xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวเศร้าวงการโขนและศิลปะไทย “ครูมืด” ประสาท ทองอร่าม เสียชีวิตแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (5 พ.ย. 65) แฟนเพจของ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ได้โพสต์เเสดงความเสียใจต่อการจากไปของ “ครูมืด ประสาท ทองอร่าม" ปรมาจารย์แห่งการนาฏยสังคีตไทย ซึ่งท่านเคยมีโอกาสมาเเสดงโขน ชุด รามาวตาร ที่ลานเมรุพรหมทัต กลางเมืองพิมาย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 (โดย แสงเพ็ง) มีบทความสัมภาษณ์ครูมืด ผู้เป็นปรมาจารย์ด้านวัฒนธรรม ศิลปินด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย และมีประสบการณ์เป็นครูโขนมากว่า 50 ปี ไว้ว่า

เติบโตมาในครอบครัวที่คุณปู่ คุณพ่อ และคุณอา เป็นนักดนตรีไทย ครูมืดจึงได้รับการปลูกฝังด้านดนตรีไทย บวกกับการเล่าเรียนกับอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้ศิลปวัฒนธรรมไทยได้เข้าไปอยู่ในสายเลือดของครูมืด

“คุณปู่ คุณพ่อ คุณอาเป็นนักดนตรีไทย อยู่ที่บ้านคุณครูหลวงประดิษฐ์ ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เชื้อสายครอบครัวมาทางด้านนั้น คุณปู่ได้รู้จักกับครูดนตรีของกรมศิลปากร คือ คุณครูประสิทธ์ ถาวร ก็เลยได้ฝากฝังให้ผมเข้ามาเป็นนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ ตั้งแต่ พ.ศ.2504 (ปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) นั่นจึงเป็นครั้งแรกของการจุดประกายทางด้านศิลปวัฒธรรม

แต่ตอนที่เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนศุภมาศวิทยาคม ซึ่งผมยังจำขึ้นใจมาจนเดี๋ยวนี้ เพราะจะระลึกถึงครูที่นี่ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้มากมาย การเรียนสมัยก่อน จะเน้นเรื่องภาษาไทยมากๆ แล้วก็จะมีวิชาขับร้องเพลงไทย และสอนดนตรีไทยด้วย ผมก็หัดตีฉิ่ง บรรเลงเพลงไทย มันจึงค่อยๆซึมซับเข้ามาในตัว

แล้วอีกที่หนึ่งที่มีคุณูปการแก่ผมมากเลย คือวัดพระพิเรนทร์ ที่อยู่แถววรจักร วัดนี้เป็นแหล่งรวมศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร ปี่พาทย์ ลิเก คือจะรวมอยู่ที่นี่หมด เวลามีงานรื่นเริง เขาก็จะมีการแสดงต่างๆ ซึ่งผมชอบมาก มันติดตาติดใจและอยากเป็นนักแสดงอยู่ตรงนั้น

ดังนั้น พอมีโอกาสได้ก้าวเข้ามาอยู่ในรั้วนาฏศิลป์ มันจึงจุดประกายให้ผมได้เห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือการแสดงโขนอย่างแท้จริง และผมก็โชคดีมากที่ได้เจอกับอาจารย์เสรี ตั้งแต่ที่ผมก้าวเข้ามาศึกษาเล่าเรียน ท่านก็เป็นผู้ที่เข้ามาคอยดูแลเด็กๆ เรียกได้ว่าท่านเป็นครูโดยแท้จริง คือไม่ใช่ให้เพียงความรู้แต่อย่างเดียว แต่ท่านให้ชีวิต ให้จิตวิญญาณ ให้จิตใจ และสร้างความเป็นคนให้แก่เรามาด้วย”

ครูมืดเล่าว่า สมัยก่อนเด็กที่เรียนเก่งๆในรั้วนาฏศิลป์นั้น มาจากครอบครัวที่ยากจน เพราะต้องเรียนเป็นอาชีพ จึงมีการจัดให้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และมีครูอาจารย์อื่นๆมาช่วยสอนด้วย อาทิ อาจารย์ยอแสง ภักดีเทวา อาจารย์เจริญ เวชเกษม อาจารย์กรี วรศะริน อาจารย์อร่าม อิทรนัฏ

“นอกจากอาจารย์ท่านอื่นๆแล้ว ก็ยังมีรุ่นพี่ๆสอนให้อีก ทุกคนจึงกลายเป็นครูของเราโดยธรรมชาติ”

และในชีวิตนี้ ผู้ที่ครูมืดไม่เคยลืมเลยก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง

“พระองค์มีความสำคัญในชีวิตของพวกนักเรียนในเวลานั้นมาก เพราะทรงเป็นผู้อุปการะพวกเราทั้งหมด

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มา ที่มันซึมซับอยู่ในตัวผมตลอด เพราะนี่คือความทรงจำที่ดี ที่ผมรำลึกถึงเสมอ และเมื่อผมกลายมาเป็นครู ก็พยายามนำสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์อีกทีหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการสืบทอดรุ่นสู่รุ่นของหลักสูตร หรือเป็นจารีตประเพณีของพวกเรา”


อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ https://m.mgronline.com/dhamma/detail/9570000000470

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น