xs
xsm
sm
md
lg

“กุเลาเค็ม โอรังปันตัย” ปัตตานี อีกหนึ่งภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน สร้างมูลค่าสู่มหานครแห่งอาหารฮาลาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกจากปลากุเลาเค็มตากใบแล้ว “กุเลาเค็ม โอรังปันตัย” ที่ จ.ปัตตานี ก็เป็นอีกหนึ่งของดีจากชายแดนใต้ ที่ได้รับการต่อยอดจากกระแส Soft Power อาหารในงานประชุมเอเปค 2022 โดยล่าสุด ศอ.บต. ต่อยอดร่วมกับเชฟชุมพล เพื่อสนับสนุนสินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง


ภาพ: ศอ.บต.
นายมูหามะสุกรี มะสะนิง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ตำบลตันหยงเปาส์ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยว่า อดีตในพื้นที่ตำบลตันหยงเปา มีสภาพทรัพยากรที่เสื่อมโทรม แต่ละวันชาวประมงพื้นบ้านที่มีอาชีพออกทะเลไปหาปลาจับปลากันได้ในปริมาณที่น้อยมาก ทำให้ชาวบ้านไม่มีอาชีพที่มั่นคงและไม่มีรายได้ที่เพียงพอต่อการมาจุนเจือครอบครัว

ภาพ: ศอ.บต.
ชาวบ้านในพื้นที่จึงมีแนวคิดที่จะร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยได้รวมกลุ่มและร่วมมือกับทุกภาคส่วนควบคู่ไปกับงานวิจัยภายใต้วิถีชาวประมงพื้นบ้านแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แต่จะต้องมองถึงสภาพแวดล้อม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และสิ่งที่สำคัญ ต้องไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาสร้างอาชีพสร้างรายได้

ภาพ: ศอ.บต.
โดยการยกระดับปลากุเลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาเพิ่มมูลค่าที่จากเดิมปลากุเลามีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 – 150 บาท แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 230 – 250 บาท ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้จากการนำปลากุเลามาแปรรูปเป็นปลากุเลาเค็ม 

คิดค้นวิธีการ โดยการนำความเค็มจากเกลือหวานจังหวัดปัตตานี มาช่วยถนอมอาหารยืดอายุอาหารให้สามารถเก็บได้นานอีกทั้งเสริมเคล็ดลับจากสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการแปรรูปทั้งแดดดี ลมดี ประกอบกับการดูแลเอาใส่ใจในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนที่จะต้องใช้ระยะเวลากว่า 30 – 45 วัน จนทำให้ได้ปลากุเลาเค็มมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมและไม่มีสารเจือปนต่อผู้บริโภค เพื่อการสร้างความความมั่นใจและความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยได้

ภาพ: ศอ.บต.
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการนำปลากุเลาไปเป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการต้อนรับคณะผู้นำการประชุมเอเปคจนเกิดกระแสดราม่า ส่งผลทำให้ปลากุเลาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่นิยมและผู้บริโภคเกิดความต้องการที่อยากจะลิ้มลองปลากุเลากันเป็นจำนวนมาก จนทำให้กลุ่มโอรังปันตัยได้รับประโยชน์จากกระแสดังกล่าวด้วย

ภาพ: ศอ.บต.
ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้จับมือร่วมกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ในการหาแนวทางการรับซื้อวัตถุดิบในพื้นที่พร้อมสั่งซื้อปลากุเลาเค็มกว่า 100 ตัว รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ฯลฯ เป็นจำนวนมากด้วย ภายใต้แบรนด์ของโอรังปันตัยทั้งหมด เพื่อนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปรังสรรค์เป็นเมนูอาหารที่แปลกใหม่ แต่ยังคงหลงเหลือเสน่ห์ควาเป็นอัตลักษณ์และรสชาติเฉพาะต่อไป

ภาพ: ศอ.บต.
นายมูหามะสุกรี ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นความภาคภูมิใจที่สุดของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำให้เห็นว่าสินค้าแปรรูปในพื้นที่ได้รับการตอบรับที่ดีและมีการขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นจนทำให้พี่น้องประชาชนที่มีอาชีพจับปลาหรือประมงพื้นบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีอาชีพมีรายได้อย่างยั่งยืน”

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น