เก็บตกบรรยากาศ “งานจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” จ.สุรินทร์ เติมเต็มความสุขคู่รักในวันแห่งความรัก สร้างความผูกพันวิถีคนกับช้างงานนี้มีเจ้าบ่าวอายุมากถึง 89 ปี เจ้าสาวอายุ 70 ปีร่วมจดทะเบียน
วันที่ 14 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา จังหวัดสุรินทร์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ประจำปี 2566 ครั้งที่ 14 โดยมีนายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยนำอัตลักษณ์การแต่งงานแบบกลุ่มชาติพันธุ์กูย หรือกวย หรือเรียกว่า”พิธีซัตเต" เป็นสิ่งจูงใจเพื่อตึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนจังหวัดสุรินทร์ กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดให้คึกคักภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
โดยมีขบวนแห่ช้างคู่บ่าว-สาว เริ่มขบวนจากหลังสถานีรถไฟสุรินทร์ ผ่านถนนสายหลักใจกลางเมืองสุรินทร์ ไปยังสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (สวนใหม่) เพื่อร่วมพิธีซัตเต ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีการแต่งงานแบบพื้นบ้านของชาวกวย, กูย, ส่วย หรือ เยอ
คำว่า "ซัตเต" เป็นภาษาส่วย แปลว่า "ผูกแขน" หรืออาจจะเรียกตามภาษาเขมรถิ่นไทยในแถบสุรินทร์ว่า "ฮาวปลึงจองได" ก็ได้ ซึ่งคำว่า "ฮาวปลึง" หมายถึง "การเรียกขวัญ" ส่วนคำว่า "จองได" มีความหมายว่า "ผูกข้อผูกแขน หรือ ผูกข้อมือ" ซึ่งตามประเพณีอีสานทั้งอีสานเหนือ อีสานใต้ การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นการแสดงความชื่นชมยินดีให้กับเจ้าของขวัญ ให้มีความสุข อายุยืนยาว
มีพิธีการสู่ขวัญ หรือสูตรขวัญ โดยพ่อหมอหรือพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการสวดนี้ใช้ภาษาท้องถิ่นแตกต่างไปในจังหวัดทางอีสานใต้ใช้ภาษาเขมร เมื่อเสร็จสิ้นการสวดแล้วก็จะมีการผูกข้อมือโดยพราหมณ์ และญาติผู้ใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของการรับขวัญและเป็นสิริมงคลสืบไป
จากนั้นจะมีพิธีเลี้ยงอาหารช้าง เพิ่มความเป็นสิริมงคล และร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์ และที่สำคัญคือพิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งเดียวในโลก โดยวันวาเลนไทน์ในปี 2556 นี้มีคู่บ่าว-สาว เข้าร่วมจำนวน 30 คู่ และช้างจำนวน 30 เชือก อีกทั้งปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดขบวนพาเหรดคู่สมรสในเมืองสุรินทร์ เพราะปีผ่านมาจัดอยู่ที่หมู่บ้านช้าง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ไฮไลท์สำคัญของพิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างในปีนี้อยู่คู่บ่าว-สาวที่มีอายุมากที่สุด คือ คุณแก้ว บุตรชาติ (อดีตควาญช้างหลวง) อายุ 89 ปี และคุณยายเกษราภรณ์ สมุดทอด อายุ 70 ปี โดยคุณตาบอกว่าตนรู้สึกยินดี และดีใจมากๆที่ทางจังหวัดเชิญมาเป็นคู่บ่าว-สาว กิตติมศักดิ์และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ ตนเองกับคุณยายเกษราภรณ์ เพิ่งจะอยู่กินด้วยกันมาเมื่อไม่กี่ปี วันนี้เลยถือโอกาสมาจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างเพื่อจะได้เป็นความภาคภูมิใจและได้เป็นการช่วยบ้านช่วยเมืองไปด้วย
ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline