xs
xsm
sm
md
lg

Golden Mermaid “เงือกทอง” หาดสมิหลา สัญลักษณ์คู่เมืองสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัปดาห์นี้ แฟนๆหนังแฟนตาซี ได้สนุกไปกับ “The Little Mermaid” ฉบับ Live Action ของค่ายดิสนีย์ที่เข้าฉายในเมืองไทยและทั่วโลก ซึ่งเมื่อพูดถึงนางเงือกในเมืองไทย หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ต้องได้รับการเอ่ยถึงเป็นลำดับต้นๆ ต้องยกให้ “รูปปั้นเงือกทอง” ที่หาดสมิหลา ประติมากรรมนางเงือกอันโด่งดังจนได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองสงขลา



เมื่อพูดถึง “นางเงือก” ตามตำนานถือว่าเป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งตามความเชื่อในนิยายปรัมปราและเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ซึ่งในตำนานและเรื่องเล่าโดยมากจะกล่าวกันว่า เงือกนั้นเป็นมนุษย์ครึ่งสัตว์ มีรูปร่างลักษณะในส่วนครึ่งท่อนบนเป็นคน และส่วนท่อนล่างเป็นปลา ซึ่งมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย

สำหรับเมืองไทย รูปปั้นนางเงือกมีอยู่หลายแห่ง แต่รูปปั้นสุดคลาสสิกที่โด่งดังมีชื่อเสียง จนกลายเป็นสัญลักษณ์คู่จังหวัดมากว่า 50 ปี ต้องยกให้ “เงือกทอง” ที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา


ประวัติของ “นางเงือกทองสงขลา” ซึ่งตั้งอยู่บนโขดหินธรรมชาติชายหาดแหลมสมิหลา เขตเทศบาลนครสงขลา เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2509 และเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2509 เป็นรูปปั้นบรอนซ์ รมดำ 

โดยความคิดริเริ่มของ นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลา ในสมัยนั้น ที่ต้องการสร้างสัญลักษณ์ทางวัตถุของเมืองสงขลาให้ผู้คนได้รู้จัก นอกเหนือสัญลักษณ์ทางธรรมชาติอย่างเกาะหนูและเกาะแมว


ในวัยเด็ก “ปลัดชาญ" มักได้ยินคุณพ่อ "ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)" นักคิด นักค้นคว้า และนักเขียนสำคัญคนหนึ่งของ ยุครัตนโกสินทร์ เล่านิยายปรัมปราเกี่ยวกับนางเงือก ไว้ว่า "ในวันดีคืนดีนางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ วันหนึ่งบังเอิญว่ามีชายชาวประมงเดินผ่านมา ทำให้นางเงือกตกใจ รีบหนีลงทะเลไปโดยลืมหวีทองคำไว้ ฝ่ายชาวประมงเห็นดังนั้นก็เก็บหวีทองคำไว้และเฝ้าคอยนางเงือกที่หาดนั้นเสมอ แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย"

ภาพ: ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม
แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าครั้งวัยเยาว์ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มสร้างรูปปั้นนางเงือก ในท่าหวีผม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสงขลา โดยใช้งบประมาณของเทศบาลจำนวน 60,000 บาท ในการสร้าง

โดยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคนสำคัญอีกท่าน คือ ศิลปินนักปั้นชั้นครู มือหนึ่งของเมืองไทยในสมัยนั้น "อาจารย์จิตร บัวบุศย์" ผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง (ผู้ที่มีผลงาน การปั้นพานรัฐธรรมนูญ บนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2483) เป็นผู้ออกแบบ หล่อและปั้นรูปนางเงือก โดยตั้งชื่อว่า “เงือกทอง” (Golden Mermaid) เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลามาจนทุกวันนี้


ทั้งนี้ นอกจากเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ แหล่งท่องเที่ยวดังคู่เมืองแล้ว ยังเคยมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับเงือกทอง นั่นคือ วันที่ 26 ธันวาคม 2561 มีเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด ทำให้หางของนางเงือกขาดเสียหาย แต่ก็มีการซ่อมแซมจนกลับมาเหมือนเดิมในเวลาอันรวดเร็ว

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น