xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง! “นาก” 5 จว.อันดามันถูกคุกคามหนัก หลังคนนิยมนำไปเลี้ยงตามกระแสสื่อโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


นากแม้ดูน่ารักแต่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง ใครครอบครองมีความผิดตาม กม. (ภาพ : เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ผลวิจัยระบุ “นาก” ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง พร้อมเผยภัยคุกคามนากใน 5 จังหวัดอันดามัน พบภัยคุกคามที่ต้องเร่งจัดการ คือคนนิยมนำไปเลี้ยงตามกระแสสื่อโซเชียล ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขาย เลี้ยง เสี่ยงโดนคุก

นากเป็นสัตว์นักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ออกลูกครั้งละ 3-4 ตัว ธรรมชาติของนากมีทั้งที่รวมกลุ่มกันเป็นฝูงและอยู่ตัวเดียว พบได้บ่อยในพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะป่าชายเลนทางภาคใต้ของไทย

ในประเทศไทยพบนาก 4 ชนิด ได้แก่ นากเล็กเล็บสั้น นากใหญ่ขนเรียบ นากจมูกขน และนากใหญ่ธรรมดา

นากไม่ใช่สัตว์เลี้ยง นากอาบแดดที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโตนงาช้าง (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
นาก จะเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในธรรมชาติ การนำมาเลี้ยงโดยไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพของนากและเลี้ยงเหมือนสัตว์เลี้ยงอื่นๆ (เลี้ยงในกรง) อาจทำให้นากอายุสั้น และไม่ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อๆ ไป หรือพอเลี้ยงโตแล้วนำไปปล่อยก็มีโอกาสรอดยากและเสี่ยงต่อการนำโรคไปสู่นากในธรรมชาติ

ผศ. ดร. นฤมล ตันติพิษณุ และนายอนุชา ขำจริง นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทำวิจัยในโครงการประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ฝั่งอันดามัน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล

ปัจจุบันนากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ทั้งนี้จากผลการวิจัยในพบว่า คนกับนากอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต คนส่วนใหญ่ในพื้นที่รู้จักนากและมีทัศนคติที่ดี เข้าใจธรรมชาติของนากที่เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง ซึ่งในภาคใต้ฝั่งอันดามันมีป่าชายเลนผืนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้มีอาหารในธรรมชาติเพียงพอสำหรับนาก จึงไม่ค่อยมีปัญหาความขัดแย้งกับคน แต่กิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การขยายพื้นที่ทำประมง บ่อปลา บ่อกุ้ง รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนมีพื้นที่ลดลงหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของนาก ทำให้นากออกมาหาอาหารนอกพื้นที่และเกิดความขัดแย้งกับคน

“ปัญหาความขัดแย้งนี้ยังไม่รุนแรงนัก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นธรรมชาติของนากและไม่ได้รบกวนบ่อยจนกระทบรายได้ มีเพียงหาวิธีป้องกันเพื่อช่วยให้นากลงกินสัตว์เลี้ยงได้น้อยลง” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

นากเล็กเล็บสั้น นาก 1 ใน 4 ชนิดที่พบในไทย (ภาพ : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division)
ด้าน นายอนุชา กล่าวว่า “จากการสำรวจในระหว่าง พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2564 พบว่า มีนากมากกว่า 67 ตัวถูกนำมาเลี้ยง มีนากอย่างน้อย 7 ตัวที่โดนฆ่าเพื่อนำมาประกอบอาหาร อย่างน้อย 4 ตัวที่โดนฆ่าเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งกับมนุษย์ อย่างน้อย 7 ตัวที่ตายจากการโดนสุนัขกัด และอย่างน้อย 3 ตัวที่ตายจากการโดนรถชน ซึ่งการลดจำนวนนากจากประชากรหลักในธรรมชาติด้วยภัยคุกคามเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้จำนวนนากในธรรมชาติลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับท้องถิ่น”

นักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า จากเดิมที่การเลี้ยงนากเกิดจากชาวบ้านไปเจอลูกนากอยู่ลำพังและกลัวจะมีสัตว์อื่นมาทำร้ายเลยนำกลับไปเลี้ยง หรือบางครั้งไปพบนากได้รับบาดเจ็บจึงนำกลับมารักษา แต่จากกระแสความนิยมเลี้ยงนากในปัจจุบัน รวมถึงคลิปที่โชว์ความน่ารักของนากผ่านสื่อโซเชียล กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจเลี้ยงนากมากขึ้น เริ่มมีการจับนากจากพื้นที่ธรรมชาตินำมาขายให้กับคนในพื้นที่และคนนอก โดยเฉพาะนากเล็กเล็บสั้น ซึ่งเมื่อย้อนไปในช่วงก่อนหน้าจะพบว่านากถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558-2562 มีนาก 179 ตัวถูกนำมาเลี้ยง และในปี 2553-2557 มีนาก 118 ตัวถูกนำมาเลี้ยง

นากใหญ่ขนเรียบ นาก 1 ใน 4 ชนิดที่พบในไทย (ภาพ : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division)
“บางคนเห็นจากคลิปก็คิดว่านากน่ารักจึงอยากเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่คนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงนากคือ เมื่อนากโตขึ้นก็ไม่ได้น่ารักเหมือนลูกนาก นอกจากนี้อาหารที่คนเลี้ยงให้ ยังไม่ใช่ปลา ปู หรือกุ้งสดๆ แต่กลับเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป เช่น ข้าว ไข่ทอด ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก อาหารคน อาหารแมว ซึ่งนอกจากจะทำให้อ้วนเกินไปแล้ว ยังทำให้นากมีอายุสั้น และนากที่นำมาเลี้ยงไม่สามารถขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ ส่งผลให้จำนวนประชากรนากในธรรมชาติลดลง เพราะนากที่นำมาเลี้ยงทั้งหมดล้วนลักลอบนำออกมาจากพื้นที่ธรรมชาติ” นายอนุชา กล่าว

นากใหญ่ธรรมดา นาก 1 ใน 4 ชนิดที่พบในไทย (ภาพ : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division)
สำหรับข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า นากทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดย 3 ใน 4 ชนิด (ที่พบในไทย) ถูกจัดให้อยู่ในสถานะเกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ ของ IUCN Red List ซึ่งไม่มีการอนุญาตให้ล่าหรือเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า

ใครที่เลี้ยงนาก มีนากไว้ในครอบครอง หรือลักลอบขายนาก ถือว่ามีความทำตามกฎหมาย หากผู้ใดเลี้ยง มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ใดลักลอบค้านาก จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นากจมูกขน นาก 1 ใน 4 ชนิดที่พบในไทย (ภาพ : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division)
สำหรับผลการวิจัยเรื่องนากในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามันนั้น นอกเหนือจากการศึกษาเพื่อหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม ที่ทางคณะวิจัยมีแผนจะดำเนินการต่อภายใต้โครงการวิจัยการวางแผนการจัดการอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์อย่างยั่งยืนแล้ว การทำให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักว่า “นากไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” แต่เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง เพื่อให้สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดนี้ สามารถทำหน้าที่ของมันในธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศชายฝั่งที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

นากที่ถูกนำไปเลี้ยง ปัจจุบันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ภาพ : มจธ.)

นากที่ถูกนำไปเลี้ยง ปัจจุบันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ภาพ : มจธ.)

นากน่ารัก แต่ไม่น่าเลี้ยง (ภาพ : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)




กำลังโหลดความคิดเห็น