เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’ ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวดังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของ “เชอร์โนบิล” กลับมาพูดถึงอีกครั้งไปด้วย เนื่องจากเป็นหนึ่งในเหตุการณ์หายนะภัยครั้งร้ายแรงที่ว่าด้วยการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี
โดยล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันว่า เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’ ไม่ได้ร้ายแรงแบบเชอร์โนบิล
แล้ว “เชอร์โนบิล” นั้น คือ อะไร ร้ายแรงขนาดไหน เรามาทบทวนความจำของหายนะภัยครั้งสำคัญกันอีกครั้ง (และหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl nuclear power plant) ในประเทศยูเครน ตั้งอยู่ที่เมือง “พรีเพียต” (Pripyat) ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสหภาพโซเวียต ส่วนปัจจุบันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ทางตอนเหนือของยูเครน (ใกล้ชายแดนเบลารุส)
เชอร์โนบิลเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภท RMBK แห่งที่ 3 ของ สหภาพโซเวียต และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกบนแผ่นดินยูเครน เริ่มดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ ในปี ค.ศ. 1978
แต่แล้วในเช้าของวันที่ 26 เมษายน 1986 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเกิดเหตุระเบิด ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดจากการทดสอบระบบช่วงกลางคืน แต่เกิดความผิดพลาดทำให้แกนปฏิกรณ์หมายเลข 4 หลอมละลายจนเกิดระเบิดขึ้นมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันทีกว่า 30 ราย
จากอุบัติเหตุในโรงงาน ได้กลายเป็นหายนะภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เพราะเกิดกัมมันตภาพรังสีที่มีอันตรายร้ายแรงรั่วไหลไปกว่า 8 ตัน แพร่กระจายออกไปทั่วทุกทิศทาง ทำให้เมืองพรีเพียต กลายเป็นเขตปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเข้มข้น ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ทั้งในยูเครน รัสเซียตะวันตก และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งหลังจากนั้นยังได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 4,000 คน โดยเกิดอาการเจ็บป่วยในภายหลัง
และว่ากันว่า อานุภาพความร้ายแรงนั้น มากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองนางาซากิและฮิโรชิมะในสงครามโลกครั้งที่สอง นับ 100 เท่า
หลังเชอร์โนบิลระเบิดนอกจากการปิดโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีการประกาศให้พื้นที่ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเป็นเขตอันตราย มีการปิดเมืองพรีเพียต และอพยพผู้คนออกจากเมืองนี้ทันที ทำให้กลายเป็นหนึ่งในเมืองร้างที่บรรยากาศสุดหลอนแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชอร์โนบิลกลายเป็นเขตอันตราย แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 20 ปี ระดับความรุนแรงของกัมมันตภาพรังสีค่อยๆ เบาบางลง ทางการยูเครนจึงเปิดให้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ที่เคยถูกปิดตายในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าฯ และมีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวแบบเป็นทางการอีกด้วย ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น การเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ ห้ามออกนอกเส้นทาง ห้ามเก็บอะไรติดตัวไป เป็นต้น
ทั้งนี้มีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวตลอดแนวแม่น้ำปรีเปียต (Pripyat) และแม่น้ำอูซห์ (Uzh) ภายในเขตอันตรายของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลซึ่งทุกเส้นทางได้รับการตรวจสอบโดยอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณรังสีและได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ในปี 2019 ซีรีส์เรื่อง Chernobyl ของช่อง HBO ก็สร้างปรากฏการณืการท่องเที่ยวให้เมืองร้างแห่งนี้กลับมาคึกคักมากที่สุดนับตั้งแต่เปิดการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนนับแสนราย
ทำให้จุดประกายให้กับทางการยูเครน ในการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเชอร์โนบิลเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก ซึ่งทางการยูเครนยอมรับว่าพื้นที่นี้อาจไม่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ที่จะพักอาศัย แต่ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้เพิ่มมากขึ้น และมีสัตว์ป่าหลายชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ในอาคารที่ถูกทิ้งร้าง จึงสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ และช่วยสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ในบริเวณใกล้เคียง
และทำให้เห็นว่าเชอร์โนบิลไม่เพียงมีความสำคัญต่อชาวยูเครนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมวลมนุษยชาติด้วย จึงขอให้ยูเนสโกให้การรับรองในฐานะ "สถานที่แห่งความทรงจำ" เพื่อเตือนภัยพิบัตินิวเคลียร์
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline