xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า! คนทะเลาะกับ “นาค” หลังถูกเลือกเป็นสัตว์ในตำนาน เอกลักษณ์ประจำชาติไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐบาลกำหนดให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน
หลังรัฐบาลกำหนดให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน เพื่อต่อยอด Soft Power ได้เกิดดราม่าขึ้นบนโลกโซเชียล ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วย-เห็นต่าง และบางคนที่โต้แย้งข้าง ๆ คู ๆ จนโดนสวนให้อ่านหนังสือเกิน 8 บรรทัด รวมถึงมีคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ “คนทะเลาะกับนาค”

ถือเป็นอีกหนึ่งดราม่าบนโลกโซเชียล หลัง นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมา เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 ว่า ครม.เห็นชอบให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน ซึ่งเป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ

นาคมีคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนไทย สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน เช่น เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ บั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษา และประเพณีไหลเรือไฟ เรือที่ตกแต่งขึ้นก็แทนพญานาคเพื่อลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น ดังนั้น นาคจึงถือเป็นสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนคนไทยอย่างแนบแน่น

ความเรื่องนาคหรือพญานาคที่วัดพระธาตุหนองบัว จ.อุบลราชธานี
สำหรับภาพต้นแบบของนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนานนั้น ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มอบหมายกรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการร่างภาพต้นแบบนาค ซึ่งภาพต้นแบบนี้สื่อให้เห็นภาพรวมคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นรูปพญานาคสี่ตระกูล คือ ตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง) ตระกูลเอราปถ (สีเขียว) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (สีรุ้ง) และตระกูลกัณหาโคตรมะ (สีดำ) และมีนาคตัวใหญ่สุด คือ นาควาสุกรี ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ ส่วนรายละเอียดประกอบภาพ เช่น คลื่นน้ำ และ ศาสนสถาน สื่อให้เห็นว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม พบว่า ปัจจุบันประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติ ประเภทตำนานเทพนิยายและความเชื่อ มีจำนวน 157 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 229 รายการ มีบางประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติมากกว่า 1 รายการ ซึ่งสัตว์ประจำชาติของประเทศต่างๆ มีสัตว์ที่ปรากฏอยู่จริง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก ส่วนสัตว์ในตำนานเทพนิยายและความเชื่อ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบเห็นแต่คนในชาตินั้นๆ มีความเชื่อและศรัทธาจนมีการสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ


สำหรับสัตว์ในตำนานประจำชาติจะมีการประกาศในประเทศต่างๆ อาทิ 1. จีน หมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำชาติ และมังกรเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน 2. อินโดนีเชีย มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ และครุฑเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน 3. กรีซ โลมาเป็นสัตว์ประจำชาติ และนกฟีนิกซ์เป็นสัตว์ประจำชาติประเกทตำนาน

ทั้งนี้ สัตว์ในตำนานเหล่านั้น มักจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเป็นตราแผ่นดิน โล่และอาร์ม หรือปรากฏในธงต่างๆ และมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นส่วนใหญ่

ความเรื่องนาคหรือพญานาคริมฝั่งโขง จ.หนองคาย
อย่างไรก็ดีหลังข่าวครม. กำหนดให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน ก็ได้เกิดดราม่าขึ้นบนโลกโซเชียล โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยพร้อมให้เหตุผลว่าคนไทยเราคุ้นเคยและผูกพันกับความเชื่อเรื่องนาคหรือพญานาคมาช้านาน ตามที่ปรากฏในวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

ส่วนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ต่างหยิบยกความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ส่งเสริมให้คนงมงายมาโต้แย้ง หรือบ้างก็บอกว่าเรามีช้างเป็นสัตว์ประจำชาติอยู่แล้ว แต่ก็โดนแย้งว่ากรณีนาคนั้นอยู่ในประเภทสัตว์ในตำนาน ส่วนช้างเป็นสัตว์ประจำชาติอยู่แล้ว พร้อมแนะนำให้อ่านหนังสือเกิน 8 บรรทัด

ขณะที่บางคนที่ออกมาโต้แย้งข้าง ๆ คู ๆ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ก็ได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ “คนทะเลาะกับนาค” สะท้อนคุณภาพประชากรของประเทศ

ความเรื่องนาคหรือพญานาคที่วัดป่าภูก้อน จ.อุดรธานี

ความเรื่องนาคหรือพญานาคที่กว๊านพะเยา










กำลังโหลดความคิดเห็น