สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร เผยความคืบหน้า “โครงการก่อสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นเเละปรับภูมิทัศน์เเหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร” พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีการขุดพบหลักฐานหลุมฝังศพมนุษย์ยุคหินใหม่มากถึง 250 หลุม
แฟนเพจ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้า “โครงการก่อสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นเเละปรับภูมิทัศน์เเหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร” คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ โดย ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เเละนายธงชัย สาโค ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เข้าตรวจรับงานงวดสุดท้าย โครงการก่อสร้างฯ
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นเเละปรับภูมิทัศน์แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากร ตามเเผนการพัฒนาให้เป็นเเหล่งเรียนรู้เเละพิพิธภัณฑ์ประจำเเหล่งโบราณคดี โดยก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี
ทำการขุดค้นศึกษามานับตั้งเเต่ พ.ศ.2551 มาจนถึงปัจจุบัน ใน"โครงการศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเก่าเเละที่เกี่ยวข้อง" บนพื้นที่เเหล่งโบราณคดีขนาด 7 ไร่ 1 งาน
เเม้ว่าจะยังขุดค้นศึกษาไม่ทั่วทั้งพื้นที่ เเต่พบหลักฐานหลุมฝังศพมนุษย์ยุคหินใหม่ (กำหนดอายุราว 3,500-4,000 ปีมาเเล้ว) จำนวนมากถึง 250 หลุมฝังศพ (ข้อมูล ณ ปัจจุบัน)
อาคารคลุมหลุมขุดค้นหลังที่สร้างขึ้นหลังนี้ สร้างขึ้นทดเเทนหลังคาชั่วคราวซึ่งใช้งานมาตั้งเเต่ พ.ศ. 2552 เพื่ออนุรักษ์หลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ภายในหลุมขุดค้นไม่ให้เสื่อมสภาพหรือเสียหายจากปัจจัยธรรมชาติ เช่น พายุฝน เเละเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดเเสดงข้อมูลเเหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร เพื่อให้บริการเเก่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษาที่สนใจ รวมถึงผู้ที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมในการทำงานโบราณคดีต่อไป
แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ตั้งอยู่ในอำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ถูกค้นพบโดยนายวิมล อุบล เจ้าของที่ดิน จากการขุดปรับหน้าดินเพื่อทำการเกษตร ในปี 2546 และได้แจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตรทราบ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตรจึงได้แจ้งไปยังสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เข้าตรวจสอบและดำเนินการ
มีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ได้แก่ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ขวานหินขัด ชิ้นส่วนภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พบชิ้นส่วนขาภาชนะดินเผาที่มีรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า “หม้อสามขา” อย่างที่เคยพบในแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และแหล่งโบราณคดีแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี
ต่อมาจึงได้ตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบ เช่น โครงกระดูกมนุษย์โบราณ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด กำไลหิน และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline