 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้นตั้งชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี” และเปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512

พระชัยนาทมุนี กับ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ (ในภาพถ่าย)
ชัยนาท เมืองประวัติศาสตร์น่าศึกษา
การเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา สืบเนื่องจากภูมิศาสตร์ของเมืองชัยนาทตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มมีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย จึงเหมาะแก่การลงหลักปักฐานดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 - 2,500 ปีมาแล้ว


โดยสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการพบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก กำไลสำริด ลูกปัด ถ้วยโถโอชาม รวมไปถึงการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและพิธีกรรมตามรูปแบบของสังคมดั้งเดิม ล่วงมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12 เมื่ออารยธรรมอินเดียส่งผ่านเข้ามายังภูมิภาคแห่งนี้ ชุมชนดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ได้พัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ 

เริ่มมีการบันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษร สร้างรูปเคารพ และก่อสร้างศาสนสถาน โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เนื่องในพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปศิลา พระพิมพ์และชิ้นส่วนธรรมจักร ตลอดจนแผ่นหินเจาะรูมีเสียงกังวานอย่างที่เรียกกันว่า ระฆังหิน และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ


อีกหนึ่งความสำคัญ คือ “เมืองสรรค์” หรือ สรรคบุรี ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ต.แพรกศรีราชา ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 20 เมืองสรรค์อยู่ในฐานะเป็นเมืองชั้นลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง โบราณสถานที่ปรากฏทั้งภายในเมือง เช่น วัดพระยาแพรก วัดสองพี่น้อง และ ที่วัดพระแก้วนอกเมือง ล้วนแต่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ที่วัดโตนดหลายมีรูปแบบแสดงถึงความสัมพันธ์กับราชธานีสุโขทัยในช่วงเวลานั้นด้วย หลักฐานสำคัญที่สุด คือ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยสุโขทัย นิยมสร้างในสมัยพญาลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 จึงกล่าวได้ว่ามีเพียงเจดีย์วัดโตนดหลาย ที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์องค์เดียวในภาคกลาง โดยสันนิษฐานว่า เจดีย์ที่วัดแห่งนี้อาจเคยได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลาย

เจดีย์ที่วัดโตนดหลาย
นิทรรศการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
ภายในพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เรียกได้ว่า จิ๋วแต่แจ๋ว แบ่งการจัดแสดงตามพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน โดยชั้นล่าง จัดแสดงประวัติศาสตร์โบราณคดีของจังหวัดชัยนาท ถ่ายทอดเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี โบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องใช้ เครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดี พระพุทธรูปสมัยต่างๆ โบราณวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เช่น ตู้พระธรรม เครื่องบริขารถมปัด ประติมากรรมและเครื่องถ้วยในศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ และศิลปะจีน



พระพิมพ์ หาชมยาก (ชั้นสอง)
ชั้นสอง ถือเป็นจุดเด่นอันซีนชัยนาท ที่ไม่ควรพลาดชม มีการจัดแสดงพระพิมพ์ตั้งแต่พระพิมพ์ในศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ แม่พิมพ์พระพิมพ์ แผงพระพิมพ์ไม้ และพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก

พระพิมพ์ หาชมยาก (ชั้นสอง)
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญระดับชาติ
ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยที่มีส่วนผสมของศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 20 - 21 หรือ “หลวงพ่อเพชร” ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งพระชัยนาทมุนีมอบให้พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ

พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว พระโอษฐ์มีริ้วหยักเป็นคลื่น ประทับนั่งขัดสมาธิ โดยการไขว้พระชงฆ์ตัดกันชัดเจนจนเกือบเป็นรูปกากบาท และมีพระบาทอวบอ้วนวางเหนือพระเพลาอย่างเด่นชัด นับเป็นพระพุทธรูปสำริดโบราณที่มีลักษณะนี้เพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย

ดังนั้น หากมีโอกาสมาเยือนจังหวัดชัยนาท อย่าพลาดแวะมาชมความน่าตื่นตาตื่นใจของแหล่งศิลปวัตถุโบราณ ที่สะท้อนภาพความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมในดินแดนลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

พระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อเพชร)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
หมู่ 6 ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
วันทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ 09.00-16.00 น. (หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท, ชาวต่างชาติ 50 บาท นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณรและนักบวชในศาสนาต่างๆ เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 056-405621
https://facebook.com/chainatmunimuseum


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น