พาไปรู้จักกับกำแพงชั้นนอกของวัดพระแก้ว ที่มี 12 ประตูทางเข้า-ออก ซึ่งนอกจากจะมีชื่อไพเราะสอดประสานคล้องจองกันแล้ว ยังมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์สมดังประตูสู่หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดของเมืองไทย
ถือเป็นอีกหนึ่งการกระทำที่อุกอาจต่ำทรามที่คนไทยส่วนใหญ่ประณาม สาปแช่ง ต่อกรณีที่ “นายศุทธวีร์ สร้อยคำ” หรือ “บังเอิญ” อายุ 24 ปี หนุ่มชาวขอนแก่น พ่นสเปรย์สีดำใส่กำแพง “พระบรมมหาราชวัง” หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อ “วัดพระแก้ว” อันเป็นชื่อเรียกสั้น ๆ ของ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”
วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2325 วัดนี้มีความแตกต่างจากวัดทั่วไป คือ มีเฉพาะเขตพุทธาวาส โดยไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
วัดพระแก้วเป็นวัดสำคัญสูงสุดของประเทศไทย ภายในประดิษฐาน “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่คนไทยต่างให้ความเคารพนับถือ
ส่วนพระบรมมหาราชวัง หรือ พระราชวังพระนคร เป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันมีเนื้อที่ 152 ไร่ 2 งาน มีการแบ่งเขตออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน
แม้พระบรมมหาราชวังในวันนี้ จะไม่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้ว แต่ก็ยังคงถูกใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทุกปี
ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ถือเป็นหนึ่งสถานที่สำคัญสูงสุดของเมืองไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจ และศูนย์รวมแห่งสุดยอดงานศิลปกรรมต่าง ๆ ในสยามประเทศ รวมถึงเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์ก สัญลักษณ์ ภาพจำ และ Soft Power แห่งความเป็นไทยที่ชาวโลกรู้จักกันดี นอกจากนี้ก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของเมืองไทยที่ชาวต่างชาติปักหมุดต้องมาเยือนสักครั้ง
กำแพง-ประตูพระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทั้ง 2 สถานที่ตั้งอยู่ภายในรั้วกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอก หรือรั้วกำแพงใหญ่เดียวกัน ซึ่งเมื่อมองจากภายนอกจะเห็นเป็นกำแพงสีขาวตระหง่านกับรูปทรงมีเอกลักษณ์ มีป้อมปราการประจำตามจุดต่าง และซุ้มประตูใหญ่ตามทิศต่าง ๆ เป็นช่องทางเข้า-ออก จากนั้นถัดเข้าไปเห็นความงดงามของงานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าส่วนใหญ่ อาทิ เจดีย์ พระอุโบสถ พระที่นั่งและปราสาทต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาพจำของพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วที่คนไทยคุ้นเคยกันดี
สำหรับกำแพงและประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง เมื่อแรกสร้างปี พ.ศ. 2325 ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ยังคงเป็นเครื่องไม้ และไม่ได้เป็นประตูก่ออิฐถือปูนและมีจำนวนประตูเท่าในปัจจุบัน ซึ่งหลังจากนั้นในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ได้มีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนกำแพงพระบรมมหาราชวังกันอยู่เรื่อยมา
ปัจจุบันแนวกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก มีประตูชั้นนอกทั้งหมด 12 ประตู ซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมีการสร้างใหม่และปรับเปลี่ยนย้ายตำแหน่งบ้างบางประตูในสมัยรัชกาลที่ ๒ และนี่ก็คือประตูเขตพระราชฐานชั้นนอก หรือ กำแพงชั้นนอกทั้ง 12 ประตู
1.”ประตูวิมานเทเวศร์” (ทิศเหนือ) เป็นประตูสำคัญในยุคนั้น เพราะ (เคย) ใช้เป็นทางอัญเชิญพระราชสาสน์จากประเทศต่าง ๆ แห่เข้ามาทางประตูนี้
2.”ประตูวิเศษไชยศรี” (ทิศเหนือ) เป็นประตูทางเข้า-ออกพระบรมมหาราชวังที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระมหามณเฑียร ส่วนถัดเข้ามาด้านในเป็น “ประตูพิมานไชยศรี” (ประตูชั้นใน) โดยเมื่อมองผ่านประตูนี้เข้าไป จะเห็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในมุมที่สวยงามสง่าเป็นอย่างยิ่ง
3.”ประตูมณีนพรัตน์” (ทิศเหนือ) มีชื่อสามัญว่า “ประตูฉนวนวัดพระแก้ว” จะเปิดใช้เมื่อมีการเชิญพระบรมศพออกมาตั้งที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง โดยใช้เป็นประตูฉนวนให้ฝ่ายในออกไปงานพระเมรุ และจะรื้อฉนวนออกเมื่อเสร็จงานพร้อมทั้งปิดประตูนี้ด้วย ประตูนี้จึงปิดตลอดเวลา ยกเว้นจะเปิดในกรณีพิเศษเท่านั้น
ปัจจุบันบริเวณประตูมณีนพรัตน์มีการสร้าง “อุโมงค์หน้าพระลาน” ซึ่งเป็นทางเดินลอดถนนที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยววัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังศาลหลักเมือง หน้ากรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ และท้องสนามหลวงได้
4.”ประตูสวัสดิโสภา” (ทิศตะวันออก) มีชื่อสามัญว่า “ประตูทอง” เพราะเป็นทางผ่านสำหรับประชาชนที่จะไปปิดทองคำเปลวบูชาพระแก้วมรกต
5.”ประตูเทวาพิทักษ์” (ทิศตะวันออก) สันนิษฐานว่าเป็นประตูทางเสด็จฯ สู่สวนขวาหรือสวนศิวาลัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นประตู 2 ชั้น เมื่อสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ในบริเวณสวนขวา
6.“ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์” (ทิศตะวันออก) เป็นทางเสด็จฯเข้า-ออก สู่พระราชฐานชั้นใน
7.“ประตูวิจิตรบรรจง” (ทิศใต้) เดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นประตูสำหรับฝ่ายในใช้เข้า-ออก พระราชฐานชั้นใน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้ยกเลิกประตูนี้และกั้นเป็นกำแพงแทน พร้อมให้ย้ายชื่อประตูนี้ไปทางทิศใต้แทน ใช้เป็นประตูที่เชิญพระศพพระบรมวงศ์ออกไปยังที่ไว้พระศพนอกพระบรมมหาราชวัง
8.“ประตูอนงคารักษ์” (ทิศใต้) เดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ใช้เป็นประตูสำหรับฝ่ายในเข้า-ออกเขตพระราชฐาน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้ยกเลิกประตูนี้และกั้นเป็นกำแพงแทน และให้ย้ายชื่อประตูนี้ไปอยู่ทางทิศใต้แทน ใช้เป็นประตูที่เชิญศพคนตายที่ไม่ใช่เจ้านายออกไปนอกพระบรมมหาราชวัง
9.”ประตูพิทักษ์บวร” (ทิศใต้) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีชื่อสามัญว่า “ประตูแดงท้ายสนม” เพราะทาสีแดง ตั้งอยู่ริมตลาดชื่อท้ายสนม
10.”ประตูสุนทรทิศา” (ทิศเหนือ) เดิมเป็นประตูทางด้านทิศใต้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระบรมมหาราชวัง จึงนำชื่อประตูนี้มาเป็นประตูทางทิศเหนือแทน ปัจจุบันประตูสุนทรทิศาปิดไม่ได้เปิดใช้
11.“ประตูเทวาภิรมย์” (ทิศตะวันตก) มีชื่อสามัญว่า “ประตูท่าขุนนางหน้าโรงทาน” สันนิษฐานว่าประตูนี้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าราชวรดิฐ
12.“ประตูอุดมสุดารักษ์” (ทิศตะวันตก” เป็นประตูฉนวนอยู่ตรงกับพระที่นั่งท่าราชวรดิฐ เป็นประตูที่ฝ่ายในใช้เข้า-ออก ติดต่อกับภายนอกในสมัยรัชกาลที่ ๑
สำหรับประตูกำแพงเขตประราชฐานชั้นนอกทั้ง 12 ประตูนั้น นอกจากจะมีความงดงามสมส่วนแล้ว ยังมีรายละเอียดของสถาปัตยกรรมซุ้มประตูที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่ง หลัก ๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
-ประตูซุ้มยอดปรางค์ ได้แก่ ประตูวิมานเทเวศร์ ประตูวิเศษไชยศรี ประตูมณีนพรัตน์ ประตูสวัสดิโสภา ประตูเทวาพิทักษ์ และประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ซึ่งรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงจากประตูแบบฝรั่งของเดิม มาเป็นประตูซุ้มยอดปรางค์ ซึ่งนำแบบมาจากประตูพระราชวังชั้นกลางในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยประตูวิมานเทเวศร์นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นประตูซุ้มยอดปรางค์ที่งดงามที่สุดของพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากมีทรวงทรวงสูงเพรียวสมส่วนและมีงานประดับปูนปั้นที่วิจิตรบรรจง
-ซุ้มประตูแบบคฤห ได้แก่ ประตูวิจิตรบรรจง และประตูอนงคารักษ์ ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ มีลักษณะเป็นซุ้มประตูที่มีที่พักของทหารยามอยู่ตอนบน ซึ่งปัจจุบันผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง
-ประตูแบบอื่น ๆ ได้แก่ประตูที่มีลักษณะเฉพาะตัว หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในภายหลัง อย่างเช่น ประตูพิทักษ์บวรที่ไม่มีซุ้มประตู, ประตูสุนทรทิศาที่เดิมไม่มีซุ้มประตู แต่ในรัชกาลที่ ๓ เสริมแต่งให้เป็นซุ้มประตูโค้งแบบฝรั่ง และประตูเทวาภิรมย์ที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ บูรณะให้เป็นแบบเดียวกับประตูเมืองเป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้นประตูพระบรมมหาราชวังชั้นนอก ทั้ง 12 ประตู นอกจากจะมีชื่อที่ไพเราะสอดประสานคล้องจอง หากอ่านไล่เลียงตามลำดับไปแล้ว ยังมีความพิเศษตรงที่ เมื่ออ่านย้อนหลังโดยสลับชื่อหน้า-หลัง ก็ยังมีความไพเราะคล้องจองกัน ดังนี้
12.สุดารักษ์-อุดม
11.ภิรมย์-เทวา
10.ทิศา-สุนทร
09.บวร-พิทักษ์
08.คารักษ์-อนง
07.บรรจง-วิจิตร
06.ไชยสิทธิ์-ศักดิ์
05.พิทักษ์-เทวา
04.โสภา-สวัสดิ
03.นพรัตน์-มณี
02.ไชยศรี-วิเศษ
01.เทเวศร์-วิมาน
นอกจากนี้ประตูชั้นนอก ทั้ง 12 ประตู ยังมีประตูเล็กที่ราษฎรสามัญสมัยนั้นใช่เข้าออกติดต่อกับคนในวัง คือ “ประตูช่องกุด” ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก และ “ประตูดิน” ที่เป็นทางเข้า-ออกของเหล่าข้าหลวงของพระราชวงศ์ฝ่ายใน และเจ้าพนักงานที่เป็นสตรีที่อยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน
พระบรมมหาราชวังยังมีประตูชั้นใน (ปัจจุบันมีบางประตูถูกรื้อไปแล้ว) เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน อีกหลายประตู อาทิ ประตูสุวรรณบริบาล, ประตูพิมานไชยศรี ที่ปัจจุบันประตูนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นเส้นทางเสด็จฯ และเส้นทางสัญจรหลักเข้าสู่พระราชฐานชั้นกลาง, ประตูสีกรลีลาศ, ประตูเทวราชดำรงศร และประตูอุดรสิงหรักษ์ เป็นต้น
และนี่ก็คือเรื่องราว (ส่วนหนึ่ง) ของกำแพงและประตูเขตพระราชฐานชั้นนอก ของพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยจากภาพจำเมื่อมองผ่านด้านนอก จากบริเวณท้องสนามหลวง ศาลหลักเมือง กระทรวงกลาโหม ถนนหน้าพระลาน ท่าช้าง ท่าราชวรดิฐ หรือมุมมองต่าง ๆ ซึ่งเห็นถึงความงดงามวิจิตรของหนึ่งในสถาปัตยกรรมสำคัญสูงสุดคู่สยามประเทศ ด้วยเหตุนี้ใครที่มาทำให้สถานที่แห่งนี้แปดเปื้อน เสื่อมเสีย คนไทยจำนวนมากย่อมยอมไม่ได้ จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐลงโทษผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมายสูงสุด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้หลงผิดคนอื่น ๆ