xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! "หอยนางรม" ช่วยกรองน้ำทะเลที่มีมลพิษให้ใสได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”
เพจดังแชร์ "หอยนางรม" ตัวช่วยกรองน้ำทะเลที่มีมลพิษให้ใสสะอาด และยังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศท้องทะเล ในทางกลับกันเมื่อมันดูดสารพิษเข้าไปในตัวเองเยอะ เวลากินจึงควรปลุกสุกก่อนเพื่อความปลอดภัย

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”
เพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” โพสต์เรื่องราวของการทดลองของ "หอยนางรม" ที่ช่วยกรองน้ำทะเลให้ใสได้ โดยได้ให้ข้อมูลว่า

เจอคำถามจากภาพข้างล่างนี้ ที่เพจ "สัตว์โลกอมตีน" เอามาโพสต์ถามว่า น้ำขุ่นๆ มันใสขึ้นเพราะตัวหอยนางรม หรือเปลือกหอย กันแน่? คำตอบคือ จากตัวหอยครับ เพราะสัตว์กลุ่มหอยนั้นมีลักษณะการกินอาหารโดยการดูดน้ำ และกรองอาหารจากน้ำ กันอยู่แล้ว ซึ่ง "หอยนางรม" เองก็กำลังเป็นที่สนใจของนักสิ่งแวดล้อม เพราะมันมีความสามารถในการกรองน้ำ ที่มีมลพิษจากสารอินทรีย์ ได้ดีครับ

ดังเช่นการทดลองในคลิปนี้ (https://www.youtube.com/watch?v=N39nPt7k3p0) ซึ่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง University of Hong Kong ได้สาธิตว่า หอยนางรมสามาารถทำให้น้ำทะเลที่มีมลพิษนั้นสะอาดขึ้นได้ โดยคลิปเร่งความเร็วแบบ time lapse นี้ แสดงให้เห็นว่า หอยนางรมของฮ่องกงสามารถกรองน้ำเสียที่มี "สาหร่ายพิษ ขนาดตาเปล่ามองไม่เห็น" ได้หมดภายในเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งสาหร่ายพิษดังกล่าวนี้ คือตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ขี้ปลาวาฬ (red tide)" ที่มีสาหร่ายพิษขนาดจิ๋วนี้ในทะเลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้ปลาและสัตว์ทะเลตายได้

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”
จากความสามารถของพวกสัตว์กลุ่มหอย โดยเฉพาะพวกหอยสองฝา ที่ใช้ระบบเหงือกของมันกรองอาหารพวกแพลงก์ตอน (อย่างสาหร่ายเซลล์เดียว) กินจากน้ำได้ โดยพบว่า หอยนางรมหนึ่งตัวสามารถกรองน้ำได้ถึง 120-160 ลิตรต่อวัน กรองเอาสารที่ถ้ามากเกินไปจะกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และคาร์บอนไดออกไซด์ จึงทำให้น้ำทะเลใสขึ้น ช่วยควบคุมระดับของสาหร่าย และดึงดูดให้สัตว์ทะเลอื่นๆ เข้ามามากขึ้น

ทางมหาวิทยาลัยฮ่องกง จึงได้ร่วมกับสมาคมนิเวศวิทยาทางทะเล เริ่มโครงการ "หอยนางรม กู้ทะเลของเรา" และพยายามจะนำหอยนางรมประมาณ 5-10 ล้านตัว มาปล่อยให้เติบโตที่ชายฝั่งของเกาะฮ่องกง ในช่วงเวลา 3 ปี ซึ่งคาดหวังกันว่าการเพาะเลี้ยงหอยนางรมแบบนี้ จะช่วยให้คุณภาพน้ำทะเลของฮ่องกงดีขึ้นอย่างมาก


หอยนางรมเป็นสัตว์ที่สำคัญมากต่อความหลากหลายทางชีวภาพของบริเวณปากแม่น้ำหรือชายฝั่ง พวกหอยสองฝาเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ช่วยให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติสะอาดขึ้น แต่มันยังมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเล ที่บรรดาปลาและสาหร่ายต้องพึงพาอาศัยพวกมัน

ส่วนเปลือกหอยนางรมนั้น มีความสำคัญทางอ้อมต่อการช่วยกรองน้ำในทะเลด้วย โดยที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำเอาเปลือกหอยนางรมจากร้านอาหาร มาช่วยให้เป็นเป็นบ้านสำหรับตัวอ่อนของหอย เพื่อฟื้นฟูและเพาะพันธุ์หอยนางรมให้กลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณท่าเรือนิวยอร์กได้อีกครั้ง (หลังจากสูญหายไปเนื่องจากมลพิษจากอุตสาหกรรม) และนำไปสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำ ภายในปี ค.ศ. 2035

ปรกติแล้ว เวลาที่หอยนางรมผสมพันธุ์ โดยตัวผู้จะปล่อยสเปิร์มออกมาในน้ำ ผสมกับไข่ที่ปล่อยออกมาจากตัวเมีย กลายเป็นตัวอ่อนหอย (larvae) ที่จะหาพื้นที่ยึดเกาะ และเริ่มหาแคลเซียมไบคาร์บอเนตมาสร้างเปลือกของตัวเอง (ฟาร์มหอยนางรม มักจะใช้ตะแกรงหรือแท่งไม้ให้ตัวอ่อนหอยเกาะ และป่นเปลือกหอยเก่าโรยลงในน้ำ เพื่อเป็นแคลเซียมตั้งต้น ให้หอยสร้างเปลือกของตัวเอง)


ทางโครงการนี้ จึงรับบริจาคขยะเปลือกหอยจากร้านอาหารในเครือข่าย แล้วนำตัวอ่อนหอยมาเพาะต่อที่เปลือกหอย โดยเปลือกหอยนางรมเก่า 1 เปลือก สามารถเป็นบ้านให้หอยได้ถึง 20 ตัว เมื่อหอยโตเต็มที่ จึงนำใส่กล่องตะแกรง เพื่อสร้างเป็นแนวปะการังหอยนางรม ติดตั้งยังท่าเรือต่างๆ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพของน้ำทะเลรอบเมืองนิวยอร์ก

ป.ล. สำหรับอันตรายจากการกินหอยนางรมที่อยู่ริมทะเล และดูดกรองเอาสารมลพิษเข้าไปนั้น ถ้าเป็นพื้นที่ชายทะเล ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม หรือแหล่งทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีเยอะ ก็จะพบว่าหอยมีการสะสมสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (เช่น สารตกค้างกลุ่ม พีซีบี กลุ่มออกาโนฟอสเฟต โลหะหนัก ฯลฯ) ในระยะยาวได้

แต่ที่มีรายงานบ่อยครั้งกว่า คือ การพบสารชีวภาพที่เป็นพิษ (biotoxin) เช่น กรดโอคาดาอิก (okadaic acid) และ ไดโนไฟซิสทอกซิน (dinophysis toxin) ซึ่งสร้างจากสาหร่ายเซลล์เดียวไดโนแฟลเจลเลตชนิดมีพิษ ที่หอยกินเข้าไปและสะสมในตัวมัน ซึ่งสารพวกนี้มักไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน และส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อได้

รวมไปถึงการมีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น เชื้อวิบริโอ (vibrio) ซาลโมเนลลา (Salmonella) แคมไพโลแบคเทอร์ (Campylobacter) ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ถ้านำมาบริโภคดิบๆ ครับ จึงควรกินอาหารทะเลที่ทำให้สุกก่อนเสมอ

ข้อมูลจาก https://educaemprendeoaxaca.home.blog/2020/08/24/las-ostras-salvan-nuestros-mares/ และ จาก https://educaemprendeoaxaca.home.blog/2020/08/24/las-ostras-salvan-nuestros-mares/

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น