หากกล่าวถึงประเทศตะวันออกกลางที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาเนิ่นนาน “อิหร่าน” ถือเป็นหนึ่งในนั้น นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ในฐานะอาณาจักรเปอร์เซียกับสยาม โดยย้อนอดีตกลับไปยังจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดน ซึ่งเป็นมิตรภาพอันแน่นแฟ้นยาวนานมากว่า 400 ปี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้และปรากฏให้ตามรอยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มีการสันนิษฐานว่าเปอร์เซียกับสยามประเทศน่าจะมีสัมพันธ์ทำการค้ากันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย โดยจากข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่มีคำว่า “ตลาดปสาน” ซึ่งนักปราชญ์ด้านโบราณคดีและภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า “บอซัร” หรือ “บาซาร์” ที่แปลว่า “ตลาด” และคำว่า “เหรียญ” ที่ไทยและเขมรใช้เรียกเงินตรานั้นก็มาจากคำว่า “เรียล” ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย
หลักฐานการติดต่อระหว่างสองดินแดน ยังปรากฏในสมัยอยุธยาตอนต้น จากการค้นพบเหรียญกษาปณ์อักษรฟาร์ซี (Farsi) ภาษาอิหร่าน ในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ราว พ.ศ. 1967-1991
แต่จุดเริ่มต้นที่บันทึกอย่างเป็นทางการในความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรเปอร์เซียกับสยามประเทศ เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 – 2148) เมื่อเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของพ่อค้าจากเมืองกุมแห่งเปอร์เซีย “เฉกอะหมัด กูมี" และน้องชาย “มะหะหมัด ซาอิด” ได้เข้ามาเทียบท่าที่ป้อมเพชร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งต่อมา เฉกอะหมัด กุมมี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้จับจองที่ดินเพื่อทำการค้าและเพื่อประกอบศาสนกิจ รวมทั้งสามารถเผยแพร่ศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ในแผ่นดินอยุธยา
หลังจากนั้นในสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม เฉกอะหมัด ได้รับราชการรับผิดชอบงานทั้งด้านการค้าและการต่างประเทศ ด้วยความสามารถและซื่อสัตย์จงรักภักดี จนได้เลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเรื่อยมาจนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย
ประวัติศาสตร์สำคัญที่ต้องจารึก คือ การได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระราชทานยศพร้อมทำหน้าที่เจ้ากรมท่าขวาและจุฬาราชมนตรี ท่านเฉกอะหมัด จึงนับเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย (แต่ในสมัยนั้น คือ ตำแหน่งขุนนางด้านการค้า)
ท่านเฉกอะหมัด รับใช้ทำงานราชการยาวนานถึง 6 แผ่นดิน ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรม โดยปัจจุบันสถานที่ฝังศพ ปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งราชสำนัก คือ อาคารทรงโดมสีทองอร่าม อยู่ในพื้นที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสุสานแห่งนี้ ยังเปรียบดังอนุสรณ์สถานความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อิหร่าน และเป็นอนุสรณ์สถานของต้นสกุลไทยมุสลิมชีอะห์ และสกุลบุนนาค
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอาณาจักรเปอร์เซียนั้น ส่งผลทำให้ชาวเปอร์เซียเข้ามีบทบาททางการค้า-การเมืองและวัฒนธรรมในกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์ หรือเสื้อครุยของขุนนางในราชสำนักอยุธยา ที่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเสื้อคลุม “Chuga” ที่ใช้ในราชสำนักเปอร์เซีย, “ลอมพอก” หรือหมวกยอดแหลมสูง และฉลองพระบาทเชิงงอน ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาโดยชาวเปอร์เซีย และยังเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย
รวมถึงอิทธิพลต่องานก่อสร้าง อารยสถาปัตย์บางแห่ง เช่น สะพานเทพหมี สถาปัตยกรรมอินโด-อิหร่าน ที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และนับเป็นสะพานที่ยังมีความสมบูรณ์และงดงามหาชมได้ยาก (ตั้งในพื้นที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยา)
สำหรับความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับอิหร่านในยุคปัจจุบันนั้น ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 นอกจากนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในปี พ.ศ. 2556 จังหวัดพระนครศรีอยุธยากับเมืองกุม (Qom, Qum) แห่งอิหร่านได้ร่วมลงนามเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองแผ่นดินที่ผูกพันแนบแน่นมาตลอดระยะเวลากว่า 400 ปี
นอกจากนี้ ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศอิหร่าน ก็นับเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวไทยต่างหลงใหลหากได้ไปเยือน ด้วยความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ความงดงามของธรรมชาติ และมนุษยสัมพันธ์อันดีของชาวอิหร่านที่หลายคนต่างประทับใจ
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline