การท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันหลังเกิดวิกฤตโควิด ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องปรับตัวกันใหม่ และให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะในปี 2022 ที่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization : UNWTO) มีแนวคิดประจำปี คือ “กำหนดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือ Rethinking Tourism” ซึ่งมาจากช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกได้ตระหนักแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมก่อนการเกิดโควิด จึงต้องสร้างแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในขณะที่โลกฟื้นตัวอีกครั้ง
เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงเตรียมพร้อมจะรับมือกับสิ่งใหม่ๆเพื่อสร้างการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ
ผู้มีส่วนสำคัญของการท่องเที่ยวเกาะลันตา ได้แก่ นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา กับนายวิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษในประเด็นการท่องเที่ยวของเกาะลันตายุคปัจจุบันไว้ได้น่าสนใจ
นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา กล่าวถึงเกาะแห่งนี้ว่า เกาะลันตามีชื่อเสียงในความเป็นกรีน ไอร์แลนด์ การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน จากเดิมที่มีเมืองเก่าเติบโตมาจากการประมง ชาวจีนล่องเรือสำเภามา ยุคของการทำถ่านไม้โกงกาง ก่อนจะกลายมาเป็นการท่องเที่ยวแบบสากลในปัจจุบัน
“ก่อนเกิดโควิด ชาวต่างชาติเปรียบเกาะลันตาดั่งสวรรค์บนดิน เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีนักท่องเที่ยวสถิติปี 2562 เกือบสามแสนราย จนกระทั่งเมื่อเกิดโควิด เกาะลันตาก็หยุดนิ่งไปด้วย รายได้จากนักท่องเที่ยวหายไปหมด แต่เกาะลันตายังไม่ตายไปเสียเลยทีเดียว เพราะประชากรบนเกาะประมาณ 3 หมื่น ยังมีคนพื้นถิ่นที่ประกอบอาชีพเกษตร และการประมง ได้ตามปกติ”
“หลังโควิด ผมเห็นทิศทางว่านักท่องเที่ยวบางส่วนเริ่มกลับเข้ามา โดยมีกลุ่มที่น่าสนใจ คือ ชาวไทยรู้จักเกาะลันตามากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถดึงดูดคนไทย และนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียนเข้ามาได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สอดคล้องในอนาคตอีกราว 5 ปีข้างหน้า จะมีสะพานเชื่อมมาจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้การเดินทางมาเกาะสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม เราจึงคิดร่วมกันวางแผนสำหรับรับมือจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ”
นายนพรัตน์ อธิบายว่า แม้ว่าเมืองเติบโตขึ้น แต่ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของเกาะลันตา คือ มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม โดยมีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมถึง 4 ฉบับที่ช่วยควบคุมผังเมือง และปกป้องธรรมชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตป่าสงวนของชาติ และกฎหมายที่ดินที่เป็นเกาะ นอกจากนี้ ยังมี “ปฏิญญาอ่าวลันตา” เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม
ทางด้านนายวิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวเสริมว่า เกาะลันตาเป็นตลาดนักท่องเที่ยวจากยุโรป ที่เปรียบเป็นบ้านหลังที่สองของชาวสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก
เกาะลันตาขนาดไม่ใหญ่มากนัก จึงใช้การจัดการสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยาก เช่น การจัดการขยะไปรียูส ไปแปลงเป็นเงิน มีกิจกรรมเอกชนร่วมกับท้องถิ่น โดยทุกชายหาดบนเกาะ มีผู้ประกอบการที่ส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ให้มาทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เก็บขยะริมฝั่ง เก็บขยะใต้ทะเล นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มาช่วยวางรากฐานการจัดการให้กับชาวบ้าน และผู้ประกอบการ ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางธรรมชาติ หากอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ก็มีการปิดเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟู 3-4 เดือน ในช่วงมรสุม
“หลังวิกฤตโควิดที่ผ่านมา พฤติกรรมการท่องเที่ยวโลกก็เปลี่ยน ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัว ต้องหาตัวตน และให้สอดคล้องกับโลก ซึ่งการท่องเที่ยวรูปแบบกรีน คาร์บอน ไม่ทำลายธรรมชาติ การลดมลพิษ ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น” นายวิชิต กล่าว
นายนพรัตน์ เสริมว่า ความยั่งยืน ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เมื่อมีคนมามากขึ้น พร้อมกับการเติบโตของเมือง เมื่อพูดเรื่องความยั่งยืนที่เกาะลันตามีการผลักดันอย่างน้อย 2 มิติ ได้แก่ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนก็ใส่ใจมาโดยตลอด ส่วนอีกเรื่อง คือ เกาะลันตาเป็นอำเภอเก่าที่สุดของกระบี่ มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ดั้งเดิม เราจึงอยากนำความภูมิปัญญาชาวบ้าน หมู่บ้านชุมชนให้มีส่วนช่วยส่งเสริมกัน
“เราเลือกหมู่บ้านที่เข้มแข็งมาส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เช่น ทุ่งหยีเพ็ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อสร้างนักท่องเที่ยวจากสากลมาสู่ท้องถิ่น ไปเชื่อมกับสิ่งที่จังหวัดและภาครัฐทำ อย่างในกิจกรรมปล่อยสัตว์ทะเล พันธุ์ปู หรือเต่า ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เพราะเราใช้ปูม้าจากวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านก็ได้รับประโยชน์ ทำให้เกิดความยั่งยืนอีกมิติที่เราผลักดันควบคู่กัน"
นายอำเภอเกาะลันตายังกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับ “Rethinking Tourism” ของเกาะลันตา “เราทำควบคู่ไปกับแนวคิดกระบี่โกกรีน ลันตาโกกรีน ทำยังไงให้การท่องเที่ยวมีความกรีนจริงๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การใช้วัตถุดิบอาหารจากชุมชน ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นกับผู้ประกอบการเชื่อมโยงกัน หรืออย่างโครงการปล่อยเต่าที่เราทำกันเป็นประจำ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเต่าจะกลับมาวางไข่ที่เดิม สภาพแวดล้อมหน้าหาดจึงต้องสมบูรณ์ สะอาด แสงต้องไม่มากรบกวนเต่า เป็นต้น”
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline