xs
xsm
sm
md
lg

โนราโรงครู วัดท่าแค ในวันที่ศรัทธายังเนืองแน่น และสถานะความเป็นมรดกโลกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสียงขับขานบทเพลงภาษาถิ่นดังกังวานภายในซุ้มโรงพิธีโนรา ผสานคลอไปกับเสียงทับ (โทน) กลอง ปี่ ฉิ่ง เพิ่มจังหวะอึกทึกพร้อมไปกับการร่ายรำของเหล่าโนราชายหญิงในชุดลูกปัดเลื่อมลายสะบัดพลิ้วสีสันสดใส สลับเปลี่ยนไปกับผู้สวมหน้ากากตาพรานบุญแดงแปร๊ดที่ออกท่าทางชูไม้ชูมืออย่างสนุกสนานจนคล้ายเป็นความโกลาหลเล็กๆ แต่ทว่าเรื่องราวเบื้องหน้าเปี่ยมด้วยความเชื่อและความศรัทธาในทุกอณู


บรรยากาศการแก้บน โนราโรงครู
พิธีกรรม “โนราโรงครู” วัดท่าแค จังหวัดพัทลุง การสืบสานพิธีกรรมรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษครูหมอโนรา ยังคงเต็มไปด้วยแรงศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศ จัดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือน 6 (เดือนไทย) โดยปีนี้เพิ่งจัดไประหว่างวันที่ 3-6 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

วัดท่าแค ศูนย์กลางงานโนราโรงครูของภาคใต้ เป็นดังศูนย์รวมศรัทธาของคนโนรา เพราะเชื่อกันว่าวัดท่าแคเป็นต้นกำเนิดของพิธีโนราโรงครู โดยข้อสันนิษฐานจากบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของ“ขุนศรีศรัทธา”ปรมาจารย์โนรา ที่เดินทางมาขึ้นแพที่ท่าแพหน้าวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น“ท่าแค”จนถึงปัจจุบัน

รูปเคารพขุนศรีศรัทธา
โนราโรงครูวัดท่าแค ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มเล่นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่เริ่มจัดเป็นประเพณีใหญ่ชัดเจนนั้นระบุว่าเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งในปีนั้น “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัทพร” ได้สร้างรูปเคารพขุนศรีศรัทธา และพรานบุญขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพบูชาของคนโนราและชาวบ้านผู้นับถือ ด้วยเชื่อว่าขุนศรีศรัทธาท่านเป็นครูโนราคนแรก จึงจัดให้มีโนราโรงครูขึ้นที่วัดท่าแค

เกรียงเดช นวลระหงส์
เรื่องเล่าจากนายโรงโนรา แห่งวัดท่าแค
เกรียงเดช ขำณรงค์ หรือชื่อในวงการ “เกรียงเดช นวลระหงส์” เจ้าของคณะอันโด่งดังแห่งภาคใต้ ผู้ทำหน้าที่เป็นนายโรงโนรา และเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ 3 วัน 3 คืน

“จุดประสงค์ของการเกิดโนราโรงครู เพื่อบูชาครู เพื่อแก้บน ตัดจุก ผูกผ้าคนที่จะเป็นโนราใหญ่ โรงครูที่นี่เกิดด้วยจุดประสงค์เหล่านี้ และยังเป็นการเล่นบูชาพ่อขุนศรีศรัทธา ผู้ให้กำเนิดโนรา” เกรียงเดช เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของที่มาในพิธีอันเข้มขลัง พลางอธิบายว่าการแก้บนในโรงครู เสมือนการไปขอครูหมอตายายโนรา การมาแก้บนจึงเป็นการลบล้างมลทินกายมลทินใจ สิ่งที่ได้ให้สัญญาไว้จะได้ไม่เป็นเภทภัย

การไม่มาแก้บน ถ้าไม่ได้ติดเหมฺรฺย (สินบนที่สัญญาไว้) ถือว่าไม่ได้เป็นพันธะสัญญาที่จะทำให้เกิดเภทภัย แต่ที่สุดแล้วการที่เดินทางมาพิธี ก็เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์และครูหมอตายาย เพราะความกตัญญูย่อมส่งผลดีๆกลับคืนสู่ตนเอง


“หัวใจของการเล่นโรงครู ต้องมีการร่าย 12 คำพรัด หรือ กลอน 12 ข้อ ที่แฝงไปด้วยคำสอนของศาสนา การรำ 12 เพลง โดยหนึ่งใน 12 เพลง เป็นเพลงครู ซึ่งถือเป็นท่ารำสูงสุดของโนรา และมีการเล่น 12 เรื่อง เป็นวรรณคดีไทย มีตั้งแต่พระสุธน-มโนราห์ พระรถเมรี ไปจนถึงไกรทอง เป็นต้น”

วรรณคดีที่เลือกมาเล่นมีความสอดคล้องกับพิธีกรรม เช่น พระสุธน มโนราห์ เป็นการคล้องหงส์ หรือไกรทอง เป็นการแทงจระเข้ อันเป็นพิธีกรรมที่ประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งภูมิปัญญา มีทั้งศิลปะ มีทั้งการใช้พระเวท เป็นทั้งความเชื่อ วิถีชีวิต เรื่องการสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์ลอยโศก

จระเข้จำลอง สำหรับพิธีแทงเข้
โดยพิธีกรรมแทงจระเข้ มีความเชื่อว่าจระเข้ (ชาละวัน) เป็นตัวแทนของสิ่งไม่ดี มีการสร้างตัวจระเข้จำลองทำจากต้นกล้วยพังลาหรือกล้วยตานี ปรากฏตั้งเด่นไว้หน้าลานโรงโนราให้ผู้คนทำบุญนำเงิน ข้าวของ มาใส่ไว้ในปากจระเข้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เพราะเมื่อจระเข้ถูกแทงตายจะนำไปลอยน้ำ ทุกข์โศก โชคร้ายก็จะให้ลอยไปพร้อมๆกับจระเข้

บรรยากาศการแก้บน โนราโรงครู
บรรยากาศงานโนราโรงครูในปีล่าสุด ยังเนืองแน่นไปด้วยผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ แม้อากาศแสนอบอ้าวจนเหงื่อชุ่มแผ่นหลัง แต่ก็ไม่ทำให้ผู้คนที่รอคอยมาแก้บน หรือชมพิธีล่าถอย สื่อถึงความศรัทธาที่ยังเข้มข้น โดยมีเกรียงเดชเป็นหนึ่งในผู้เป็นแกนกลางสำคัญของพิธีกรรม


นายโรงโนราแห่งวัดท่าแค กล่าวว่าโนรา ไม่เพียงเป็นความผูกพันกับวิถีชีวิตเท่านั้น แต่เป็นวิถีชีวิตของคนใต้ ที่สอนคนตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าเป็นหมอโนราสามารถประกอบพิธีกรรมความเชื่อได้ ไม่ว่าจะทำเกิด เอาเด็กขึ้นเปล ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ถ้าหมอศาสตร์อื่น ไม่สามารถมาทำศาสตร์โนราได้ แต่คนที่เป็นศาสตร์โนรา มีสิทธิ์กระทำได้ทุกแขนงที่เป็นความเชื่อผูกพันกับวิถีชีวิตคนใต้


ความเปลี่ยนแปลงหลังการรับรองจากยูเนสโก
ปลายปี พ.ศ. 2564 นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดของโนรา เมื่อศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ กลายเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่รับรองโดยองค์การยูเนสโก ในนาม “Nora, Dance Drama in Southern Thailand” บัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)

บรรยากาศการแก้บน โนราโรงครู


“ผมมองว่าการประกาศรับรองจากยูเนสโก ไม่ได้มีกฎอะไรที่ทำให้เราอึดอัดใจ เพราะเราต้องการเดินไปจุดนั้นอยู่แล้ว เราทำไปด้วยความศรัทธา แม้วันหนึ่งไม่มีใครสนใจโนรา เราก็ยังยึดมั่นที่จะขับเคลื่อนต่อไป การประกาศจากยูเนสโก จึงเป็นแรงกระตุ้นและใบเบิกทางให้ง่ายต่อการเพิ่มพื้นที่ของโนรา ขยายวัฒนธรรม เพื่อเอาสิ่งดีๆที่แฝงอยู่ในโนรา กระจายไปสู่สังคม จะได้เป็นผลสะท้อนย้อนกลับมาสู่การสนับสนุนของสังคม” เกรียงเดชให้ความเห็น


โนราใหญ่กล่าวต่อไปว่า ต้องเริ่มที่ตัวเอง ของดีของเราให้คนนอกมาหาเป็นเรื่องยาก แต่เราต้องพยายามผลักดันไปให้คนอื่นเห็น ว่าเรามีสินค้าดีอยู่แล้ว แต่วันนี้ขายอยู่ในตลาดนัด เราต้องสร้างแพ็คเกจไปวางในห้างให้ได้

“ผมถือเป็นช่วงเวลาที่เราต้องขับเคลื่อน ไม่เช่นนั้นเสียโอกาส รู้สึกว่า ถ้าโนราเป็นที่ดินผืนหนึ่ง แม้ใช้ทำกินสร้างประโยชน์ได้ แต่เมื่อก่อนไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นถ้าโนราเป็นที่ดิน การประกาศยูเนสโก ก็เหมือนการออกโฉนดให้”

บรรยากาศการแก้บน โนราโรงครู
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น