xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้ “พระธาตุเชิงชุม” กราบ “หลวงพ่อองค์แสน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสกลนคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
สักการะ “พระธาตุเชิงชุม” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร ที่ “วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร” ไหว้หลวงพ่อองค์แสน กราบพระพุทธบาทสี่รอย

“สกลนคร” หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวของภาคอีสานตอนบน มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชน วัดวาอารามที่สำคัญ มีร้านอาหารอร่อย และคาเฟ่สุดเก๋มากมาย

และหากว่าใครจะเริ่มออกสตาร์ทเที่ยวในตัวเมืองสกลนคร แนะนำให้มาที่ “วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร” มาสักการะ “พระธาตุเชิงชุม” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร เพื่อความเป็นสิริมงคล

พระธาตุเชิงชุม
คำว่า “เชิงชุม” หมายถึง การมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่ โดย “เชิง” หมายถึง เบื้องล่าง, ตีน ส่วน “ชุม” หมายถึง ประชุม, ชุมนุม โดยรวมก็คือการมีรอยพระพุทธบาทมารวมหรือชุมนุมกันอยู่แล้ว ซึ่งที่นี่จะมีรอยพระพุทธบาทถึง 4 รอย ด้วยกัน

พระธาตุเชิงชุมสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคติการบูชารอยพระพุทธบาทผ่านตำนานอุรังคธาตุในตำนานกล่าวถึงกำเนิดพระธาตุเชิงชุมไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธองค์พร้อมพระอรหันต์ ได้เสด็จโปรดสัตว์และประทับรอยพระพุทธบาทตามสถานที่ต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงแล้วได้เสด็จมายังเมืองหนองหารหลวงซึ่งสันนิษฐานว่าคือเมืองสกลนคร ณ สถานที่แห่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาททับซ้อนลงบนรอยพระพุทธบาทของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า ที่ได้เคยเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้แล้วในบริเวณที่ เรียกว่า "ภูน้ำลอด" ซึ่งสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ตั้งของพระธาตุเชิงชุมในปัจจุบัน พระยาสุวรรณกิงคารผู้ครองเมืองหนองหารหลวงจึงโปรดให้ก่ออบมุง (อุโมงค์) ครอบรอยพระบาทดังกล่าวไว้ จึงเป็นที่มาของนาม "พระธาตุเชิงชุม"

ปราสาทเขมรองค์เดิม

จารึกอักษรขอมโบราณ
สำหรับองค์พระธาตุเชิงชุมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นปราสาทเขมรที่ก่อด้วยศิลาแลง โดยพบหลักฐานเป็นจารึกอักษรขอมโบราณ บริเวณกรอบประตูทางด้านทิศตะวันออก เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงการอุทิศที่ดินและสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่เทวสถาน กำหนดอายุสมัยจากอักษรได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 สอดคล้องกับสถานที่ตั้งองค์พระธาตุที่ตั้งภายในแนวกำแพงเมืองคูเมืองสกลนครซึ่งมีรูปทรงคล้ายรูปสีเหลี่ยมจัตุรัสซึ่งเป็นคติการสร้างบ้านเมืองแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานด้านในปราสาทองค์เดิม

พระธาตุเชิงชุม ศิลปะล้านช้าง
ต่อมา จึงมีการก่อสร้างพระธาตุเชิงชุมขึ้นใหม่ ครอบทับไปบนปราสาทเดิม ลักษณะเป็นเจดีย์แบบล้านช้าง เนื่องด้วยอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยราวพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่ ส่วนยอดของเจดีย์คล้ายบัวเหลี่ยมไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง 24 เมตร

หลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม (ด้านหน้า) หลวงพ่อองค์แสนใหม่ (ด้านหลัง)
ส่วนภายในวิหารที่ติดกับพระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์แสน” พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน ซึ่งหากว่าได้เข้าไปสักการะองค์หลวงพ่อด้านในวิหารจะเห็นว่ามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 2 องค์ ด้านหน้านั้นคือหลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม ส่วนด้านหลังคือหลวงพ่อองค์แสนที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่จะทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่ เมื่อสร้างหลวงพ่อองค์แสนองค์ใหม่ ประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังแล้ว ก็จะมีการทุบหลวงพ่อองค์เดิมทิ้ง แต่เกิดปาฏิหาริย์ ทำให้ไม่สามารถทุบทิ้งได้ ในเวลาต่อมาจึงประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนทั้งสององค์ไว้ในลักษณะเดิม

ถัดจากวิหาร เป็น “พระอุโบสถ” (หลังใหม่) ด้านในประดิษฐานพระประธาน และมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก

พระอุโบสถหลังใหม่

ด้านในพระอุโบสถหลังใหม่
ส่วน “พระอุโบสถหลังเดิม” (สิมเก่า) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยขุนอร่ามรัษฎากร (เรือง สุคนธชาติ) ขุนสมบัติไพศาล (สา นวลมณี) ข้าราชการทั้งสองท่านพร้อมด้วยคณะญาติได้ว่าจ้างช่างชาวญวนก่อสร้างขึ้น สิมมีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างพื้นถิ่นอีสานและสถาปัตยกรรมตะวันตก

ลักษณะเป็นสิมโถง ขนาด 3 ห้อง ก่ออิฐถือปูน ผังอาคารอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่วไม่ซ้อนชั้นมุงด้วยกระเบื้องไม้ (แปันเกล็ด) หันหน้าไปทางทิศใต้ ด้านหน้าอาคารมีระเบียงยื่นออกมาก่อนถึงประตูทางเข้าสิม หน้าบันด้านนอกเขียนภาพจิตรกรรมหน้ากาลรูปร่างคล้ายมังกรกำลังคายวงโค้ง ถัดลงมาเป็นภาพดอกไม้ ขนาบข้างด้วยเทพธิดายืนบนดอกบัว และเทวดาเหาะ ด้านบนสุดของหน้าบันตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา ภายในสิมประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ประทับบนฐานชุกซีขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปประทับยืน 2 องค์

พระอุโบสถหลังเดิม

พระพุทธบาทสี่รอย
นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถเก่ายังเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธบาทสี่รอย” ลักษณะรอยพระพุทธบาทจำลองสลักจากหินทรายปิดทองเป็นรอยพระบาทข้างขวา ขอบด้านนอกของรอยพระพุทธบาทซ้อนลดหสั่นกัน 3 ชั้น หมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า 3 พระองค์ ส่วนของ รอยพระบาทข้างขวาขนาดใหญ่ที่ปรากฎหมายถึงรอยพระบาทของ พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
นอกจากพระธาตุเชิงชุม หลวงพ่อองค์แสน และพระพุทธบาทสี่รอยแล้ว ก็ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งภายในวัด นั่นก็คือ “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่อยู่ใกล้ๆ กับองค์พระธาตุ เป็นบ่อน้ำที่มีมาพร้อมองค์พระธาตุเชิงชุม เดิมมีน้ำพุผุดขึ้นมาเนื่องจากเป็นปลายทางของลำน้ำใต้ดินซึ่งไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ผ่านศูนย์ราชการด้านทิศเหนือ ผ่านใจกลางเมืองข้างวัดเหนือ แล้วไหลมาผุดที่นี่ เรียกว่า ภูน้ำซอด หรือ ภูน้ำลอด แล้วไหลผ่านไปที่สระพังทอง ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ซึ่งอยู่ติดกับวัด เมื่อน้ำน้อยลงเรื่อย ๆ จึงได้มีการทำผนังกั้นไม่ให้ดินพังลงไป ต่อมามีการบูรณะและสร้างเป็นรูปปั้นพญานาคพ่นน้ำบริเวณรอบบ่อ เพื่อเป็นรูปแทนพระยาสุวรรณนาค พญานาคตามความเชื่อของชาวสกลนคร ที่เป็นนาคผู้ทรงคุณธรรม ทรงศีล และอิทธิฤทธิ์ มีเกล็ดเป็นทองคำ ทำหน้าที่คอยปกป้องและรักษารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น