xs
xsm
sm
md
lg

“ปาท่องโก๋” อาหารอร่อยระดับโลก แต่คนไทยเรียกชื่อผิดกันมานาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปาท่องโก๋” แป้งทอดแสนอร่อยที่คนไทยนิยมรับประทาน ล่าสุดโด่งดังติดอันดับ 4 แป้งทอดอร่อยในโลก - อันดับ 5 ของหวานสตรีทฟูดดีที่สุดในโลก โดยเว็บไซต์ TasteAtlas แต่รู้ไหมว่า เราเรียกชื่อผิดกันมาแสนนาน เพราะชื่อแท้จริงแล้ว คือ “อิ่วจาก้วย”

ปาท่องโก๋ที่คนไทยนิยมรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อเช้า หรือกินเล่นเป็นขนม จับคู่กับเครื่องเคียงสุดอร่อย ทั้งชา กาแฟ นมข้นหวาน สังขยา ฯลฯ เราเข้าใจตรงกันว่า หมายถึง แป้งทอดที่ประกบคู่กันกรอบนอกนุ่มใน หรือมีบางร้านดัดแปลงเติมความสร้างสรรค์เป็นรูปไดโนเสาร์ หรือ มังกร ก็มี

แต่ความรู้ด้านหนึ่งที่มีการเข้าใจผิดในเรื่องของภาษาและการเรียกตามความนิยม นั่นคือ แท้จริงแล้ว “ปาท่องโก๋” ที่เป็นภาษากวางตุ้ง แปลว่า “ขนมน้ำตาลขาว" เป็นขนมชนิดหนึ่งของคนกวางตุ้ง รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม เนื้อสัมผัสคล้ายกับขนมถ้วยฟู

แต่ลักษณะของปาท่องโก๋ที่คนไทยเรียกกันนั้น คือ “อิ่วจาก้วย” หรือ “อิ้วจาก๊วย” เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า ขนมทอดน้ำมัน ซึ่งตรงตามลักษณะของ “ปาท่องโก๋” แบบที่เราเรียกติดปาก


ตำนานการกำเนิด “อิ่วจาก้วย” มาจากขุนนางผู้กังฉิน
แป้งทอดมาอิ่วจาก้วย มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน นับเป็นภูมิปัญญาที่คนจีนบ่มเพาะความคิดผสมความเคียดแค้น ก่อนจะกลายมาเป็นอาหารยอดนิยมอย่างในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในสมัยซ้องใต้ที่มีเมืองลิ่มอันเป็นเมืองหลวง (ราชวงศ์ซ้องหรือซ่งมี 2 ยุค คือ ซ้องเหนือ-ค.ศ. 960-1127 และซ่งใต้-ค.ศ. 1127-1279) ยุคนั้นราชวงศ์ซ้องใต้กำลังมีศึกปะทะกับประเทศไต้กิม

ฮ่องเต้ในขณะนั้นมี“งักฮุย”หรือ“เย่ว์เฟย”เป็นยอดขุนพล ที่นอกจากเก่งกาจด้านการรบสามารถต่อต้านทัพศัตรูได้ทุกครั้ง งักฮุยยังเป็นคนดีมีคุณธรรม จงรักภักดี รักชาติยิ่งชีพ จนเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนจีนทั้งประเทศ

ผิดกับ “ฉินฮุ่ย” มหาเสนาบดีกังฉิน กับภรรยา“หวังซื่อ”ที่แอบติดต่อกับข้าศึก รับสินบน และขายชาติจีนให้พวกไต้กิม เท่านั้นยังไม่พอ ยังคิดหาวิธีกำจัดกับงักฮุยให้พ้นวิถีทางด้วย เพราะเห็นว่านี่คือก้างชิ้นโตที่ขวางคออยู่

ฉินฮุ่ย จึงพยายามเพ็ดทูลข้อมูลต่างๆกับฮ่องเต้ ก่อนจะลงเอยด้วยข้อกล่าวหาว่า งักฮุยซ่องสุมกำลังเตรียมก่อการกบฏ ทำให้ป้ายอาญาสิทธิ์ถูกส่งไปเรียกตัวงักฮุยที่กำลังทำศึกอยู่ให้กลับมาเมืองหลวง แต่ว่าเหล่าบรรดาจอมยุทธ์ผู้รักชาติต่างคอยสกัดขัดขวางไม่ให้ป้ายอาญาสิทธิ์ถึงมืองักฮุย แต่ก็สกัดได้เพียง 10 ครั้ง เพราะครั้งที่ 11 งักฮุยได้รับป้ายอาญาสิทธิ์

คนรักชาติรักแผ่นดินอย่างงักฮุย เมื่อถูกป้ายอาญาสิทธิ์เรียกตัว ก็เดินทางกลับเมืองหลวงทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งก็เป็นเหตุให้ฮินฮุ่ยสบโอกาสประหารงักฮุยจนเสียชีวิต

เมื่อ “งักฮุย” สิ้นชีพ ประชาชนร่ำไห้ระงม แผ่นดินซ้องใต้ลุกเป็นไฟเพราะประชาชนต่างลุกฮือขึ้นก่อการกบฏ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกกดขี่บีฑาจากเหล่าบรรดาขุนนางกังฉินที่มีฮินฮุ่ยเป็นแกนนำ และในที่สุดราชวงศ์ซ้องใต้ก็ล่มสลาย



ความแค้นกลายเป็นของกินเชิงสัญลักษณ์

ฉินฮุ่ยและภรรยา ตั้งใจหนีไปพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ขายชาติและโกงกินมามากมายเพื่อไปเสวยสุขยังประเทศไต้กิม แต่ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอดถูกประชาชนจับได้และลงประชาทัณฑ์จนตาย

ศพของ 2 ผัวเมียถูกนำไปแขวนไว้ที่กำแพงเมือง ให้แร้งกาจิก ให้ประชาชนที่เคียดแค้นขว้างปาศพ

ส่วนคุณความดีของวีรบุรุษงักฮุยนั้น คนจีนไม่ต้องการให้ลูกหลานลืมเลือน จึงได้สร้างศาลเจ้างักฮุยไว้ในเมืองหางโจว ริมทะเลสาบซีหู บริเวณหลุมศพงักฮุยเพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงในวีรกรรม

ศาลเจ้างักฮุยนอกจากจะมีรูปปั้นของงักฮุยตั้งตระหง่านให้คนเคารพ คารวะดวงวิญญาณแล้ว ข้างหลุมศพงักฮุยยังมีรูปหล่อของฉินฮุ่ยกับภรรยาและขุนนางกังฉินอีก 2 คน นั่งคุกเข่าเอามือไพล่หลังอยู่

เวลาคนจีนมาคารวะดวงวิญญาณงักฮุยแล้ว ก็มักจะไม่ลืมไปที่รูปหล่อฉินฮุ่ยกับภรรยาเพื่อถ่มน้ำลายใส่ ก่นด่า บางคนถึงขนาดกระโดดถีบก็มี

นับเป็นความเคียดแค้นฝังลึกที่คนจีนมีต่อฉินฮุ่ยและภรรยา ซึ่งความแค้นที่เข้ากระดูกดำเช่นนี้ทำให้คนจีนได้ถ่ายทอดเรื่องราวของคนขายชาติฉินฮุ่ยและภรรยาให้ลูกหลานฟังต่อๆกันมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเตือนสติ

เท่านั้นยังไม่พอคนจีนในอดีตหลังยุคราชวงศ์ซ้องใต้ยังได้คิดค้นขนมขึ้นมาชนิดหนึ่ง เป็นการนำแป้ง 2 ชิ้นมาประกบติดกัน แล้วใส่ลงไปในน้ำมันร้อนๆเดือดพล่าน ทอดให้สุกก่อนจะนำมาฉีกกินอย่างหนำใจ

แป้ง 2 ชิ้น แทนคนขายชาติฉินฮุ่ยและภรรยา ที่ต้องใส่ทอดในน้ำมันร้อนๆเพราะต้องการให้ทั้งคู่ทุกข์ทรมานเหมือนอยู่ในขุมนรกที่ร้อนสุดขั้ว และเมื่อทอดสุกแล้วต้องนำมาเคี้ยวกินให้หายแค้นเหมือนกำลังกินคนขายชาติ


ขนมชนิดนี้นี่เอง ที่คนจีนเรียกกันว่า“อิ่วจาก้วย”


อิ่วจาก้วย กลายเป็น ปาท่องโก๋
สาเหตุที่คนไทยเรียก “อิ่วจาก้วย” ว่า“ปาท่องโก๋” สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่คนจีนจะนิยมขายอิ่วจาก้วยคู่กับปาท่องโก๋แท้ๆ (ภาษากวางตุ้งเรียกปั๋กถ่องโกว้)

คนที่มาขายขนมมักจะขายขนมรวมๆ กันหลายอย่าง ซึ่งก็มีทั้งปาท่องโก๋และอิ่วจาก้วยรวมๆ กันไป คนขายอาจจะร้องขายปาท่องโก๋เป็นอย่างแรก และต่อด้วยขนมอย่างอื่น


คนไทยเกิดจำได้เฉพาะชื่อแรก เมื่อไปซื้อขนมมากินก็ได้อิ่วจาก้วยซึ่งเป็นขนมทอดมาทุกที จึงอนุมานว่าขนมทอดแบบนี้มีชื่อว่าปาท่องโก๋ตามที่คนขายพูด แล้วก็เรียกกันต่อๆ มาว่า “ปาท่องโก๋” จนเป็นแป้งทอดแบบที่เรารู้จักและนิยมเรียกกันไปในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ไปชิมปาท่องโก๋ในร้านติ่มซำแถวๆ ภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดตรัง ก็อาจจะได้ปาท่องโก๋ในลักษณะแป้งขาวๆ มาแทน เพราะคนแถวนั้นโดยเฉพาะคนรุ่นก่อนยังเรียกขนมทอดน้ำมันว่า “อิ่วจาก้วย” อยู่เหมือนเดิม

แต่สำหรับร้านขายปาท่องโก๋ทั่วๆ ไป ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า ขนมทอดน้ำมันแบบนี้เรียกว่า “ปาท่องโก๋” ตามความนิยม


#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น