xs
xsm
sm
md
lg

สักการะ “องค์พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” ยลพญานาคสุดอลังการแห่ง “ภูมโนรมย์” มุกดาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มุกดาหาร” อีกหนึ่งดินแดนที่มีความเชื่อ ความศรัทธาเกี่ยวกับพญานาคอย่างแพร่หลาย โดยเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในลำน้ำโขง มีอิทธิฤทธิ์มาก และคอยดูแลคุ้มครองผู้คนให้มีความสุข จึงเป็นที่มาของการสร้าง “องค์พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” แลนด์มาร์กสุดอลังการแห่งภูมโนรมย์

บริเวณบนทิวเขาที่ตั้งอยู่เคียงข้างแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดมุกดาหาร มีรูปปั้นพญานาคงามสง่าตนหนึ่งอยู่ท่ามกลางป่าเขา กำลังจ้องมองไปยังแม่น้ำโขง เกล็ดตามลำตัวสีฟ้าอมเขียวเป็นประกายสะท้อนแสงแดดสวยงาม


พญานาคตนนั้นคือ “องค์พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” แห่ง “ภูมโนรมย์” อันเป็นที่ตั้งของ “วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์” โดยรูปปั้นพญานาคตนนี้ได้ชื่อว่าเป็นพญานาคที่งดงามและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และถือเป็นแลนด์มาร์กสุดอลังการแห่งเมืองมุกดาหาร


สำหรับ “วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์” เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ในตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ


เมื่อเดินทางมาถึงที่วัดให้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถ แล้วขึ้นรถสองแถวที่ทางวัดจัดบริการไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากที่จอดรถของวัดด้านบนเขามีเนื้อที่ไม่มากนัก ทางวัดจึงให้ผู้ที่มาเยือนจอดรถไว้ที่ลานจอดด้านล่าง และจะมีรถสองแถวเวียนรับส่งคนขึ้นไปที่วัด รวมถึงรับคนลงจากวัดมายังที่จอดรถด้วย โดยที่จอดรถและรถสองแถวให้บริการฟรี ซึ่งเราสามารถบริจาคเพื่อช่วยค่ารถได้ตามศรัทธา




โดยภายในวัดยังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองที่สร้างขึ้นจากหินทราย กว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 1.8 เมตร รวมถึงพระธาตุภูมโนรมย์ ซึ่งเป็นพระธาตุทรงแปดเหลี่ยมมีเอวเป็นฐานหักเชิงเป็นรูปแปดเหลี่ยม และยังมี “พระอังคารเพ็ญ” เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่สร้างขึ้นพร้อมพระพุทธบาท เพื่อให้ครบทั้งพระธาตุ พระพุทธรูป และพระบาท ตามความเชื่อของผู้สร้าง






นอกจากนั้น ที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 39.99 เมตร สูง 59.99 เมตร รวมความสูงจากฐานถึงยอดเศียร 84 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขาภูมโนรมย์ สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ขณะนี้บริเวณภายในฐานองค์พระยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่สามารถเดินขึ้นไปด้านบนของฐานองค์พระได้ ซึ่งโดยรอบของฐานด้านบนมองเห็นตัวเมืองมุกดาหาร แม่น้ำโขง รวมไปถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ได้




อีกหนึ่งไฮไลต์เมื่อมาเยือนวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ จะต้องไม่พลาดมากราบสักการะ “พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” หรือ “ปู่ศรีมุกดา” ซึ่งเป็นรูปปั้นพญานาคขึ้นที่บริเวณลานหินของวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ให้ผู้ที่เคารพศรัทธาได้มากราบไหว้ขอพร


การสร้าง “พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” เป็นดำริของพระมหามงคล มังคลคุโณ รองเจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เพื่อให้พญานาคปกปักรักษาองค์พระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาภูมโนรมย์ และสร้างเนื่องในวาระเฉลิมฉลองการก่อตั้งวัดครบ 100 ปี และครบรอบ 36 ปีจังหวัดมุกดาหาร


จากคำบอกเล่าของพระราชมุกดาหารคณี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร ที่ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่สร้างฝายกั้นน้ำขึ้นเพื่อนำน้ำมาใช้ในวัดเมื่อ พ.ศ. 2525 ขณะกำลังก่อสร้างได้มีงูใหญ่สีดำสนิทเลื้อยมาบริเวณใกล้ๆ แล้วชูคอดูชาวบ้านทำงาน จากนั้นก็เลื้อยไปกินน้ำที่บ่อน้ำทิพย์ แล้วเลื้อยกลับเข้าไปในถ้ำโดยไม่ได้ทำอันตรายแก่ผู้ใด


พญานาคพญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช เป็นรูปปั้นพญานาคเศียรเดียวองค์ใหญ่ ขนาดลำตัวยาว 122 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร ขนาดได้สัดส่วน ลำตัวเลื้อยขดไปมาดูราวกับมีชีวิต เกล็ดสีน้ำเงินเข้มอมเขียวเป็นประกายเมื่อต้องแสงแดดงดงามยิ่งนัก พญานาคชูคอหันไปทางแม่น้ำโขงเบื้องล่างเหมือนจะคอยคุ้มครองป้องภัยให้ชาวมุกดาหาร โดยผู้ที่ออกแบบพญานาคได้อย่างงดงามก็คือนายประพัฒน์ มะนิสสา ศิลปินปูนปั้นพื้นบ้านชาวอุบลราชธานี ที่มีความศรัทธาในองค์พญานาคเป็นอย่างมาก แม้ไม่ได้จบด้านศิลปะมาโดยตรงแต่ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างงดงามยิ่ง


ผู้ที่มากราบไหว้พญานาคยังสามารถตั้งจิตอธิษฐาน แล้วเดินลอดท้องพญานาคทั้ง 7 ช่องที่มีความเชื่ออันเป็นมงคลต่างๆ อีกทั้งยังสามารถนำผ้าแดงที่เขียนชื่อตัวเองไปผูกไว้ที่ต้นไม้รอบๆ พญานาค เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองได้อีกด้วย

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น