xs
xsm
sm
md
lg

“นกหว้า” สัตว์ป่าหายาก กว่า 20 ตัว อวดโฉมหน้ากล้องดักถ่ายใน ขสป.กะทูน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ตื่นตาตื่นใจ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน จับภาพ “นกหว้า” สัตว์ป่าหายาก สมญา “เจ้าไก่ป่าแห่งเมืองใต้” อวดโฉมกว่า 20 ตัว 


ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 นายธีรวุฒิ นุ่นสังข์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน จ.นครศรีธรรมราช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ในพื้นที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) สามารถบันทึกภาพนกหว้า ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนกในลำดับที่ 762 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 The IUCN Red List of Threatened Species จัดให้อยู่ในกลุ่ม Vulnerable (VU) มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบนกหว้าและได้ยินเสียงร้องของนกหว้า โดยคาดว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 20 ตัว และจะได้มีการสำรวจประชากรนกหว้าในพื้นที่ต่อไป

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จากภาพสัตว์ป่าดังกล่าวทำให้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน ซึ่งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า หรือ Camera Trap นอกจากจะสามารถถ่ายภาพสัตว์ป่าเพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าแล้ว ยังสามารถตรวจสอบการลักลอบกระทำผิดของผู้บุกรุกพื้นที่ป่าได้อีกด้วย

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นอกจากนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน มีการนำระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) มาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการช่วยป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าและลดการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่ได้ผลอย่างดียิ่ง

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นกหว้า เป็นนกขนาดใหญ่ ความยาววัดจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 76 - 200 เซนติเมตร ไม่มีเดือย จัดอยู่ในสัตว์ปีกจำพวกไก่ฟ้าของไทย ตัวผู้มีความสวยงามมากกว่าตัวเมีย ตัวสีน้ำตาลปนเทา ขนปีกยาว มีจุดกลมคล้ายลูกตาบนปีกเป็นระยะตามความยาวของขนปีก กลางหัวมีขนเป็นหงอน หรือสันเล็ก ๆ หน้าและคอสีฟ้า ปากเหลือง แข้งและตีนสีแดง ตัวผู้มีขนหางคู่กลางยาวเลยเส้นอื่นออกไปมาก ส่วนตัวเมียจะไม่มี เป็นนกประจำถิ่นซึ่งค่อนข้างหายาก ได้รับสมญานามว่า “เจ้าไก่ป่าแห่งเมืองใต้”

นกหว้า มีพฤติกรรมขี้อาย ชอบอยู่โดดเดี่ยว เว้นแต่ในฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะทำลานไว้สำหรับรำแพนขนปีกอวดตัวเมีย ที่เรียกว่า “ ลานนกหว้า” คอยรักษาความสะอาดลานเป็นอย่างดี เก็บกิ่งไม้ใบไม้ออกหมดตลอดเวลา หลังจากนั้นตัวผู้ก็จะร้องเรียกตัวเมีย เสียงดัง “ว้าว ว้าว” พอพบตัวเมีย ตัวผู้ก็จะรำแพนขนปีกสร้างแรงดึงดูดใจตัวเมียก่อนผสมพันธุ์

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น