xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก “หลินฮุ่ย” กับ 9 เรื่องน่ารู้ ก่อนปิดตำนานแพนด้าในเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


หลินฮุ่ย หนึ่งในแพนด้าในตำนานของไทย จากไปด้วยวัย 21 ปี
ย้อนรำลึก “หลินฮุ่ย” ผู้ล่วงลับในหลากหลายแง่มุม กับชีวิตร่วม 20 ปีในสวนสัตว์เชียงใหม่ที่สร้างสีสันความน่ารัก รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ก่อนปิดตำนานแพนด้าเมืองไทยไปด้วยความเศร้าและอาลัย

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของเมืองไทย ต่อการจากไปของ “หลินฮุ่ย” หมีแพนด้าเพศเมียขวัญใจชาวไทย โดยหลินฮุ่ย (และช่วง ช่วง) เป็นหมี “แพนด้ายักษ์” (Giant Panda, Ailuropoda melanoleuca) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรูปร่างคล้ายหมี และจัดอยู่ในวงศ์ของหมี แต่พฤติกรรมของมันกลับแตกต่างจากหมีโดยสิ้นเชิง

แพนด้ายักษ์มีหัวใหญ่ จมูกสั้น ขนทั้งตัวเป็นสีขาว ส่วนรอบ ๆ ตาทั้งสองข้าง หู ไหล่ รวมทั้ง ขาหน้า ขาหน้าทั้ง 2 ข้างและ 2 ขาหลัง ตลอดจนหัวไหล่จะมีสีดำ เท้าหน้ามี 6 นิ้ว พร้อมที่จะกางกว้างออกเมื่อปะทะกัน หรือปีนป่ายต้นไม้

ไผ่อาหารสำคัญของแพนด้ายักษ์
แพนด้ายักษ์เป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร โดยอาหารของมัน 99% คือ ไผ่ ส่วนที่เหลือบางทีอาจเป็นพวก ไข่ ปลา และแมลงบางชนิดในไม้ไผ่ที่มันกิน

หมีแพนด้านับเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่หายาก ปัจจุบันมีถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งจากการประเมินตามหลักวิชาการในปี 2543 คาดว่า โลกนี้มีแพนด้ายักษ์ประมาณ 2 พัน-3 พันตัว ถือเป็นสถานการณ์ของหมีแพนด้าที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนขึ้น

แพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการทูตของเมืองจีน โดยทางการจีนได้ส่งแพนด้ายักษ์ไปยังสวนสัตว์บางประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนและชาตินั้น ๆ ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้จึงมีการเรียกขานแพนด้าที่ส่งออกจากจีนไปให้ประเทศต่าง ๆ ว่า “ทูตสันถวไมตรี

แพนด้ายักษ์ สัตว์ที่มาสร้างสีสันและรายได้ให้กับจังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา จีนได้ยกเลิกการให้หมีแพนด้าเป็นทูตสันถวไมตรี หากแต่เปลี่ยนมาใช้วิธีการให้ยืมเป็นเวลา 10 ปี พร้อม ๆ กับการจ่ายธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ และมีข้อกำหนดว่า “ลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน”

สำหรับหลินฮุ่ย (และช่วง ช่วง) ถือเป็นหมีแพนด้าคู่แรกที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการขอแพนด้ายักษ์ 1 คู่ จากประเทศจีนไปตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งทางการจีนได้ส่งหมีแพนด้ามายังเมืองไทยในปี 2546

หลินฮุ่ยแม้จากไป แต่ยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยจำนวนมาก
และเพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของ “หลินฮุ่ย” เราขอนำ 9 เรื่องราวแห่งความทรงจำในหลากหลายแง่มุมของหลินฮุ่ยและช่วง ช่วง แพนด้าคู่แรกและคู่เดียวในมาย้อนรำลึกกัน หลังคู่แพนด้าขวัญใจชาวไทยต่างลาลับเดินทางกลับดาวแพนด้าไป

1.บ้านเกิด-พ่อ แม่ : หลินฮุ่ย (ภาษาจีน: 林惠, Lin Hui) เป็นแพนด้ายักษ์เพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน หลินฮุ่ยเกิดจาพ่อหมีแพนด้าชื่อ “Pan Pan” (พ่าน พ่าน) และแม่หมีแพนด้าชื่อ “Tang Tang” (ถัง ถัง)

2.ทูตสันถวไมตรี : หลินฮุ่ยและช่วง ช่วงเดินทางมาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหลินฮุ่ยมีอายุได้ราว 2 ขวบ ส่วนช่วง ช่วง มีอายุได้ราว 3 ขวบ

ส่วนจัดแสดงแพนด้า สวนสัตว์เชียงใหม่
3.แพนด้าคู่แรกในเมืองไทย : หลิน ฮุ่ย-ช่วง ช่วง ถือเป็นแพนด้าคู่แรกในเมืองไทย และเป็นแพนด้าคู่สุดท้ายที่ประเทศจีนอนุมัติให้ออกนอกประเทศโดยก่อนหน้านี้มีแพนด้าอยู่ในประเทศต่าง ๆ เพียง 5 ประเทศเท่านั้น

4.แพนด้าฟีเวอร์ : เมื่อคู่หมีแพนด้ายักษ์ หลินฮุ่ย และช่วง เดินทางจากประเทศจีนมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทยได้มีพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะนำแพนด้าทั้งคู่ไปเลี้ยงดูแลที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งหลังจากนั้นได้เกิดปรากฏการณ์กระแสแพนด้าฟีเวอร์ขึ้นในเมืองไทยอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

แพนด้าหนึ่งในมาสคอตของสวนสัตว์เชียงใหม่ (ภาพจาก : เพจ สวนสัตว์เชียงใหม่ Chiang Mai Zoo)
5.ชื่อไทย : หลินฮุ่ย มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า “เทวี” และมีชื่อล้านนาว่า “คำเอื้อย” ส่วนช่วง ช่วง มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า “เทวัญ” และชื่อล้านนาว่า “คำอ้าย” แต่คนก็นิยมเรียกแพนด้าทั้ง 2 ตามชื่อดั้งเดิมในภาษาจีน

6.โลโก้สวนสัตว์ : หลังแพนด้าทั้ง 2 มาอยู่ที่เมืองไทยจนเกิดปรากฏการณ์แพนด้าฟีเวอร์ ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ก็ได้นำรูปหมีแพนด้ามาเป็นโลโก้ของสวนสัตว์ รวมถึงเป็นหนึ่งในมาสคอตของสวนสัตว์เชียงใหม่

หลินปิง ลูกสาวหลินฮุ่ย
7.แพนด้าบุคลิกภาพยอดเยี่ยม : หลินฮุ่ยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองแดง ประเภทแพนด้าบุคลิกภาพยอดเยี่ยม จากการโหวตของแฟนคลับทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ Giant Panda Zoo.com

8.แม่ของหลินปิง : หลินฮุ่ยมีลูกสาวชื่อ “หลินปิง” (เพศเมีย) ที่ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2552 โดยกรรมวิธีผสมเทียม จากน้ำเชื้อของช่วง ช่วง ที่อยู่ด้วยกันมากว่า 5 ปี โดยชื่อหลินปิงมาจากการประกวดตั้งชื่อลูกแพนด้า

หลินปิงถือนอกจากจะเป็นแพนด้ายักษ์ตัวประวัติศาสตร์ที่เกิดในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นแพนด้ายักษ์ตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตร ในเดือนนอกฤดูผสมพันธุ์ของหมีแพนด้าอีกด้วย

งานฉลองวันเกิด 21 ปี ของหลินฮุ่ย
อย่างไรก็ดีตามกฎการให้ยืมแพนด้าของจีนเราจึงต้องส่งหลินปิงกลับคืนสู่เมืองจีนที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองเฉิงตู เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2556

ปัจจุบันหลินปิง ลูกแม่หลินฮุ่ยและพ่อช่วง ช่วง ได้กลายเป็นคุณแม่ลูกแฝด แห่งศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ไปเรียบร้อยแล้ว

9.ปิดตำนานแพนด้าในไทย : เช้าวันที่ 19 เมษายน 2566 ชาวไทยต้องพบกับข่าวเศร้าต่อการจากไปของหลินฮุ่ย ซึ่งเบื้องต้นสวนสัตว์เชียงใหม่แถลงว่าเป็นการจากไปตามอายุขัยด้วยวัย 21 ปี หลังจากหลินฮุ่ยอยู่สร้างสีสัน ความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ให้คนไทยมาร่วม 20 ปีเป็นการปิดตำนานแพนด้าที่หลงเหลืออยู่ตัวสุดท้ายในเมืองไทยไปด้วยความเศร้าและอาลัย

อย่างไรก็ดีแม้ว่าวันนี้ ทั้งช่วง ช่วง และหลินฮุ่ย จะลาลับเดินทางกลับสู่ดาวหมี แต่ว่าเรื่องราวของทั้งคู่กับตำนานหมีแพนด้าในเมืองไทยคงอยู่ในใจของคนไทยส่วนใหญ่ไปอีกนานเท่านาน

ช่วง ช่วง (ซ้าย) หลินฮุ่ย (ขวา) 2 แพนด้าขวัญใจชาวไทยผู็ล่วงลับ




กำลังโหลดความคิดเห็น