เนื่องในโอกาสวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ร่วมกับกองบัญชาการกองทัพเรือ เปิด “พระราชวังเดิม” พระราชวังเก่าแห่งกรุงธนบุรี ให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 17-28 ธ.ค.65 เวลา 09.00-15.30 น.
งานนี้ผู้สนใจไม่ควรพลาด เพราะหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวที่เปิดให้เข้าชมฟรี โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า
“พระราชวังเดิม” หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “พระราชวังกรุงธนบุรี” เป็นพระราชวังหลวงเพียงแห่งเดียวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ ป้อมวิไชยเยนทร์ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังเดิมขึ้น ภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทยเมื่อปี พ.ศ.2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการเมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีพร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร พระองค์ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “พระราชวังเดิม” ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ
ภายในพระราชวังเดิม มี 9 จุดไฮไลท์ ได้แก่
1.พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : พระบรมรูปในท่าประทับยืนและทรงพระแสงดาบขนาดเท่าคนจริง อีกทั้งด้านหน้าพระราชวังเดิมติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ในท่าประทับยืนหันหน้าไปทางทิศที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา มือซ้ายถือพระแสงดาบ ส่วนมือขวาชี้ลงพื้นดิน
2.ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมราวปี พ.ศ.2424 - 2443 ได้มีพระดำริให้สร้างแทนศาลหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม
3.อาคารท้องพระโรง : เป็นอาคารประธานของพระราชวังเดิม มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ตรีมุข สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2310 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
อาคารท้องพระโรงประกอบไปด้วย พระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน คือ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะเสด็จออกว่าราชการ ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้ที่อยู่ติดกับพระที่นั่งองค์แรก เรียกกันว่า “พระที่นั่งขวาง” เป็นส่วนราชมณเฑียร หรือพระราชฐานชั้นกลางอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์
4.อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ : สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในระหว่างปี พ.ศ.2367 - 2394
อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง ไทยกับจีน หลังคาทรงจั่วแบบจีน ภายในอาคารมีพระทวารและพระแกลแบบไทย ส่วนหลังคามีการเขียนลวดลายจีนแบบปูนเปียก บริเวณหน้าจั่วและคอสองโดยรอบอาคาร สำหรับบริเวณกรอบเช็ดหน้า มีการจำหลักลวดลายเป็นรูปฐานสิงห์ อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกฐานานุศักดิ์ของอาคารที่ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายเท่านั้น
5.อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก : สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1- 2 เนื่องจากรากฐานของอาคารอยู่ในระดับชั้นดินของยุคดังกล่าว รูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประตูหน้าต่างให้เข้ากับสภาพอากาศในสมัยหลัง
6.อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว : สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ราวปี พ.ศ.2367 - 2394 ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกหรือเรียกว่าตึกแบบอเมริกัน
ทั้งนี้หากพิจารณาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอาจถือได้ว่าอาคารนี้เป็นตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาจเป็นตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วปีกนก 2 ด้าน ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคารที่เป็นไม้ ทาด้วยสีเขียวแก่ทั้งหมด อันเป็นสีที่นิยมใช้สำหรับตำหนักหรืออาคารในสมัยนั้น
7.พระตำหนักเรือนเขียว : อาคารไม้เรือนขนมปังขิงสีเขียวอ่อน ตั้งอยู่ข้างเนินดินที่ถูกเรียกขานว่า “เขาดิน” พระตำหนักเรือนเขียว เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงจำนวน 2 หลัง ที่นี่เคยใช้เป็นอาคารพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ ปัจจุบันใช้รับแขกและชมวีดีทัศน์
8.ศาลศีรษะปลาวาฬ : ในระหว่างการขุดพื้นที่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระตำหนักเก๋งคู่ ได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งจากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี คาดว่าน่าจะเป็นอาคารศาลศีรษะปลาวาฬหลังเดิม ที่ภายในมีประดูกปลาวาฬ โดยศาลหลังนี้ได้พังทลายในวันเดียวกับที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ แล้วไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ จึงได้มีการสร้างขึ้นทดแทนมาในภายหลัง
9.ป้อมวิไชยประสิทธิ์ : เดิมป้อมแห่งนี้ชื่อ “ป้อมวิไชยเยนทร์” หรือ “ป้อมบางกอก” สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างขึ้นพร้อมป้อมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณป้อมแห่งนี้พร้อมกับปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”
ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่าง ๆ และติดตั้งเสาธงเพื่อประดับธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ
และนี่ก็คือ 9 ไฮไลท์ห้ามพลาดสำหรับผู้มาเที่ยวชมพระราชวังเดิม ซึ่งปกติการเที่ยวชมโบราณสถานในพระราชวังเดิม จะต้องติดต่อมาล่วงหน้าเพื่อขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ และเสียค่าเข้าชม แต่เนื่องในโอกาสวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม จึงมีการเปิดพระราชวังเดิมให้เที่ยวชมฟรี โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่สนใจไม่น้อยเลย
################################
สำหรับผู้มาเที่ยวชมพระราชวังเดิมในช่วงเปิดให้เข้าชมฟรี สามารถเข้าออกได้ 2 ทาง โดยไม่ต้องแลกบัตรผ่านเข้าออก ได้แก่ ทางเข้าด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ และประตูด้านข้างกำแพงวัดอรุณ และต้องแต่งกายสุภาพ เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 0 2475 4117, 0 2472 7291 หรือที่ เฟซบุ๊ก มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม