xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตา! มหัศจรรย์ “ปราสาทพนมรุ้ง” พระอาทิตย์ส่องลอดช่อง 15 ประตูครั้งแรกของปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


มหัศจรรย์ “ปราสาทพนมรุ้ง” กับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ตรงประตูทั้ง 15 ช่อง
เตรียมชม มหัศจรรย์ “ปราสาทพนมรุ้ง” กับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ตรงประตูทั้ง 15 ช่อง ซึ่งแต่ละปีจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น โดยครั้งแรกของปีนี้ (66) จะมีขึ้นในวันที่ 5-7 มี.ค. ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป กับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู ที่ ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

ทุก ๆ ปี ที่ จ.บุรีรัมย์ จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ “ปราสาทพนมรุ้ง” ที่ถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ คือ พระอาทิตย์ขึ้นและตก ตรงประตูทั้ง 15 ช่องเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งหนึ่งมีจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ได้แก่

-พระอาทิตย์ตกลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ วันที่ 5-7 มีนาคม และ 5-7 ตุลาคม

-พระอาทิตย์ขึ้นลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 3-5 เมษายน และ 8 -10 กันยายน

พระอาทิตย์ขึ้นลอดช่อง 15 ประตู (ภาพจากเพจ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์” บันทึกภาพวันที่ 10 ก.ย.63)
สำหรับในปีนี้ (2566) ทางอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้จัดกิจกรรมชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู บริเวณลานประตูหน้าปราสาททิศตะวันออก ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป โดยคาดว่าพระอาทิตย์จะตกในเวลาประมาณ 18.15 น.

ปราสาทพนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นปราสาทหินในอารยธรรมขอมโบราณที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” กรมศิลปากร

ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างบนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว
ปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ก่อสร้างอย่างสวยงามอลังการตามคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีการบูรณะก่อสร้างอย่างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 17 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในช่วงนั้น

ความงดงามและเสน่ห์ของปราสาทพนมรุ้งนั้นมีมากมาย เริ่มตั้งแต่เส้นทางเดินสู่ปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ ถูกออกแบบลดหลั่นไปตามภูมิประเทศ มีเส้นทางที่มีเสานางเรียงตั้งอยู่เรียงราย ผ่านสะพานนาคซึ่งเป็นดังจุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ นำสู่องค์ “ปราสาทประธาน” ที่เปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ

ปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทประธานสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน มีไฮไลต์คือองค์ปรางค์ประธาน ที่ภายในตัวเรือนธาตุมีห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานศิวลึงค์รูปเคารพสำคัญของลัทธิไศวนิกาย ความพิเศษของของศิวลึงค์ที่นี่ก็คือ จะมีท่อโสมสูตร หรือร่องรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากพิธีกรรมเซ่นสังเวยองค์ศิวเทพต่อยาวออกมา

ส่วนอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลต์สำคัญเคียงคู่กับตัวปราสาทก็คือ ลวดลายสลักหินหรือภาพจำหลักหิน ที่ถือเป็นงานในระดับมาสเตอร์พีช ฝีมือประณีตงดงาม นำโดยภาพ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช” ที่อยู่เคียงคู่กัน รวมถึงภาพลวดลายประกอบอื่นๆ และภาพอารมณ์ขันของช่างขอมโบราณที่ได้สลักแฝงไว้ตามแง่มุมต่างๆ ที่งดงามและค่อนข้างสมบูรณ์

ปราสาทประธาน
นอกจากความงดงามอลังการของ “ปราสาทพนมรุ้ง” ที่เป็นสถาปัตยกรรมจากยุคโบราณ ยังมีอีกหนึ่งความน่าอัศจรรย์คือ ใน 1 ปี จะมี 4 วันที่พระอาทิตย์ขึ้น-ตกลอดผ่านช่องประตูทั้ง 15 ประตูเป็นแนวเดียวกันตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

เรื่องนี้มีข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการว่า สถาปนิกขอมโบราณน่าจะเลือกสร้างปราสาทพนมรุ้ง โดยใช้แสงอาทิตย์ยามเช้ากำหนดทิศทางของปราสาทและแนวประตูทั้ง 15 ช่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี แต่ต่อมาการหมุนของโลกเบี่ยงเบนไปเรื่อย ๆ วันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องลอดทะลุประตูทั้ง 15 ช่อง จึงเลื่อนขึ้นมาปรากฏในช่วงต้นเดือนเมษายน

หน้าบันศิวนาฏราช

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์




กำลังโหลดความคิดเห็น