ชื่อ “สรรคบุรี” คงไม่เป็นที่คุ้นหูของใครๆมากนัก แต่สรรคบุรี ถือเป็นดาวเด่นในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของไทยอีกแห่งที่ไม่ควรพลาด หลากหลายไปด้วยโบราณสถาน วัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสะสมวัตถุโบราณหาชมได้ยาก
“เมืองสรรคบุรี” เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าเดิมชื่อเมืองไตรตรึงส์ ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัยคู่กันมากับเมืองชัยนาทแต่มีความเก่าแก่กว่า โดยศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรียกเมืองสรรคบุรีว่า “เมืองแพรก" และเรียกเมืองชัยนาทว่า “ชัยนาทบุรี”
ในปี พ.ศ. 1924 สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) กรุงศรีอยุธยายกกองทัพมายึดไว้ ทั้งสองเมืองจึงตกอยู่ในความปกครองของอาณาจักรอยุธยา และได้เปลี่ยนชื่อเมืองแพรก มาเป็นเมืองสรรคบุรี โดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงคู่กับเมืองชัยนาท
ปัจจุบัน เมืองสรรคบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท นับเป็นเมืองเก่าที่น่าไปเยือน มีสถานที่สำคัญเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์จำนวนมากให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปทำความรู้จัก
เริ่มต้นทำความรู้จักเมือง “สวรรคบุรี” ด้วยการทำความรู้จัก “ขุนสรรค์” บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ขุนสรรค์ ผู้เปรียบดั่งวีรบุรุษแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย ขุนสรรค์เป็นหนึ่งในผู้นำชาวบ้านบางระจันด้วยความกล้าหาญ เพื่อรักษาผืนแผ่นดินเกิด อนุสาวรีย์รูปหล่อขุนสรรค์ มีความสูง 2.50 เมตร สมโภชในวันที่ 19 มกราคม 2526 ชาวสรรคบุรีจึงถือเอาทุกวันที่ 19 มกราคม เป็นวันทำพิธีบวงสรวงประจำปี โดยรอบๆอนุสาวรีย์มีคนนำรูปปั้นควายมาแก้บนตามความเชื่อเป็นจำนวนมาก
จากที่ว่าการอำเภอไม่ไกล สู่จุดหมาย “วัดมหาธาตุ” ตื่นตาตื่นใจในวัดสำคัญคู่เมืองสรรคบุรี วัดเก่าแก่คู่เมืองแพรก หรือเมืองสรรคบุรี เดิมมีชื่อว่า “วัดพระธาตุ หรือวัดหัวเมือง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองสรรคบุรี ใกล้แม่น้ำน้อย แม้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่นักโบราณคดีสันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏภายในวัด น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยผู้ครองเมืองในสมัยนั้นเป็นผู้ก่อสร้าง เนื่องจากถือเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีความสำคัญของเมืองสรรคบุรี จึงมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมมากมาย ได้แก่ “ซากเจดีย์องค์ประธาน” หรือองค์พระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันพังทลายลงคงเหลือเพียงฐานสี่เหลี่ยม ฐานชั้นถัดไปเป็นฐานย่อมุม เป็นฐานสี่เหลี่ยม (ฐานเขียง) 3 ชั้น รองรับฐานบัวคว่ำบัวหงาย ซึ่งหากจินตนาการจากฐานเจดีย์แล้ว องค์เจดีย์เมื่อครั้งยังไม่พังทลาย น่าจะมีขนาดสูงใหญ่มากที่สุดในจังหวัดชัยนาทก็เป็นได้
“วิหารวัดมหาธาตุ” หรือ “วิหาร 9 ห้อง” เป็นโบราณสถานคงปรากฏเหลือเพียงด้านหน้า เป็นรูปแปดเหลี่ยมแบบเสาวิหารในสมัยอยุธยา มีบัวหัวเสาเป็นยอดบัวจงกล มีทางขึ้นด้านหน้าทางเดียว ส่วนด้านหลังพระวิหารมีทางเดินเชื่อมกับระเบียงคดออกไปสู่ลานพระธาตุ โดยมีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระประธานลักษณะช่างสกุลเมืองสรรค์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ ซึ่งมีอายุราว 700 ปี
“หลวงพ่อหมอ” (หลวงพ่อหลักเมือง) เป็นพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งที่มาของชื่อหลวงพ่อหมอ มาจากที่ชาวบ้านในแถบนั้นเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะพากันมาบนบานศาลกล่าว หรือขอน้ำมนต์ไปรักษากันตามความเชื่อถือ ปัจจุบัน จึงเป็นความเชื่อความศรัทธามาขอพรเรื่องสุขภาพ ส่วนอีกชื่อที่เรียกว่า หลวงพ่อหลักเมือง เพราะด้านหลังขององค์พระ มีแผ่นศิลาจำหลักลายเทวรูปปักอยู่คู่กัน ชาวบ้านเรียกว่าหลักเมือง จึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหลวงพ่อหลักเมืองไปด้วย
“พระพุทธสรรค์สิทธิ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยเก่าแก่ศิลปะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานในวิหารคด ซึ่งชาวท้องถิ่นเลื่อมใสศรัทธา ถือเป็นพระพุทธรูปศักสิทธิ์คู่เมืองสรรค์ ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 700 ปี
“พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง” (พูมะเฟือง) สร้างด้วยอิฐถือปูน 3 องค์ องค์พระปรางค์มีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม (ฐานเขียง) คล้ายปรางค์กลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุเมืองลพบุรี สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะยุคอู่ทอง นอกจากนี้บริเวณเดียวกันยังเรียงรายไปด้วยหมู่เจดีย์ศิลปะอู่ทองที่งดงามน่าชม
“พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อโต” กับ “พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อพระปลัดฉ่อง วัดมหาธาตุ” ถือเป็นอันซีนของวัดมหาธาตุอย่างแท้จริง พราะเป็นแหล่งรวบรวมวัตถุโบราณในท้องถิ่นสรรคบุรีให้ชมมากกว่า 1,000 ชิ้น พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อโตนั้น สามารถเข้าชมได้สะดวก แต่พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อพระปลัดฉ่อง อาจต้องติดต่อทางวัดก่อน เนื่องจากมีโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป คัมภีร์ใบลาน ฯลฯ ซึ่งทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยสามารถติดต่อได้ที่ พระครูสิทธิชัยรังสรรค์ (เมืองสรรค์) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
นอกจากนี้ ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุ ยังมี “วัดพระยาแพรก” วัดร้างที่ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์และวิหารโบราณ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว เจดีย์ประธานเป็นทรงแปดเหลี่ยมคล้ายคลึงกับเจดีย์แปดเหลี่ยมในเมืองสุพรรณบุรี อันแสดงถึงความสัมพันธ์กันระหว่างเมืองสรรคบุรีกับเมืองสุพรรณบุรี
จากวัดมหาธาตุ เดินทางต่อไปเยือน “วัดพระแก้ว” หรือวัดพระแก้วเมืองสรรค์ สถานที่ซึ่งมีสิ่งสำคัญหาชมได้ยาก คือ องค์เจดีย์อันงดงามที่มีคำเปรียบไว้ว่าเป็น “ราชินีแห่งเจดีย์” ของเมืองไทย
เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดป่าแก้ว เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี หรือสายพระวัดป่า ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมือง ต่อมามีคนพบพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดเท่าปลายนิ้วมือทำด้วยแก้วจากในเจดีย์ จึงเรียกกันติดปากว่าวัดพระแก้ว
ภายในพระวิหารมีพระพุทธรูปองค์ประธาน คือ “หลวงพ่อฉาย” พระพุทธรูป ซึ่งมีอายุมากกว่า 800 ปี ซึ่งหลังจากกราบสักการะแล้ว ห้ามพลาดเดินอ้อมไปด้านหลังองค์พระ เพื่อชมความอันซีนน่าตื่นตาตื่นใจของพระปฤษฎางค์ (แผ่นหลัง) ที่แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแบบทับหลังศิลปะขอม สันนิษฐานว่าหลังจากอาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลง ช่างท้องถิ่นอาจนำแผ่นดินจำหลักมาแกะสลักพระพุทธรูป
จากนั้น เดินออกไปนอกวิหารด้านหลัง จะพบกับองค์เจดีย์ศิลปะอู่ทองที่ลักษณะคล้ายเจดีย์สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยสุโขทัยกับศรีวิชัยผสมผสานกันจนกลายเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะเด่นของฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น ชั้นสามเป็นทรงแปดเหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังต่อยอดด้วยเจดีย์ทรงกรวยกลม ในแต่ละชั้นจะมีซุ้มพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 ทิศ งดงามหาชมได้ยากยิ่ง จึงเป็นที่มาของราชินีแห่งเจดีย์ในประเทศไทย
นอกจากนี้ พื้นที่เมืองสรรคบุรี ยังเต็มไปด้วยวัดร้างอันเป็นโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งวัดร้างที่มีความสำคัญ และสวยงามสามารถแวะเข้าไปชมได้สะดวก เช่น “วัดโตนดหลาย” (วัดร้าง) ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของลำน้ำโบราณที่ไหลผ่านกลางเมือง เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นเขตเมืองเก่าสมัยอาณาจักรสุโขทัย ภายในวัดมีวิหารและเจดีย์หลายองค์ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยสุโขทัย นิยมสร้างในสมัยพญาลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20
ความอันซีนของเจดีย์แห่งนี้ เพราะไม่ปรากฏการสร้างไว้ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย จึงกล่าวได้ว่ามีเพียงเจดีย์ “วัดโตนดหลาย” ที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์องค์เดียวในภาคกลาง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ มีข้อสังเกตว่าซุ้มบันแถลงของเจดีย์องค์นี้มีความแตกต่างไปจากซุ้มบันแถลงของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อื่นๆในสุโขทัยที่เป็นซุ้มยอดมน แต่ซุ้มบันแถลงของเจดีย์วัดโตนดหลาย มีความคล้ายคลึงกับซุ้มเรือนแก้วที่ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะอยุธยาตอนปลายที่นิยมซุ้มบันแถลงยอดเรียวสูง จึงสันนิษฐานว่า เจดีย์ที่วัดแห่งนี้อาจเคยได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลาย
“วัดสองพี่น้อง" (วัดร้าง) มีเจดีย์สำคัญสององค์ ได้แก่ องค์ใหญ่ที่เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ และองค์เล็กที่เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยมแบบอยุธยาตอนต้น ซึ่งการมีเจดีย์สององค์ใกล้ๆกัน จึงเป็นที่มาของชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดสองพี่น้อง
สำหรับเจดีย์องค์ใหญ่นั้น ถือเป็นจุดเด่นที่น่าศึกษาด้วยมีฉลุลายกรุยเชิงที่ส่วนล่างของเรือนธาตุซึ่งมีแม่ลายแบบสามส่วนคล้ายกับลวดลายแบบเขมร คงความวิจิตรแสดงถึงฝีมือช่างหลวง ชั้นประดับลายบางแห่งของปรางค์องค์นี้ยังเทียบเคียงได้กับลายมณฑปทิศของวัดพระราม ในพระนครศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าลวดลายปูนปั้นของเจดีย์ทั้งสองน่าจะสร้างในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
ผู้สนใจข้อมูลการเดินทาง หรือรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ ททท.สำนักงานลพบุรี (ดูแลพื้นที่จังหวัดชัยนาท) โทร. 036-770096-7 หรือ Facebook Fanpage : @TATLopburiOffice
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline