xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่า “เสาชิงช้า” อาถรรพ์ ความตาย และความสำคัญในฐานะโบราณสถาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เสาชิงช้า” เสาสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งสื่อแทนกรุงเทพมหานคร นับเป็นสถานที่สำคัญที่กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ



เสาชิงช้าเริ่มสร้างมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดฯ ให้สร้างเสาชิงช้าคู่แรก เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2327 หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีได้ 2 ปี

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตของพระนครออกไปทางตะวันออก และมีการขุดคลองรอบกรุงขึ้น ทรงกำหนดจุดศูนย์กลางของพระนครหรือสะดือเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ รวมทั้งเสาชิงช้า สื่อถึงความเป็นศูนย์กลางของพระนคร และใช้เสาชิงช้าในการประกอบพิธีตรียัมปวาย –โล้ชิงช้า ซึ่งเป็นราชพิธีของพราหมณ์ที่มีมานับตั้งแต่สมัยโบราณ


พิธีโล้ชิงช้า เป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิมในหลายภูมิภาค ซึ่งมีความเชื่อแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันไปตามบริบทสังคมและประสบการณ์ของคนในพื้นที่นั้น เช่น ที่อินเดียเป็นการบูชาพระเจ้า การรวมกันของความศรัทธา และความเฉลิมฉลอง, เกาหลี เป็นการละเล่นและกีฬาพื้นบ้าน, จีน เป็นการละเล่นต้อนรับเทศกาลตรุษจีน , เวียดนาม เป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษและธรรมชาติในเทศกาลรับฤดูฝน, ชาวเผ่าอาข่า เป็นการละเล่น รื่นเริงในปีใหม่ ฉลองความสมบูรณ์ของพืชพรรณ เป็นต้น

สำหรับการโล้ชิงช้าที่ปรากฏในประเพณีพิธีกรรมของไทย สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีอยู่ก่อน จนมีการรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เข้ามาในดินแดน จึงมีการผนวกประเพณีให้เป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อมโยงความเชื่อ

ภาพจากหนังสือย้อนรอยพิธีโล้ชิงช้าในสยาม: กรมศิลปากร
พิธีโล้ชิงช้าของไทย เรียกว่า พระราชพิธี “ตรียัมปวาย ตรีปวาย” ซึ่งเป็นการต้อนรับพระอิศวร เทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู ที่จะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ เป็นเวลา 10 วัน เป็นพิธีหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๗ ก็ได้เลิกไปเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะประเพณีโล้ชิงช้านี้มีค่าใช้จ่ายสูง เมื่องดไปในรัชกาลที่ ๗ แล้วก็ไม่เคยมีการโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าอีกเลย แต่ยังคงมีพิธีตรียัมปวายซึ่งทำพิธีโล้ชิงช้าขนาดเล็กในเทวสถานตามโบราณราชประเพณี

ภาพจากหนังสือย้อนรอยพิธีโล้ชิงช้าในสยาม: กรมศิลปากร
มีเรื่องเล่ากันว่า พิธีตรียัมปวาย นับว่ามีความน่าหวาดเสียวและอันตรายไม่น้อย เพราะผู้โล้ชิงช้าจะต้องขึ้นชิงช้าครั้งละ 4 คน (โล้ 3 กระดาน รวมเป็น 12 คน) โดยชิงช้ามีเชือกที่ถือยึดไว้แน่นทั้งสี่ด้าน สองคนหันหน้าเข้าหากัน พนมมืออยู่กลางกระดาน อีกสองคนอยู่หัวท้ายจับเชือกไว้ แล้วถีบโล้ชิงช้าเพื่อฉวยเงินรางวัล 1 ตำลึง โดยคนที่อยู่หัวกระดานจะเป็นคนฉวย เงินรางวัลที่ผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงที่ปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกในระยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ ส่วนการที่จะฉวยเอาเงินรางวัลได้นั้น

การโล้ชิงช้าสำคัญอยู่ที่คนท้ายคือจะต้องเล่นตลก เช่นว่า พอคนหน้ากำลังจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะต้องแกล้งทำกระดานโล้เบี่ยงออกไปหรือโล้จนเลยถุงเงินไปบ้างเพื่อเรียกเสียงฮาจากคนดู แต่นั่นก็ทำให้พราหมณ์ผู้โล้ชิงช้าต้องตกลงมาตายทุกปีเป็นที่น่าสยดสยอง แม้ต่อมามีการทอนเสาให้สั้นลงก็ยังตกลงมาตายอีก จึงต้องยกเลิกไปในที่สุด

ส่วนเสียงลือกันว่าใครโล้ชิงช้าแล้วตกลงมาตายจะถูกฝังไว้ใต้ชิงช้า และวิญญาณวนเวียนไม่ไปไหน เป็นเพียงเรื่องเล่าเข้าใจผิดที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด


เสาชิงช้าคู่แรกๆนั้น ผุพังไปตามกาลเวลาที่ผ่านมากว่าสองศตวรรษ ส่วนเสาชิงช้าที่เห็นอยู่ปัจจุบัน นับเป็น คู่ที่ 4 แล้ว เป็นเสาต้นใหม่ ซึ่งได้มีการจัดพิธีสมโภชน์เสาชิงช้าครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2550 โดยใช้ไม้สักทองมาจากเมืองแพร่ ซึ่ง กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับจังหวัดแพร่ ในฐานะที่เป็นแหล่งให้ต้นสักมาบูรณะเป็นเสาชิงช้าคู่ใหม่อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ไว้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2492


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น