กระทรวงทรัพฯ สำรวจฟอสซิล “วนอุทยานเขานางพันธุรัต” พบซากอายุ 250-290 ล้านปี เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณี ได้เข้ามาสำรวจซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ภายในวนอุทยานเขานางพันธุรัต จังหวัดเพชรบุรี พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate fossils) อายุประมาณ 250-290 ล้านปี
โดยซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate fossils) ที่สำรวจพบในเบื้องต้น มีดังนี้
1.ปะการังกลุ่ม (Coronial corals) เป็นปะการังที่อยู่เป็นกลุ่ม colony มีหลายลักษณะเกาะรวมกันเป็นก้อนขนาดใหญ่หรือเชื่อมต่อคล้ายกับกิ่งไม้
2.ปะการังเขาสัตว์ (Rogose corals) เป็นปะการังที่อยู่ตัวเดียวลักษณะคล้ายเขาสัตว์ ซึ่งปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปเเล้ว
3.พลับพลึงทะเล (Crinoid) เป็นสัตว์ในกลุ่ม เอไคโนเดริม (Echinoderm) มีก้านลักษณะเป็นวงเเหวนยอดเป็นช่อคล้ายดอกไม้
4.ฟิวซูลินิด (Fusulinid) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเลและสูญพันธุ์ไปแล้ว สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าและอาจยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร
ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ที่สำรวจพบในพื้นที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต เป็นภูเขาหินปูนในยุคเพอร์เมียน และมีอายุ 250-290 ล้านปี
ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่พร้อมเปิดเผยถึงกรณีที่นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี สำรวจและค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ว่าเป็นอีกสิ่งที่น่ายินดีสำหรับจังหวัดเพชรบุรี การค้นพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ตามก้อนหินปูนที่หลุดและร่วงลงมาตามเชิงเขา ซึ่งได้แก่ ปะการังไครนอยด์หรือพลับพลึงทะเล เปลือกหอยต่างๆ ฟิวซูลินิดหรือคตข้าวสาร เศษเปลือกหอยจำนวนมาก ซึ่งพบได้ทั่วไปในชั้นหินปูน มักโผล่มาเฉพาะด้านข้าง จึงทำให้เห็นเป็นเส้น เหมือนโดนผ่าออกซึ่งมีทั้งหอยฝาเดียว หอยสองฝา และกลุ่มแบรคิโอพอดหรือหอยตะเกียง
ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดเตรียมพัฒนาพื้นที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา เพื่อส่งเสริมด้านการศึกษา เรียนรู้ ทางธรณีวิทยา ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกทางหนึ่งด้วย ดร.ยุทธพล กล่าว
ด้าน นายภูเบศร์ สาขา นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวเสริมว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์เขานางพันธุรัต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พื้นที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ซึ่งกำเนิดขึ้นจากตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตที่สะสมตัวในทะเลโบราณ เรียกว่า ยุคเพอร์เมียน (Permian)
สำหรับฟอสซิลปะการัง มีทั้งปะการังเป็นกลุ่มก้อนและแบบเป็นตัวเดี่ยวๆ มักพบฟอสซิลโผล่มาเฉพาะหน้าตัดตามขวาง เป็นลักษณะแฉกรัศมี คล้ายช่อดอกไม้ บางชนิดเป็นกลุ่มก้อนที่มีก้านยาวคล้ายกิ่งไม้ ขนาดไม่ใหญ่มาก บางชนิดพบเป็นตัวเดี่ยวๆ หากพบสมบูรณ์ทั้งตัวจะมีลักษณะเหมือนเขาสัตว์ จึงเรียกปะการังเขาสัตว์ (Rugose coral) ซึ่งจะเป็นกลุ่มปะการังที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เมื่อ 250 ล้านปีก่อน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline