xs
xsm
sm
md
lg

งามล้ำค่า “นิทรรศการเครื่องทองอยุธยา” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อาคารเครื่องทองที่ใหญ่ที่สุดในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นิทรรศการเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ชวนชมความงามล้ำค่าของเครื่องทองโบราณ ภายใน “นิทรรศการเครื่องทองอยุธยา” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กับไฮไลต์เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ และกรุวัดมหาธาตุ

การจัดแสดงในอาคารหลังใหม่

มองเห็นโบราณวัตถุที่จัดแสดงได้อย่างชัดเจน
เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว “อาคารนิทรรศการเครื่องทอง” อาคารหลังใหม่ภายใน “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” จ.พระนครศรีอยุธยา

จากวันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ.2504 ก็ไม่เคยมีการปรับปรุงอาคารและรูปแบบในการจัดแสดงครั้งใหญ่มาก่อน จนกระทั่งมีแนวคิดในการคัดแยกเครื่องทองอยุธยา ซึ่งเป็นไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นำมาจัดแสดงใหม่อย่างเป็นสัดส่วนและมีการจำแนกเครื่องทองแต่ละแหล่งอย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของอาคารหลังใหม่แห่งนี้

(ปัจจุบัน อาคารจัดแสดง 1 อยู่ระหว่างปิดบริการ จะมีการปรับปรุงทั้งตัวอาคารและการจัดแสดงใหม่ทั้งหมด โดยมีแนวทางเบื้องต้นคือ จะเป็นการจัดแสดงที่เชื่อมโยงกับนิทรรศการเครื่องทองอยุธยา โดยเน้นที่ความน่าสนใจของศิลปกรรมอยุธยา คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกราว 2 ปี จึงจะแล้วเสร็จ)

ใช้หลากหลายเทคนิคในการจัดแสดง
“นิทรรศการเครื่องทองอยุธยา” มีการจัดแสดงโบราณวัตถุกว่า 2,000 รายการ โดยเป็นโบราณวัตถุที่มีอยู่เดิม รวมถึงทำการรวบรวมเครื่องทองอยุธยาที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อื่น นำมาผ่านการทำความสะอาด ผ่านการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษา จากนั้นจำแนกเครื่องทองอยุธยา และจัดหมวดหมู่ให้ถูกต้อง นำมาจัดแสดงผ่านเทคนิคใหม่ๆ การจัดแสงสีให้น่าสนใจ และผู้เข้าชมยังสามารถมองเห็นโบราณวัตถุได้แบบชัดเจนกว่าเดิม

ซึ่งการจัดแสดงจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนแรก จัดแสดงเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะที่เกี่ยวข้องกับทางโลก ประเภทเครื่องทองของกษัตริย์ หรือเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ส่วนที่สอง จัดแสดงเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องทองทางธรรม เครื่องพุทธบูชา และ ส่วนที่สาม จัดแสดงเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ห้องเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะที่เกี่ยวข้องกับทางโลก

พระแสงขรรค์ชัยศรี
เมื่อเดินเข้ามาชมห้องแรกในการจัดแสดง คือ เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะที่เกี่ยวข้องกับทางโลก จะเล่าเรื่องข้อมูลเบื้องต้นของวัดราชบูรณะ ส่วนเครื่องทองที่จัดแสดงนั้น มีทั้งเครื่องทองของกษัตริย์ และเครื่องทองที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ เช่น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องยศ เครื่องประดับต่างๆ

เครื่องทองชิ้นแรกที่จะได้เห็นในห้องนี้คือ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ลวดลายประดับจะเห็นถึงความเกี่ยวข้องกับศิลปะเปอร์เซีย-อิสลาม ได้แก่ ลายดอกไม้สามกลีบ และลายใบไม้ประดิษฐ์ หรือลายใบไม้สามเหลี่ยม ซึ่งเป็นลวดลายที่พบได้ในงานเครื่องปั้นดินเผาและงานประดับขอบที่วางคัมภีร์กุรอานสลักไม้

พระคชาธารจำลอง

เครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์
อีกหนึ่งไฮไลต์ของห้องนี้คือ “พระคชาธารจำลอง” ทำจากทองคำประดับอัญมณีและแก้วสี อยู่ในอิริยาบถหมอบบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า งวงชูช่อพฤกษา ลำตัวประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์ ได้แก่ ผ้าปกกระพอง (ผ้าคลุมศีรษะ) สายรัดประคน สำอาง ซองหาง และวลัย ผูกสัปคับไว้ที่หลัง ส่วนหัวและลำตัวถอดแยกออกจากกันได้ ภายในกลวง ส่วนหางยึดด้วยลวดทองคำทำให้สามารถขยับได้

เครื่องทองทางธรรมจากกรุวัดราชบูรณะ

สิ่งของที่ถวายเป็นเครื่องพุทธบูชา
ส่วนจัดแสดงถัดไปคือ เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องทองทางธรรม จะเห็นว่ามีการจัดแสดงทั้งสิ่งของพุทธบูชา พระพิมพ์ พระบูชาต่างๆ ต้นไม้ทอง เหรียญทองต่างๆ และภายในห้องนี้คือ มีการจำลองภาพจิตรกรรมจากกรุวัดราชบูรณะมาไว้ที่ด้านบน หากสังเกตจะเห็นว่าเป็นศิลปะแบบจีน และในภาพก็ยังมีชาวจีนปะปนอยู่ ทำให้เห็นว่าในสมัยอยุธยา เรามีความสัมพันธ์อันดีกับชาวจีน และมีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว

เครื่องทองทางธรรมจากกรุวัดราชบูรณะ

ภาพจิตรกรรมจำลองจากกรุวัดราชบูรณะ
ไฮไลต์สำคัญของส่วนนี้คือ การจำลองกรุวัดราชบูรณะมาไว้ที่นี่ กรุชั้นที่ 1 หรือ ชั้นบนสุดบรรจุพระพุทธรูปและพระพิมพ์จำนวนมาก ถัดมาเป็นกรุชั้นที่ 2 หรือชั้นกลางบรรจุเครื่องทองมากที่สุดและทั้ง 2 ชั้นนี้ถูกลักลอบขุดโดยคนร้าย ส่วนชั้นที่ 3 หรือชั้นล่างสุดเป็นส่วนที่คนร้ายยังขุดไปไม่ถึง ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพิมพ์ทำจากทองคำและเงิน รวมถึงเครื่องใช้ทำจากสัมฤทธิ์ ชิน และดินเผาเคลือบ

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุนั้นบรรจุอยู่ในครอบและเจดีย์ทำจากวัสดุต่างกันและซ้อนกันถึง 7 ชั้นโดยชั้นแรกเป็นครอบเหล็ก ชั้น 2 เป็นครอบชิน ชั้น 3 เป็นครอบสัมฤทธิ์ ชั้น 4 เป็นครอบเงิน ชั้น 5 เป็นเจดีย์ทองคำ ชั้น 6 เป็นเจดีย์แก้วผลึก และชั้นสุดท้ายเป็นผอบทองคำและภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งการจำลองกรุวัดราชบูรณะมาให้เห็นในนิทรรศการนี้ ทำให้เหมือนกับได้ลงไปในกรุจริงๆ (ซึ่งปัจจุบัน กรุวัดราชบูรณะไม่ได้เปิดให้เข้าชมแล้ว)

จำลองกรุวัดราชบูรณะมาไว้ที่นี่

จำลองภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรุชั้นที่ 2
ความพิเศษอีกอย่างในส่วนนี้คือ มีการจำลองภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เขียนบนผนังและภายในซุ้มทั้ง 4 ด้านของกรุชั้นที่ 2 ซึ่งมีขนาดเท่าของจริง และภาพมีความเสมือนจริงมากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ลายลงบนแผ่นเซรามิกขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บรายละเอียดทั้งสี ลวดลาย และพื้นผิวของวัสดุได้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

สถูปจำลอง แสดงถึงคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ย้ายมาที่ส่วนจัดแสดงถัดไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ คติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย มีการจำลองสถูปขนาดใหญ่และจุดที่พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ ถ่ายทอดมาที่ประเทศศรีลังกา ก่อนจะมาถึงที่ประเทศไทย รวมไปถึงคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของทางล้านนา การค้นพบสิ่งของ เครื่องทอง และเครื่องเงินในกรุ เพื่อถวายเป็นเครื่องพุทธบูชา

ในส่วนนี้จะมีห้องย่อยๆ ที่แบ่งตามพระบรมสารีริกธาตุจาก 4 แห่งในอยุธยา ได้แก่

พระพุทธรูปแก้วผลึก

เจดีย์แก้วผลึกพร้อมเครื่องสูง
“พระบรมสารีริกธาตุ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย” จากการบูรณะองค์พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยและภูมิทัศน์โดยรอบ ในช่วงปี 2533-2534 การขุดค้นทำให้พบร่องรอยอาคาร และร่องรอยการก่อสร้างพระเจดีย์ด้วยอิฐเก่าของเดิม นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุสำคัญในช่องบริเวณเสาหานด้านทิศตะวันออก ได้แก่ พระพุทธรูปแก้วผลึก และเจดีย์แก้วผลึกพร้อมเครื่องสูง โดยภายในเจดีย์แก้วผลึกได้บรรจุผอบทองคำ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 223 องค์

แผ่นชินบุผนังกรุเขียนภาพพระภิกษุ

พระพิมพ์ที่พบในกรุวัดพระศรีสรรเพชญ์
“พระบรมสารีริกธาตุ วัดพระศรีสรรเพชญ์” ด้านในกรุกระเจดีย์ประธาน องค์ทิศตะวันออก ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีแผ่นชิน (ชิน คือโลหะชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว) เขียนภาพด้วยสีฝุ่นผสมกาว ในลักษณะ 2 มิติ ใช้สีน้อย โดยมีเพียงสีเหลือง น้ำตาล แดง ขาว และดำ ตัดเส้นด้วยสีแดงและดำ เป็นภาพพระภิกษุ ห่มคลุม เดินเวียนขวา ประนมมือถือดอกบัว แสดงเป็นการเดินประทักษิณสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในกรุ และในกรุก็ยังพบพระพิมพ์และพระพุทธรูปขนาดต่างๆ ลานทองจารึกภาษาเขมร เป็นต้น

แผ่นทองคำกรุวัดพระราม

โถเขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบ จากกรุวัดพระราม
“พระบรมสารีริกธาตุ วัดพระราม” กรุวัดพระรามเคยถูกขุดค้นมาก่อนแล้ว และจากการศึกษาเครื่องทองอยุธยาที่เคยจัดแสดงไว้แต่เดิม จึงพบว่า โบราณวัตถุจากกรุวัดพระรามเคยจัดแสดงอยู่ในห้องจัดแสดงของวัดมหาธาตุมาก่อน และได้นำมาจำแนกแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ภายในกรุมีการพบแผ่นทองคำ ทั้งที่มีจารึกและไม่มีจารึก จำนวน 10 แผ่น บรรจุอยู่ภายในผอบหิน ซึ่งตั้งอยู่กลางกรุ ลึกลงไปจากพื้นพระปรางค์ 22 เมตร โบราณวัตถุอีกชิ้นที่สำคัญในกรุนี้คือ โถเขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบ ที่เจออยู่ในผอบหิน และเป็นโถเขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบสมัยหยวนชิ้นเดียวที่พบในไทย

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุวัดมหาธาตุ
“พระบรมสารีริกธาตุและเครื่องทอง วัดมหาธาตุ” กรมศิลปากรได้ขุดค้นพระปรางค์วัดมหาธาตุ เมื่อปี 2499 และพบวัตถุโบราณหลายรายการ ผอบหินที่ภายในมีสถูปทำจากวัสดุต่างๆ ซ้อนกัน 7 ชั้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยสถูปชั้นที่ 6 ทำจากอัญมณีวางซ้อนกัน 3 ชั้น รัดด้วยสาแหรกทองคำ อัญมณีชั้นล่างเป็นพลอยสีดอกตะแบก ชั้นกลางเป็นไพฑูรย์ และชั้นบนเป็นสปิเนลสีแดง อันเป็นอัญมณีที่หายากและเป็นสีที่ไม่พบในประเทศไทย ด้านข้างของฐานสถูปประดับมรกต และเพทาย ภายในมีอัญมณีสีต่าง ๆ วางเรียงกัน ได้แก่ สปิเนล โกเมน ไพฑูรย์ และมุกดาหาร

กลางสถูปเป็นตลับทองคำ ใต้ฝาตลับฝังอัญมณี 2 เม็ด ได้แก่ กะรุน สีที่หาได้ยากในปัจจุบัน และสปิเนล สีที่ไม่พบในประเทศไทย ยอดฝาตลับประดับเพชร ซึ่งมีโครงสร้างผลึกในรูปแบบ สามเหลี่ยม ที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร อันหาได้ยากยิ่ง ภายในตลับทองคำประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 1 องค์ สัณฐานคล้ายเกล็ดพิมเสนสีขาวเป็นรุ้งพราว

ภาชนะรูปปลา
โบราณวัตถุอีกชิ้นที่สำคัญคือ ภาชนะรูปปลา ทำจาก geode (จีโอด) 23 สันนิษฐานว่าคือปลาช่อน ตกแต่งโดยการเขียนลายด้วยน้ำทอง ตัดเส้นลายเกล็ดปลาด้วยสีดำและสีแดง ชิ้นส่วนด้านล่างเป็นลำตัวภาชนะ ทำสันที่ฐานให้สามารถตั้งได้ ด้านบนเป็นฝาภาชนะ ภายในบรรจุเครื่องใช้ขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ตลับทองคำรูปสิงโต ตลับทองคำลูกพิกุล ตลับอำพัน ตลับลายครามรูปเต่า ตลับลายครามรูปปลาปักเป้า ผอบหิน โถหิน กระปุกลายคราม ลูกคั่นแก้วผลึก ลูกคั่นทองคำ ประหล่ำทองคำ ด้ามมีดแก้วผลึก และประติมากรรมแก้วผลึกรูปเสือ








ความงดงามล้ำค่าของเครื่องทองโบราณสมัยอยุธยา ผ่านการจัดแสดงด้วยเทคนิคต่างๆ อย่างน่าสนใจ นับว่าเป็นการจัดแสดงเครื่องทองโบราณที่สมบูรณ์ที่สุด ภายในอาคารเครื่องทองที่ใหญ่ที่สุดในไทย ที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

* * * * * * * * * * * * * *

“นิทรรศการเครื่องทอง” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ต่างชาติ 150 บาท นักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนาไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-3524-1587 Facebook : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น