นักท่องเที่ยวบ่นเสียดาย สีสันสะพานมอญ สังขละบุรี หลังเทศบาลสั่งห้ามเด็กทำกิจกรรม ภาคท่องเที่ยวขอร้องทบทวนคำสั่ง ด้านเทศบาลเตรียมจัดระเบียบใหม่ อาจอนุญาตอีกครั้งเดือนหน้า
หลังจาก เทศบาลตำบลวังกะ อำเภอสังขละบุรี มีมติห้ามเด็กมัคคุเทศก์น้อยทำกิจกรรมบนสะพานไม้อุตตมานสรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา หลังมีองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กออกมาท้วงติง ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อห่วงใยถึงสวัสดิภาพ ความปลอดภัย การนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการหากิน รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวบางส่วน ร้องเรียนว่าเด็กไปรบกวน
แต่หลังจากคำสั่งดังกล่าว ในความเห็นอีกฟากหนึ่งก็มีผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวไม่เห็นด้วย และรู้สึกเสียดาย ดังเช่นที่ แฟนเพจ “สังขละบุรี” เพจท่องเที่ยวของอำเภอสังขละบุรี ที่ได้โพสต์ข้อความเมื่อวาน (5 พ.ย.) ที่ผ่านมาว่า
เสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยวส่วนมาก
เด็กๆ บนสะพานไม้ หายไปไหน น้องๆ น่ารักมาก เสียงส่วนมากจากนักท่องเที่ยว
การรับมือกับปัญหา คือห้ามเด็กมาเดินบนสะพานไม้ ใช่วิธีแก้ไขที่ยั่งยืนหรือเปล่า พิจาณาจากหลากหลายมุมมองหรือไม่ อย่าให้หินเล็กๆก้อนเดียวที่เห็นต่าง สะท้อนคลื่นเป็นวงกว้าง โดยไม่แก้ปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น
ซึ่งหลังจากข้อความดังกล่าวโพสต์ไป มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแสดงความคิดเห็น เช่น
- เด็กๆคือสีสัน และเป็นเสน่ห์ของสะพานมอญ
- เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ของชาวท้องถิ่น
- เด็กๆเป็นความสุขอย่างหนึ่งของนักท่องเที่ยว
- เป็นการหารายได้ของเด็กและช่วยเหลือครอบครัว
- อยากให้ทบทวนคำสั่งนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นร้อนนี้ เทศบาลตำบลวังกะ สื่อสารทางแฟนเพจไว้ว่า ได้วางแผนงานจัดระเบียบ และมาตรการดูแลเด็กๆให้ถูกต้อง และเหมาะสมในกิจกรรมไว้แล้ว ซึ่งในมติที่ประชุม ได้มีการให้ทดลองหยุดงดกิจกรรมบนสะพานเป็นระยะเวลา 1เดือน เพื่อจัดระเบียบบนสะพานใหม่ เพื่อวางกฎเกณฑ์ในเรื่องอายุ ระยะเวลา ที่จะให้เด็กมาทำกิจกรรมบนสะพาน พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ดูแลคุ้มครองเด็กขณะทำกิจกรรมบนสะพาน จึงเป็นไปได้ว่า เด็กๆจะได้กลับมาทำกิจกรรมบนสะพานมอญอีกครั้งในเดือนหน้า
สำหรับสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ)อ.สังขละบุรีจ.กาญจนบุรีถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของชาวมอญสะพานเดิมสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2538เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำซองกาเลียเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างฝั่งไทยและฝั่งมอญโดยมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้างซึ่งตัวสะพานมีความยาว 850เมตรนับว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในปี 2556เกิดฝนตกหนักส่งผลให้กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากได้พังสะพานไม้แห่งนี้ขาดแต่ก็ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่จนสำเร็จในปีต่อมา
ทั้งนี้หนึ่งในวิถีชีวิตที่เป็นสีสันที่นักท่องเที่ยวคุ้นตามาเนิ่นนานก็คือเด็กๆบนสะพานแห่งนี้ที่มีเด็กมัคคุเทศก์เด็กปะแป้งเด็กเดินเทินหัวและขายดอกไม้เป็นต้น
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline