xs
xsm
sm
md
lg

สมดุล: Somdul Agroforestry Home วนเกษตรอย่างยั่งยืนที่อัมพวา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรยากาศริมน้ำแม่กลองที่ไหลเอื่อยยามสายยิ่งดูเงียบสงบงดงามกว่าเดิม เมื่อมองจากพื้นที่ร่มรื่นใต้เงาไม้ของ “Somdul Agroforestry Home” สถานที่ที่ผสมผสานทั้งความเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ศูนย์เรียนรู้ และวนเกษตร ซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน


บรรยากาศภายในพื้นที่ “สมดุล”
ความหมายของสมดุล
“สมดุล” หรือ “Somdul Agroforestry Home” เปรียบตนเองเป็นบ้านที่มีความฝันจะบาลานซ์ไลฟ์สไตล์ ระหว่างชีวิตคนเมืองกับธรรมชาติให้อยู่ตรงกลาง ผ่านการทำเกษตรกรรมเชิง “วนเกษตร” แบบเกษตรอินทรีย์ โดยปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการบริการ อาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปในโซนคาเฟ่ เปิดโอกาสให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ผ่านการศึกษาภาคปฏิบัติในกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ และถ่ายทอดวิถีชีวิตองค์ความรู้ของศาสตร์วนเกษตร เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า “ความสุขอย่างยั่งยืน”

จุดหมายปลายทางแห่งนี้ เริ่มต้นจากนักศึกษาในชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเอแบค จำนวน 6 คน ได้แก่ เอี่ยม-อติคุณ ทองแตง, เม-เมธาพร ทองแตง, อู๋-บุญชู อู๋, กันต์-กันต์ คงสินทรัพย์, ไอซ์-รังสิมันตุ์ ตันติวุฒิ และเจมส์-พงศกร โควะวินทวีวัฒน์ ซึ่งทุกคนมีความสนใจในงานด้านอนุรักษ์ และใช้พื้นที่ที่มีทำการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง จนกระทั่งมาลงตัวที่ "วนเกษตร" หรือ การเกษตรบนพื้นที่ป่า ก่อนจะขยายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ความร่มรื่นที่ สมดุล คาเฟ่
อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ก่อตั้งอธิบายว่า ที่นี่เป็นการทำเกี่ยวกับความยั่งยืนในการบริโภค และเชิงการผลิต “ร้านอาหาร คาเฟ่ของสมดุล จะอธิบายสิ่งที่นำมาจำหน่ายว่ามาจากที่ไหนบ้าง มีความปลอดภัยอย่างไร เรามีฟาร์มเทเบิลส่วนหนึ่งที่ผลิตเอง และมีเครือข่ายเกษตรที่เรามั่นใจได้ในความปลอดภัย อาหารมีที่มาที่ไปอย่างไร อาหารส่วนหนึ่งเป็นออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี เราเน้นเรื่องความจริงใจ ที่มาของอาหารที่จับต้องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องรู้”

“เราเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่หันมาทำธุรกิจ จึงอยากทำธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน และการอนุรักษ์ เราเปิดที่นี่ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนทำอย่างไร โดยมีคอนเนคชั่นกับกลุ่มอนุรักษ์หลายกลุ่ม ก็นำข้อมูลมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้เรียนรู้”


อยากให้คนไทยรู้จักการแยกขยะ
นอกจากความปลอดภัยด้านการบริโภคแล้ว อติคุณ เล่าถึงแนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหนึ่งในแกนกลางสำคัญของการขับเคลื่อน “เราทำในรูปแบบวนเกษตรใช้ภูมิปัญญาเกษตรแบบร่องสวน ทำปุ๋ยเอง โดยเน้นเรื่อง zero waste โดยใช้อาหารที่เหลือจากคาเฟ่ ขยะเศษอาหาร จะนำไปแยกน้ำ แยกกาก เอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก และมีวิธีการจัดการการแยกขยะ เพราะขยะที่ขายไม่ได้เทศบาลจะนำไปฝังกลบ เราจึงมีเป้าหมายว่าขยะจะต้องนำไปถูกฝังกลบให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง”


สมุทรสงครามเป็นเมืองน้ำ “สมดุล” จึงมองถึงปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดไมโครพลาสติกน้อยที่สุด ถ้าการจัดการผิดวิธี ขยะไมโครพลาสติกก็จะหลุดรอดไปสิ่งแวดล้อมได้ ที่นี่จึงต้องการเป็นต้นแบบการคัดแยกขยะ
ขยะ เน้นเรื่องที่มาและที่ไป บรรจุภัณฑ์แบบไหนให้ปลอดภัยและจัดการง่าย

“เราเน้นใช้จาน แก้ว เพราะล้างได้ ใช้กระดาษ หลอดย่อยสลายได้ รวมถึงกระป๋อง อลูมิเนียม เพราะนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยมีจุดแยกขยะและเครื่องบีบอัดกระป๋อง ส่วนพลาสติกที่จำเป็นจริงๆ จากพวกแพ็คเกจ เราต้องคัดแยก ไม่ได้ไปทิ้งขยะรวมกับขยะทั่วไป โดยแยกไปรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ใหม่ ส่วนขยะที่รีไซเคิลยากจริงๆ เราส่งไปโครงการที่ผลิตพลาสติกเพื่อแปรรูปมาทำพลังงาน

กล่องเลี้ยงผึ้งชันโรง
ผึ้งชันโรง เครื่องมือวัดความสมดุลสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในไฮไลต์ที่ “สมดุล” อยากให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้ คือ การเลี้ยง “ผึ้งชันโรง” แมลงตัวจิ๋วที่เสมือนเป็นเครื่องมือรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

“ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว” (Stingless bees) เป็นแมลงผสมเกสรจำพวกผึ้งแต่ไม่มีเหล็กไน “ชันโรง”ถือเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งป่า และยังให้น้ำผึ้งได้อีกด้วย โดยน้ำผึ้งและเกสรของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพราะมีปริมาณน้อยกว่า และหายาก เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งปกติ

รังผึ้งชันโรง
ความสำคัญที่มีต่อการเกษตรของชันโรงจะช่วยผสมเกสรพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นานโดยไม่จับเกาะอะไร ทำให้กระพือปีกได้นานบินร่อนลงเก็บเกสร และดูดน้ำหวานเป็นไปอย่างนุ่มนวลไม่ทำให้กลีบดอกช้ำ “ผึ้งชันโรง เป็นแมลงที่สามารถต้านทานเคมีได้ต่ำ เมื่อมีผึ้งชนิดนี้ในพื้นที่ไหนมี ก็เป็นการการันตีเรื่องระบบนิเวศได้ว่า ไม่มีสารเคมี สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและดิน”


“เราทำงานร่วมกับสถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาเรื่องผึ้ง มีกรณีศึกษาที่เห็นชัด การที่เราให้สวนหนึ่งเปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้เคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ หลายสวนก็ไม่ยอม อาจารย์จึงถามว่าสนใจเลี้ยงผึ้งชันโรงมั้ย ก็บอกว่าไม่สนใจ เพราะผสมเกสรด้วยมืออยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าสวนข้างๆที่ทำสวนอินทรีย์ ปลูกฟักทอง ได้ผลผลิตดีมากขึ้น เพราะผึ้งชันโรง ช่วยในการผสมเกสรมากกว่าเท่าตัว ชันก็ขายได้ น้ำผึ้งก็ขายได้ เกษตรกรเริ่มเห็นข้อเปรียบเทียบ ก็มาถามเอง ในเรื่องการใช้เคมี ซึ่งอย่างแรกสุด คือ ต้องห้ามฉีดยาฆ่าหญ้า ระยะองศาบินประมาณ 70 เมตร เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการทำเกษตรของชาวบ้านไปในตัว”

ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น