โกโก้สีน้ำตาลเข้มถูกปาดเป็นผืนบางๆให้เห็นความเหนียวหนึบเข้มข้น ก่อนนำไปใส่ถุงเพื่อบีบลงในแม่พิมพ์ ท็อปปิงด้วยอัลมอนด์ หรือลูกเกด แล้วไปสู่กระบวนการแข็งตัวเป็นช็อกโกแลตบาร์แสนอร่อย ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในเวิร์กช็อปสนุกๆ ได้ความรู้และความอร่อยที่ผู้มาเยือนจะได้รับประสบการณ์กลับไปจาก “โกโก้ วัลเลย์ รีสอร์ท” (Cocoa Valley Resort)
“โกโก้ วัลเลย์ รีสอร์ท” หรือที่นักท่องเที่ยวนิยมเรียกกันสั้นๆติดปากว่า “โกโก้ วัลเลย์” แม้ชื่อที่ลงท้ายด้วยคำว่า รีสอร์ท ทำให้นึกถึงโรงแรม แต่ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่ที่พักนักเดินทางเมื่อมาเยือนเมืองปัว จังหวัดน่าน หากเป็นจุดหมายปลายทางที่มอบประสบการณ์เรื่อง “โกโก้ไทย” ให้กับผู้มาเยือนทุกคนได้รับกลับไปอย่างเต็มที่
“มนูญ ทนะวัง” กับ “จารุวรรณ จิณเสน” คู่รักชาวปัวผู้เป็นเจ้าของกิจการ ถอยจากชีวิตเมืองใหญ่กลับสู่บ้านเกิด หลังจากอิ่มตัวกับงานที่ทำมานาน โดย “มนูญ” เคยทำงานบริษัทเกี่ยวกับแท่นขุดเจาะมาเกือบ 20 ปี เขาตัดสินใจ กลับมาเริ่มต้นทำรีสอร์ทเล็กๆ เป็นกิจการครอบครัว ด้วยพื้นฐานทำเรื่องเกษตรกรรมทำสวนอยู่แล้ว และมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องโกโก้มาก่อนหน้านี้ รวมทั้งยังเป็นคนชอบรับประทานช็อกโกแลต
“ผมกลับมาบ้าน ก็มองชีวิตใหม่ ตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งใดจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้จริงๆ จึงได้พบสองสิ่ง คือ อยากทำอะไรที่ไม่ต้องลงทุนจนเกินกำลังที่มี และเป็นคนชอบโกโก้” มนูญ เล่าถึงจุดเริ่มต้น
คำตอบนั้นเป็นที่มาของการนำโกโก้มาปลูก ตั้งแต่ขุดหลุมปลุกเอง ศึกษาการแปรรูป เดินทางไปเพิ่มเติมความรู้เรื่องโกโก้ในต่างประเทศ เมื่อกิจการโกโก้ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็ได้ช่วยสร้างงานให้กับคนในชุมชน ในการช่วยแปรรูป รวมถึงการเพาะปลูกต้นโกโก้ในพื้นที่อำเภอปัว ซึ่งมนูญ เชื่อมั่นว่า สามารถปลูกพืชชนิดนี้ได้ดีไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น เนื่องจากต้นโกโก้ดูแลไม่ยาก เจริญเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน และมีน้ำพอเพียง
จากจุดเริ่มต้นส่วนตัว ฟันฝ่าอุปสรรคของการปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้คน ในปัจจุบัน กิจการของทั้งคู่จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างงาน การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และช่วยเหลือให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการทำเกษตร ก่อนที่จะกลายมาเป็นกิจการที่ใหญ่ขึ้น ตอบโจทย์กับลูกค้าทุกกลุ่มที่มีหัวใจเดียวกัน
Cocoa Valley จึงเป็นมากกว่ารีสอร์ท หรือคาเฟ่เมนูอร่อยเท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ เกิดมาจากอุดมการณ์ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนในเรื่องการปลูกโกโก้ ตลอดจนสร้างโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากอำเภอเล็กๆในจังหวัดน่านที่ห่างจากตัวเมืองกว่า 70 กิโลเมตร ได้เป็นที่รู้จักในระดับสากลให้เป็นจุดหมายปลายทางของคนรักโกโก้ “เราต้องการสร้างงานให้กับคนในชุมชน สร้างคุณค่าความภาคภูมิใจของโกโก้ที่จังหวัดน่าน และโกโก้ของประเทศไทยก็มีคุณภาพไม่แพ้ที่ใดในโลก”
“อยากให้ ปัว เป็นต้นแบบตัวอย่างการปลูกโกโก้อินทรีย์วิถีไทยของเมืองไทย เรายังวางแผนเอาไว้ว่าอยากจัดงานในรูปแบบ โกโก้ เฟสติวัล เล็กๆในเมืองปัวด้วยค่ะ” จารุวรรณ กล่าวเสริม
โกโก้ วัลเลย์ ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้เพียงประมาณ 15 ไร่ แต่เกษตรกรทั่วทั้งน่าน สามารถปลูกรวมกันได้นับพันไร่ และส่งมาแปรรูป โดยความพรีเมียมของโกโก้ที่นี่ คือ การเป็นโกโก้ที่ใช้ส่วนผสมหลักเป็น Real Cocoa 100% รวมถึงการสนับสนุนการเกษตรยั่งยืนด้วยสวนที่ปลูกในจังหวัดน่าน ดูแลแบบอินทรีย์วิถีไทย ภายใต้มาตรฐาน Earthsafe Standard ทำให้โกโก้ได้เติบโตตามธรรมชาติอย่างดีที่สุด
ต้นโกโก้ที่ผ่านการเติบโตจากดอกสู่ผลสุกได้คุณภาพแปรรูปได้ ซึ่งสามารถให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ ประมาณปีที่ 3 จะถูกมาแปรรูปโดยไม่มีการแต่งสีหรือกลิ่นอื่นๆเพิ่มเติม นำมาสู่เมนูแสนอร่อยมากมายในคาเฟ่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เวชสำอาง จากโกโก้ บัตเตอร์
สำหรับผู้มาเยือนที่มีเวลาไม่มากนัก อาจแวะมาลิ้มรสความอร่อยของสารพัดเมนูโกโก้ ที่ดัดแปลงเติมสีสันได้อย่างสนุก หรือแวะมาช้อปผลิตภัณฑ์จากโกโก้ที่หลากหลาย แต่ถ้ามีเวลามากกว่าแค่แวะผ่านมากิน ต้องไม่พลาดไฮไลท์ของ Cocoa Valley นั่นคือ กิจกรรมเวิร์กชอป ทำช็อกโกแลต บาร์ ด้วยตัวเอง ซึ่งจะได้ทำความรู้จักที่มาของผลิตผลแสนอร่อย ได้ความรู้ พร้อมกับได้โกโก้ติดมือกลับไปด้วย
นอกจากนี้ หากเลือกกิจกรรมเวิร์กชอปเต็มรูปแบบ ยังรวมถึงการเดินทางไปชมสวนโกโก้ เพื่อทำความรู้จักการทำเกษตรแบบอินทรีย์ปลอดสารเคมี เดินย่ำสำรวจดูหน้าตาของต้นโกโก้ ผลโกโก้ และกระบวนการผลิตก่อนจะมาเป็นความอร่อย แล้วจะได้รู้ว่าโกโก้ของจังหวัดน่าน มีดีไม่แพ้ที่ใดจริงๆ
กิจกรรมเวิร์กชอป ชมสวน ทำช็อกโกแลต บาร์ (500 บาท/คน)
วันละสองรอบ 9.30 น., 13.30 น.
กิจกรรมเวิร์กชอป ทำช็อกโกแลต บาร์ (350 บาท/คน)
วันละสี่รอบ 9.30 น.. 11.00 น., 13.30 น., 15.00 น.
โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ในส่วนคาเฟ่ เปิดบริการทุกวัน 8.00-18.00 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 086 333 0099
www.facebook.com/cocoavalleyresort
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline