นับเป็นข่าวเศร้าของคนรักแพนด้า เมื่อมีรายงานว่า "หลินฮุ่ย" แพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ตายลงแล้วเมื่อวานนี้ (18 เม.ย. 66) ซึ่งการตายของหลินฮุ่ย ถือเป็นการปิดตำนานแพนด้าตัวสุดท้ายของเมืองไทย ที่เดินทางมาในฐานะทูตสันถวไมตรี ระหว่างไทย-จีน
วันนี้ชวนคุณมา ย้อนรอยเรื่องราวของ “แพนด้า” ในเมืองไทยกันสักหน่อย
ทูตสันถวไมตรี และประวัติของ “แพนด้า” เมืองไทย
แพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการทูตของเมืองจีน มีบันทึกตั้งแต่สมัยจักรพรรดินีบูเช็กเทียน ว่ามีการส่งแพนด้าคู่หนึ่งไปญี่ปุ่น และตั้งแต่ปลายยุค 50 เป็นต้นมา ทางการจีนส่งแพนด้ายักษ์ไปยังสวนสัตว์หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส ฯลฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนและชาตินั้นๆ ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้จึงมีการเรียกขานแพนด้าส่งออกจากจีนไปให้ประเทศต่างๆว่า “ทูตสันถวไมตรี”
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา จีนยกเลิกการให้หมีแพนด้าเป็นทูตสันถวไมตรี แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีการให้ยืมเป็นเวลา 10 ปี พร้อมกับการจ่ายธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีข้อกำหนดว่า “ลูกของแพนด้ายักษ์ใดๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน”
จุดเริ่มต้น แพนด้าในเมืองไทย เกิดจากโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 โดยย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2544 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เดินทางไปราชการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เจรจาขอแพนด้าจากประธานาธิบดีเจียง เจ๋อ หมิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ ไมตรีระหว่างประเทศ
ต่อมาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แจ้งว่า รัฐบาลจีนยินดีมอบแพนด้า 1 คู่ให้ประเทศไทย และนั่นก็เป็นปฐมบทแพนด้าคู่แรกที่มาอาศัยบนแผ่นดินสยาม
“ช่วงช่วง - หลินฮุ่ย" ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก
การเดินทางของแพนด้าคู่แรกจากแดนมังกรสู่ถิ่นล้านนา (เชียงใหม่) สร้างปรากฏการณ์ความสนใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมากในเดือนตุลาคม ปี 2546 โดยแพนด้าคู่แรกนั้น มีนามว่า “ช่วงช่วง” กับ “หลินฮุ่ย” ถือเป็นแพนด้าคู่แรกในเมืองไทย และเป็นแพนด้าคู่สุดท้ายที่ประเทศจีนอนุมัติให้ออกนอกประเทศ โดยขณะนั้นนี้มีแพนด้าอยู่ในประเทศต่างๆ เพียง 5 ประเทศเท่านั้น
“ช่วงช่วง" (ภาษาจีน: 创创, ShuangShuang) แพนด้ายักษ์เพศผู้ คู่กับ “หลินฮุ่ย” (ภาษาจีน: 林惠, Lin Hui) แพนด้ายักษ์เพศเมีย ทั้งคู่เกิดที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู ซึ่งทางการจีนส่งมาให้ประเทศไทยรูปแบบยืมจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เป็นเวลา 10 ปี (และมีการต่อสัญญาเมื่อครบวาระ) โดยจัดแสดงคู่กัน นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังมีชื่อแบบล้านนาว่า คำอ้าย กับ คำเอื้อย อีกด้วย
แพนด้าคู่แรกเริ่มต้นใช้ชีวิตในเมืองไทย ในวันที่ 12 ต.ค. 2546 มาถึงจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการสร้างสถานที่พักและส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าในพื้นที่ 4 ไร่ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พ.ย. 2546 หลังจากนั้นได้เกิดปรากฏการณ์กระแสแพนด้าฟีเวอร์ขึ้นในเมืองไทย เป็นที่กล่าวถึงกันไปทั่ว ถึงขั้นมีการเปิดช่องถ่ายทอดชีวิตแพนด้าให้ชมกันได้แบบ 24 ชั่วโมง
โดยสถิติผู้เข้าชม (ถึงเดือนสิงหาคม 2565) ส่วนจัดแสดงแพนด้าต้อนรับผู้มาเยือนไปแล้วกว่า 7 ล้านคน
“หลินปิง” แพนด้าตัวที่สามของไทย
หลังจากแพนด้าคู่แรกมาอยู่ในเมืองไทยได้ช่วงหนึ่ง สร้างรายได้เม็ดเงินทางการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดเชียงใหม่ได้ไม่น้อย แต่กระแสก็เริ่มซาไปตามยุค จนกระทั่งในปี 2552 เรื่องราวของแพนด้า ก็ตกเป็นกระแสข่าวฮือฮาอีกครั้งเนื่องจาก “หลินฮุ่ย” ตั้งท้องด้วยวิธีผสมเทียมของนักวิจัยไทย โดยใช้น้ำเชื้อของช่วงช่วง
หลินฮุ่ย ได้ให้กำเนิดแพนด้าน้อยเพศเมียจำนวน 1 ตัว ใน วันที่ 27 พ.ค. 2552 ซึ่งต่อมาได้มีการประกวดตั้งชื่อลูกแพนด้าตัวนี้ว่า “หลินปิง” ซึ่งนอกจากจะเป็นแพนด้ายักษ์ตัวประวัติศาสตร์ที่เกิดในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นแพนด้ายักษ์ตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตร ในเดือนนอกฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้าอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อกำหนดจากทางการจีน สาวน้อยหลินปิง ก็อยู่ในเมืองไทยเพียงประมาณ 4 ปี จึงถูกส่งกลับคืนสู่เมืองจีน ไปยังศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองเฉิงตู เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2556 ซึ่งปัจจุบัน หลินปิง ยังมีชีวิตอยู่และกลายเป็นแม่แพนด้าไปแล้ว
ความสูญเสียครั้งที่หนึ่ง
ข่าวร้ายครั้งแรกของคนรักแพนด้า เกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 16 ก.ย. 2562 มีการตรวจสอบจากกล้องวงจรปิด พบว่า ช่วงช่วง ได้มานั่งกินไม้ไผ่อยู่ จากนั้นลุกเดินไปเดินมา และเริ่มเดินเซจนล้มลง จากนั้นมันก็ตายจากไป โดยผลการชันสูตรและวินิจฉัยโรคของคณะผู้เชี่ยวชาญไทย-จีน พบว่าสาเหตุเนื่องมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้อวัยวะภายในทั่วร่างกายขาดออกซิเจน และตายลงในวัย 19 ปี
ปิดตำนานแพนด้าตัวสุดท้ายของเมืองไทย
ในวันที่ 18 เม.ย. 2566 ชาวไทยก็ต้องพบกับข่าวร้ายเกี่ยวกับแพนด้าอีกครั้ง เมื่อ “หลินฮุ่ย” เริ่มมีอาการป่วย และตายลงในวัย 21 ปี (ตายลงตามอายุขัย) ถือเป็นการปิดตำนานแพนด้าที่หลงเหลืออยู่ตัวสุดท้ายในเมืองไทย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline