วัดอินทรวิหาร กทม. เชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมสักการะ “ท้าวมหาพรหม" เฉลิมพระเกียรติเนื่องในกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระชนมายุ 67 พรรษา เพื่อเป็นสิริมงคล
เฟซบุ๊กเพจวัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง ได้โพสต์ภาพองค์ท้าวมหาพรหม พร้อมเชิญชวนให้ชาวพุทธมาร่วมสักการะ ข้อความว่า
พระโสภณธรรมวงศ์ (เจ้าคุณน้อย) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร พระอารามหลวงแขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. เปิดเผยถึงโครงการสร้างมงคลสถาน องค์มหาเทพ ท้าวมหาพรหม เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ67 พรรษา 2 เมษายน 2565 เพื่อประดิษฐานเป็นแลนด์มาร์กของแขวงบางขุนพรหม เพื่อเป็นที่สักการะระลึก ธรรมของพระอริยบุคคลทางคติพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสถานที่พฒันาการท่องเที่ยวของเขตพระนครและเป็นมงคลสถานของชาติ ณ วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง เขตพระนคร กทม.
โครงการสร้าง เทวะมงคลสถาน “องค์มหาเทพ ท้าวมหาพรหม” ปางประทานพร มีจุดประสงค์เพื่อ
1. เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรันราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระชนมายุ 67 พรรษา 2 เมษายน 2565
2. เป็นที่สักการะ ระลึกธรรม และสถิตดำรงอริยบุคคลประกอบด้วยขั้น พระโสดาบัน, พระสกทาคา, พระอนาคามี, พระอรหันต์ และพระโพธิญาณ ตามคติแนวทางของพระพุทธศาสนา จารึกในไตรภูมิพระร่วง
3. เพื่อเป็นจุดแลนด์มาร์กของที่ตั้ง ณ “บางขุนพรหม" ทั้งนี้ทางวัดอินทรวิหาร ได้ จดสิทธิบัตรกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทงานศิลปกรรม ประเภทลักษณะงาน ประติมากรรม เอาไว้แล้วเพราะเป็นงานซึ่งเป็นชิ้นแรกและชิ้นเดียวในประเทศไทย
4. เพื่อเป็นสถานที่พัฒนาการท่องเที่ยวของเขตพระนคร และมงคลสถานของชาติสืบต่อไป
สำหรับ "ท้าวมหาพรหม" หรือ "มหาโสฬสพรหม" เป็นประติมากรรมรูปเคารพทางศาสนวัตถุที่ทรงไว้ซึ่งพรหมลักษณะที่สำคัญ คือ ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบศรีวิชัย ทรงมี 5 พระพักตร์ และ 16 พระกร ประทับยืนประทานพร สูง 3.75 เมตร โดยประกอบด้วยความหมายโดยกิริยาท่วงท่าและรายละเอียดความหมายเชิงนัยยะ
ท้าวมหาพรหม ผู้เป็นบรมครูแห่งพรหมทั้งปวง ตำนานประวัติซึ่งมีการขาดหายไปจากการบันทึกกว่า 800 ปี จากบันทึกการสร้างครั้งสุดท้ายช่วงกลางรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราว พ.ศ.1688- พ.ศ.1761 มหาโสฬสพรหม คือ พระพรหม ผู้เป็นอธิบดีแห่งพรหม ทั้งปวง พระองค์ทรงไว้ซึ่งปัจเจกลักษณะเฉพาะ และโฉมภายนอกที่สำคัญผิดแผกแตกต่างไปจากพรหมในปัจจุบันสมัย คือ "พระองค์ทรงมี 5 พระพักตร์”
พระโสภณธรรมวงศ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางธรรม กล่าวได้ว่าพระพักตร์ ทั้ง 5 นั้น เปี่ยมด้วยคุณธรรมของพระอริยบุคคล ตามคติที่ว่า พระอริยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐ ทางพุทธศาสนาถือว่าความเป็นพระอริยบุคคลนั้น กำหนดได้ด้วยการละสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดสัตว์) ไว้ในภพ ใครละได้น้อยก็เป็นอริยบุคคลชั้นต่ำ เมื่อละได้มากก็เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงขึ้น ใครละได้หมดก็เป็นพระอรหันต์ สังโยชน์มี 10 อย่าง เทียบตามส่วนที่พระอริยบุคคล ละได้เป็นลำดับดังนี้
พระพักตร์ ที่ 1 สถิตพระโสดาบัน ละสิ่งดังต่อไปนี้
1.สักกายทิฏฐิ – ความเห็นว่าร่างกายเป็นของตน 2.วิจิกิจฉา – ความสงสัยว่าพระวัตนตรัยดีจริงหรือ 3.ศีลพตปรามาส – การเชื่อพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ แล้วจะบรรลุนิพพาน คือพระอรหันต์
พระพักตร์ ที่ 2 สถิตพระสกทาคามี ละขั้นพระโสดาบัน แต่จิตคลายจาก ราคะ โทสะ และโมหะ มากขึ้น เมื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามี จะเกิดอีกครั้งเดียว
พระพักตร์ ที่ 2 สถิตพระสกทาคามี ละขั้นพระโสดาบัน แต่จิตคลายจาก ราคะ โทสะ และโมหะ มากขึ้น เมื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามี จะเกิดอีกครั้งเดียว
พระพักตร์ ที่ 3 สถิตพระอนาคามี ละขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และรวมอีก 2 คือ กามราคะ – ความติดใจในกามารมณ์ม และปฏิฆะ – ความขัดเคืองใจ เมื่อบรรลุเป็นพระอนาคามี จะเลิกครองเรือน ประพฤติพรหมจรรย์ ตายแล้วจะไปเกิดในพรหมโลก
พระพักตร์ ที่ 4. สถิตพระอรหันต์ ละขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคา พระอนาคามี และรวมอีก 5 คือ
รูปราคะ – ความติดใจในรูป เช่น ชอบของสวยงาม
อรูปราคะ – ติดใจในของไม่มีรูป เช่น ความสรรเสริญ
มานะ – ความยึดถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น ติดในสมณศักดิ์
อุทธัจจะ – ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ไม่สงบใจ
อวิชชา – ความไม่รู้อริยสัจสี่
เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ หากสิ้นชีวิตแล้วจะไม่เกิดอีก
และพระพักตร์ ที่ 5 สถิตพระโพธิญาณ หรือ พระโพธิสัตว์ คือพระอริยบุคคล ผู้บำเพ็ญบารมีธรรมอุทิศตนช่วยเหลือสัตว์ผู้มีความทุกข์ยาก และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตที่บำเพ็ญบารมีต่อ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ขอเชิญประชาชนและพุทธศาสนิกชนทุกท่านทุกคนเข้ามาขอพรและสามารถร่วมบุญได้ที่วัดอินทรวิหาร โดยตรง หรือโอนปัจจัยเพื่อร่วมสร้าง “ท้าวมหาพรหม” ได้ที่ ธนาคารกรุงไทย 0700287523 ชื่อบัญชี ท้าวมหาพรหม วัดอินทรวิหาร หากต้องการรับใบอนุโมทนาหรือ ติดต่อผ่าน Facebook วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวงได้ทุกวัน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline