หนึ่งในของขวัญที่ระลึกของผู้นำในการประชุมเอเปค 2022 คือ ภาพดุนโลหะและกล่องเครื่องประดับดุนโลหะ งานหัตถกรรมสุดประณีตฝีมือช่างระดับครูที่ชุมชนวัวลาย เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนผลิตเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ที่ผ่านมา มีของที่ระลึกชิ้นสำคัญ คือ ภาพดุนโลหะ ขนาด 30 x 60 ซม. หนา 5 ซม. ผลิตจากโลหะรีไซเคิล เป็นรูปพระบรมมหาราชวัง มุมมองจากหอประชุมกองทัพเรือ และกล่องเครื่องประดับดุนโลหะ (สำหรับคู่สมรส) ขนาด 13 x 20 ซม. หนา 5 ซม. เป็นลวดลายด้วยตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย “ชะลอม” ที่จัดวางเป็นรูปทรงตราประจำยามของไทย
ทั้งหมดนี้เป็นงานหัตถศิลป์จากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่เก่าแก่ นับแต่อดีตชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพทํางานหัตถกรรมเครื่องเงินอยู่คู่กับชาวล้านนามากว่า700 ปี ตั้งอยู่บริเวณถนนวัวลาย ตําบลหายยา อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติ การทําเครื่องเงินของชุมชนวัวลาย พบว่านับตั้งแต่ครั้งสมัยพญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มี พระปรีชาสามารถและเป็นนักพัฒนาจึงได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพที่หลากหลายนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม
พระองค์ได้ทรงสร้างสัมพันธ์อันดีกับหัวเมืองอื่น เพื่อจะนําไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความรู้ ด้วยเหตุนี้การเจรจาขอช่างฝีมือจากอาณาจักรพุกามหรือเมียนมาจึงเกิดขึ้น เพื่อที่จะนําช่างฝีมือเหล่านั้นมายังเชียงใหม่ และทําการฝึกอาชีพให้กับชาวบ้าน โดยช่างฝีมือที่ได้มานั้น ประกอบด้วย ช่างเงิน ช่างทอง ช่างฆ้อง ช่างต้อง ช่างแต้ม ช่างเขิน เป็นต้น
พญามังรายทรงปกครองเมืองเชียงใหม่ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง ศิลปะ และวัฒนธรรม จนเป็นที่ยอมรับของอาณาจักรข้างเคียง มีช่างหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ได้รับการฝึกฝนและมีการทําที่สืบเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2317 ช่วงสมัยของพระเจ้ากาวิละกอบกู้เมืองเชียงใหม่จากเมียนมาได้สําเร็จ ซึ่งตรงกับช่วงผลัดแผ่นดิน เจ้าพระยาจักรีได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าอยู่หัวทรงถือเป็นความชอบที่พระเจ้ากาวิละนําข้าวของและไพร่พลถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระเจ้ากาวิละ เป็นพระยามังรายวชิรปราการกําแพงแก้ว ครองเมืองเชียงใหม่ ในยุคของพระเจ้ากาวิละถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูเมืองที่เรียกว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”
พระเจ้ากาวิละได้ทําการส่งทหารไปประกาศบอกให้ชาวบ้านกลับเข้ามา โดยให้ราชสกุลต่าง ๆ เข้ามาตั้งรกรากในเมือง และทําการกวาดต้อนชาวบ้าน สล่า (ช่างฝีมือ) ที่อยู่ แถบลุ่มแม่น้ําสาละวินให้เข้ามาอยู่ในบริเวณรอบกําแพงเมืองเชียงใหม่
สําหรับช่างเงินบ้านวัวลาย เดิมมาจากชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่แขวงเมืองปั่น ทางฝั่ง ตะวันตกของลุ่มแม่น้ําสาละวิน และมีชื่อว่าหมู่บ้านงัวลาย ในการกวาดต้อนของพระเจ้ากาวิละได้โปรดให้ชาวบ้านที่มาจากบ้านงัวลาย ตั้งรกรากในบริเวณวัดหมื่นสารและทําการเรียกชื่อ “บ้านงัวลาย” ตามชื่อเดิม โดยชาวบ้านที่ถูกกวาดต้อนมานี้ส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือที่มีความรู้และทักษะในการทําเครื่องเงิน มีองค์ความรู้ที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และยึดถือเป็นอาชีพจนมาถึงปัจจุบัน
จากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กว่าที่ชุมชนวัวลายจะกลายมาเป็นชุมชนเชิงช่างที่มี ชื่อเสียงโด่งดังในด้านการตอกดุนโลหะในทุกวันนี้ ชาวบ้านวัวลายได้ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นได้หล่อหลอมให้เกิดเป็นวิถีการดําเนินชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และการคิดค้นภูมิปัญญา ท้องถิ่นที่มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตน และนํามาใช้ได้อย่างกลมกลืนกัน จนสามารถถ่ายทอด ออกมาในรูปแบบชิ้นงานที่มีความวิจิตรสวยงาม เสมือนการถ่ายทอดออกมาจากจิตวิญญาณที่แท้จริง
บนถนนเส้นวัวลาย ยังมีอุโบสถสร้างจากเงินหลังแรกของเมืองเชียงใหม่และของโลก อยู่ในวัดสำคัญของชุมชน นั่นคือวัดศรีสุพรรณ จากพื้นที่อันเก่าแก่ของวัดซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหัตถกรรมช่างหล่อ หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน ของถนนวัวลาย ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะสืบสานมรดกงานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยั่งยืนสืบไป
ด้วยการรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้านจัดตั้งเป็น กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ขึ้นภายในวัด
ในปี พ.ศ. 2547 ทางวัดมีแนวคิดสร้างอุโบสถเงินหลังแรกของโลก ให้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งแท้จริงแล้วอุโบสถนี้ไม่ใช่ทำจากเงินแท้ทั้งหลัง แต่ใช้วัสดุจากอลูมิเนียม (วัสดุแทนเงิน) เงินผสม และเงินบริสุทธิ์ สลักลวดลาย บุดุน ประดับตกแต่งตั้งแต่หลังคา ผนังภายในภายนอกรวมทั้งหลัง เกิดเป็นพุทธศิลป์อันวิจิตรที่ดึงดูดให้ทั้งพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเยี่ยมชมความงดงามของพระอุโบสถหลังนี้อยู่ทุกวัน
โดยในวัดศรีสุพรรณ มีศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาและสถานฝึกอบรมศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินและเครื่องประดับให้กับผู้ที่สนใจเรียนศิลปะทางด้านนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในย่านชุมชนวัวลาย ไม่ให้สาบสูญไป
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline