xs
xsm
sm
md
lg

วัดภูมินทร์ เมืองน่าน พระอุโบสถ-พระวิหารทรงจตุรมุขหลังแรกของไทย ยลจิตรกรรมกระซิบรักบันลือโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาเยือนเมืองน่าน แล้วไม่ได้แวะมา “วัดภูมินทร์” ก็เสมือนยังมาไม่ถึงจังหวัดน่าน คำกล่าวนี้ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะวัดเก่าแก่อายุกว่า 400 ปีแห่งนี้ นับเป็นหนึ่งในวัดคู่บ้านคู่เมือง เป็นโบราณสถานที่วิจิตรงามหาชมได้ยาก 

โดยเฉพาะภายในพระอุโบสถ-พระวิหารที่มีงานจิตรกรรม “กระซิบรัก” ภาพเขียนของชายหญิงยืนกระซิบกระซาบซึ่งภาพดังกล่าว ได้ถูกนำไปผลิตซ้ำดัดแปลงสร้างสรรค์ไปอีกหลากหลายรูปแบบ จนกลายเป็นภาพแทนสัญลักษณ์แห่งเมืองน่านที่สามารถพบเจอได้แทบทั้งจังหวัด


มีบันทึกประวัติการสร้างวัดตามพงศาวดารเมืองน่านไว้ว่า “พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์" เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 40 ได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2139 โดยชื่อวัดมีที่มาปรากฏในหลักฐานคัมภีร์เมืองเหนือว่าแต่เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” สอดคล้องตามชื่อของพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ แต่สันนิษฐานว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปก็คงมีการเรียกชื่อเพี้ยนกลายมาเป็น “วัดภูมินทร์” อย่างในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2523 วัดภูมินทร์ก็ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร


ภาพแรกของอาคารที่ปรากฏต่อสายตาผู้มาเยือนวัดนั้น ถือเป็นโบราณสถานสำคัญ คือ “พระอุโบสถกับพระวิหาร" ซึ่งเป็นอาคารหลังเดียวกันนั่นเอง สถาปัตยกรรมฉายความโดดเด่นหาชมได้ยากด้วยรูปแบบทรงจตุรมุข เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผังเป็นรูปกากบาท ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจากอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา และสันนิษฐานว่าสถาปัตยกรรมลักษณะนี้น่าจะสร้างขึ้นเป็นหลังแรกของประเทศไทย

ความวิจิตรภายนอก ที่ผู้มาเยือนเห็นได้จากด้านหน้าประตูอุโบสถทางด้านทิศเหนือ มีรูปปั้นพญานาคสองตน ทอดยาวขนาบข้างบันไดทั้ง 2 ฝั่ง รับไปกับอาคารพระอุโบสถกับพระวิหาร คล้ายเอาหลังหนุนไว้ เรียกว่า นาคสะดุ้ง ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างที่มาจากความเชื่อว่าพญานาคเป็นสัตว์มงคลที่คอยเกื้อหนุนพระพุทธศาสนา ดังตำนานว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ได้เสด็จผ่านบันไดแก้วที่เทวดาเนรมิตขึ้น และมีพญานาค 2 ตัวหนุนหลังเอาไว้


บันไดพญานาคของวัด มีช่องทรงโค้งทั้ง 2 ด้าน บริเวณกลางลำตัวสร้างเป็นซุ้มประตูโค้งสามารถเดินลอดได้ จึงมีเรื่องเล่าจากคนเก่าแก่ว่า หากคู่รักได้มาเดินลอดซุ้มโค้งพญานาควนตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ ความรักก็จะมั่นคงยืนยาวสมหวัง บ้างก็เชื่อในเรื่องสุขภาพ และยังเชื่อว่าหากคนต่างถิ่นมาลอดแล้วจะมีโอกาสได้กลับมาเยือนเมืองน่านอีก


ทางเข้าพระอุโบสถ-พระวิหาร ทั้ง 4 ด้านมีประตูไม้แกะสลักโดยฝีมือของช่างล้านนา เมื่อก้าวเข้าไปด้านใน จะพบว่าโครงสร้างของอาคารและหลังคานั้นค้ำด้วยเสาไม้สักขนาดใหญ่ 12 ต้น ลงรักปิดทองเคลือบเงาเป็นลายพฤกษาและช้างสีทองงดงาม และพบกับความตระการตาแสนวิจิตร คือ “พระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนี” หรือ “พระประธานจตุรพักตร์” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัย สีทองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกไปสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ และหันเบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) เข้าหากันตรงกลางของพระอุโบสถ ดังนั้น ไม่ว่าจะก้าวเข้ามาจากประตูพระอุโบสถ-พระวิหารจากฝั่งใด ก็ได้เห็นพระพุทธรูปองค์ประธานเสมอ


ในช่วงสมัย “พระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช” เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ-พระวิหาร ใช้เวลาในการบูรณะยาวนานกว่า 8 ปี (ช่วงปี พ.ศ. 2410-2417) ซึ่งหลังจากนั้นจึงมีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเกิดขึ้น สันนิษฐานว่า วาดในสมัย “พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช” เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63


โดยผู้อยู่เบื้องหลังงานจิตรกรรมดังกล่าว คือ "หนานบัวผัน" หรือ ทิดบัวผัน จิตรกรเชื้อสายไทลื้อชาวน่าน ที่มีฝีมือการวาดที่เป็นเลิศ ทันสมัยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เน้นสีแดง ฟ้า ดำ และน้ำตาลเข้ม ซึ่ง “อาจารย์วินัย ปราบริปู” ศิลปินและนักวิชาการศิลปะแห่งหอศิลป์ริมน่าน ค้นคว้าข้อมูลไว้ว่า จิตรกรรมของหนานบัวผันที่วัดภูมินทร์นั้น น่าจะเขียนขึ้นในช่วง ปี พ.ศ. 2443 หรือ 2446 ภายหลังจากที่เคยวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว ในอำเภอท่าวังผา


จิตรกรรมภายในวัดภูมินทร์นั้น งดงามด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ วาดเรื่องราวของพุทธชาดก ตำนานพื้นบ้าน และวิถีความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต แต่สำหรับจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงเลื่องลือที่สุด ต้องยกให้กับภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” หรือ “ปู่ม่านย่าม่าน” ภาพที่ชายหญิงคู่หนึ่งจับไหล่ป้องมือคล้ายกระซิบกระซาบกัน ส่งสายตากรุ้มกริ่มแสดงสีหน้าผ่านลายเส้นได้อย่างน่าอัศรรย์ ปู่ม่านย่าม่านนั้น มิได้หมายถึงคนเฒ่าคนแก่ หากแต่เป็นคำเรียกแทนชายหญิงที่พ้นวัยเด็กไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับกิริยาในภาพเพราะการถูกเนื้อต้องตัวกันในสมัยก่อน ต้องเป็นคู่รักสามีภรรยากัน


ภาพกระซิบรักบันลือโลกที่วัดภูมินทร์ ถือเป็นงานศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์คู่เมืองน่าน ซึ่งด้วยความมีชื่อเสียงในเชิงความงามด้านศิลปะไม่ใช่ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการผลิตซ้ำ แปรรูป ดัดแปลง เติมแต่งความคิดสร้างสรรค์ต่างๆไปอย่างหลากหลายในเชิงพาณิชย์ สามารถพบเจอได้แทบทั้งจังหวัดน่าน และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นเมืองน่านได้แบบไม่ซ้ำที่ใดในโลก


#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น